วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (2) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (2)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"กุศล" แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อ หรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ



ส่วน "อกุศล" ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น



ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลัก มี 4 อย่าง คือ



1.อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ไม่โทรม ไม่อ่อนแอ เป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น 2.อนวัชชะ ไม่มีโทษ หรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น



3.โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือมีคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งเกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง สอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคายหรือรู้จักทำใจอย่างฉลาด เป็นปทัฏฐาน



4.สุขวิบาก มีสุขเป็นวิบาก คือ เป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุขสบายคล่องใจในทันทีนั้นเอง ไม่ต้องรอว่าจะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ เหมือนกับว่า เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค) ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหาย ปราศจากมลทินหรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน (อนวัชชะ) และรู้ตัวว่าอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม (โกศลสัมภูต) ถึงจะไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบาย ได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว



นอกจากความหมายทั้ง 4 นี้แล้ว คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึงความหมายอื่นอีก 3 อย่าง คือ เฉกะ แปลว่า ฉลาด และ เขมะ แปลว่า เกษม คือปลอดโปร่ง มั่นคง ปลอดภัย และ นิททรถะ แปลว่า ไม่มีความกระวนกระวาย แต่พอจะเห็นได้ว่า ความหมาย 3 อย่างนี้ รวมลงได้ในความหมาย 4 อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างบน และในบรรดาความหมาย 4 อย่างนั้น ความหมายที่ 3 คือ โกศลสัมภูต เป็นความหมายแกน ความหมายของอกุศล ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้ คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นวิบาก พูดสั้นๆ อีกนัยหนึ่งว่า เป็นสภาพที่ทำให้จิตเสียคุณภาพและเสื่อมสมรรถภาพ ตรงข้ามกับกุศล ที่ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต



เพื่อให้เห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น อาจบรรยายลักษณะของจิตที่ดีงาม ไร้โรค ไม่มีโทษ เป็นต้น ให้ดูก่อน แล้วพิจารณาว่า กุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตมีลักษณะเช่นนั้น หรือกุศลธรรมทำให้เกิดสภาพจิตเช่นนั้นอย่างไร อกุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตขาดคุณลักษณะเช่นนั้น หรือทำให้จิตเสื่อมเสียสภาพเช่นนั้นอย่างไร



ลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้ นำมาจากบาลีในที่ต่างๆ หลายแห่ง เป็นลักษณะของจิตที่ดีงาม ตั้งแต่ระดับสามัญ จนถึงขั้นสูงสุด คือจิตของพระอรหันต์ ขอให้ถือว่าเป็นการวางภาวะที่สมบูรณ์ไว้เป็นมาตรฐาน



ชุดหนึ่งว่า ปัสสัทธะ-ผ่อนคลาย หรือเรียบสงบ หรือเย็นสบาย ลหุ-เบา มุทุ-นุ่มนวล หรืออ่อนโยน หรือละมุน กัมมัญญะ-ควรแก่งาน หรือพร้อมที่จะใช้งาน ปคุณ-คล่องแคล่ว อุชุ-ซื่อตรง ไม่คดโค้งโกงงอบิดเบือนเชือนแช



ชุดหนึ่งว่า มุทุ-นุ่มนวล ละมุน กัมมนียะ-ควรแก่งาน เหมาะแก่การใช้งาน ปภัสสร-ผ่องใส แจ่มจ้า อปภังคุ-ไม่เปราะเสาะ แข็งแรงทนทาน สมาหิต-ตั้งมั่น อนาวรณ์-ไม่มีสิ่งกีดกั้น ไม่ถูกจำกัด อนิวรณ์-ไม่มีสิ่งขัดขวาง ไม่ติดขัดหรือคับข้อง อนุปักกิลิฏฐ-ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว อนัชฌารุฬห์-ไม่ถูกกดทับ ไม่ถูกกดถูกบีบ อวิฆาต-ไม่คับแค้น ไม่คับเครียดอึดอัด



อีกชุดหนึ่งว่า สมาหิตะ-ตั้งมั่น ทรงตัวเรียบสม่ำเสมอ ปริสุทธะ-สะอาด หมดจด ปริโยทาตะ-ผุดผ่องกระจ่าง สว่างไสว อนังคณะ-ไร้ไฝฝ้า โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา วิคตูปกิเลสะ-ปราศสิ่งมัวหมอง มุทุภูตะ-นุ่มนวล ละมุนละไม กัมมนียะ-ควรแก่งาน ฐิตะและอาเนญชัปปัตตะ-ทรงตัวอยู่ ตั้งอยู่ได้ เข้าที่ อยู่ตัว ไม่หวั่นไหว แน่วแน่ ไม่วอกแวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น