วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (5) khaosod

เกณฑ์ตัดสิน ความดี-ความชั่ว (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


"บุญ" มีความหมายตามรูปศัพท์ที่ท่านนิยมแสดงกันไว้ 2 อย่าง คือ เครื่องชำระสันดาน คือชำระพื้นจิตใจให้สะอาด และว่า สิ่งที่ทำให้เกิดผลคือภพที่น่าชื่นชม นอกจากนี้ บางแห่งยังแสดงความหมายอื่นไว้อีกว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา และว่า สิ่งที่ยังอัธยาศัย (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์



ส่วน "บาป" มักแปลตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ทำให้ถึงวัฏฏทุกข์ หรือสิ่งที่ทำให้ถึงทุคติ (=สิ่งที่ทำให้ตกไปในที่ชั่ว) คำแปลสามัญของบาป คือ ลามก (ต่ำทราม หรือเลว) บางครั้งใช้เป็นคำวิเศษณ์ของวิบาก แปลว่า ทุกข์ หรือ อนิฏฐ์ (ไม่น่าปรารถนา) ก็ได้



ที่กล่าวมานั้น เป็นความหมายที่นัก ศัพทศาสตร์คือนักภาษาแสดงไว้ ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น จึงควรทราบความหมายในแง่ของหลักธรรมแท้ๆ ด้วย



เมื่อว่าโดยความหมายอย่างกว้างที่สุด บุญมีความหมายเท่ากับกุศล บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล แต่ในการใช้จริง บุญและบาป มักปรากฏในความหมายที่จำกัดแคบและจำเพาะแง่มากกว่ากุศลและอกุศล



กล่าวได้ว่า บาป ใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล มากกว่าที่บุญใช้ในความหมายเท่ากับกุศล แต่ที่ปรากฏบ่อยก็คือ กุศลใช้ในความหมายเท่ากับบุญ ความที่ว่านี้เป็นอย่างไร พึงพิจารณาต่อไป



บาปที่ท่านใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล แห่งสำคัญคือ ในสัมมัปปธาน 4 ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งบาปมากับอกุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด และเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว แต่ในข้อ 3 และข้อ 4 บุญไม่ได้มากับกุศลธรรมด้วย กล่าวถึงแต่กุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหายหากให้เพิ่มขึ้นไปจนไพบูลย์



พูดอย่างสรุปความสั้นๆ ว่า บุญมีความหมายไม่เท่ากับกุศล ถ้าแบ่งกุศลเป็น 2 ระดับ คือ โลกิยกุศล และ โลกุตรกุศล โดยทั่วไปบุญใช้กับโลกิยกุศล หรือมิฉะนั้น ถ้าจะหมายถึงระดับโลกุตระ ก็ใส่คำขยายกำกับไว้ด้วย เช่นว่า "โลกุตรบุญ" ซึ่งมิได้เป็นคำที่นิยมใช้แต่ประการใด (พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง และในฎีกาที่อธิบายต่อจากอรรถกถานั้น เท่านั้น)



มีบาลีหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง โอปธิกบุญ คือบุญที่อำนวยผลแก่เบญจขันธ์ ซึ่งได้แก่บุญที่เป็นโลกิยะ ส่อความว่าน่าจะมีอโนปธิกบุญ หรือนิรูปธิบุญ ที่เป็นโลกุตระ เป็นคู่กัน แต่ก็มิได้ปรากฏมีชื่อ อโนปธิก- บุญ หรือนิรูปธิบุญ ในที่ใดเลย



ตรงกันข้าม แทนที่จะมีอโนปธิกบุญหรือนิรูปธิบุญ มาเข้าคู่เข้าชุดกับโอปธิกบุญ กลับกลายเป็นว่า ในพระบาลีแห่งหนึ่งของพระสูตรเดียวกัน มี นิรูปธิกุศล (กุศลที่เป็นโลกุตระ) มากับ โอปธิกบุญ (บุญที่เป็นโลกิยะ) ขอยกมาให้ดู ดังนี้



"ท่านจงทำให้มาก ทั้งด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ซึ่งนิรูปธิกุศล อันประมาณมิได้ แต่นั้น ครั้นทำโอปธิกบุญให้มากด้วยทานแล้ว ท่านจง [บำเพ็ญธรรมทาน] ชักจูงแม้คนอื่นๆ ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ในพรหมจริยะ"



เป็นอันว่า เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเห็นว่า คำว่า "บุญ" นั้น ท่านใช้ในความหมายของโอปธิกบุญนั่นเอง คือ ถึงจะไม่ได้เขียนคำว่า "โอปธิกะ" กำกับไว้ แต่ก็มีความหมายเท่ากับเขียนโอปธิกะอยู่ด้วย หมายความว่าตรงกับโลกิยกุศลนั่นเอง ข้อนี้เท่ากับพูดว่า คำว่าบุญที่ใช้ทั่วไป มีความหมายอยู่เพียงขั้นโลกิยะ เท่ากับโลกิย-กุศล หรือกุศลขั้นโลกีย์ บุญจึงเท่ากับเป็นความหมายส่วนหนึ่งของกุศล ไม่ครอบคลุมเท่ากับกุศล ซึ่งมีโลกุตร-กุศลด้วย และอรรถกถาน้อยแห่งเหลือเกินจะไขความบุญว่าเท่ากับกุศลทั้งหมด



พระอรรถกถาจารย์ท่านสังเกตการใช้คำว่าบุญ แล้วแสดงความหมายไว้ให้เห็นแง่ด้านที่ละเอียดลงไปอีก ดังในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ แสดงความหมายของคำว่า "บุญ" ไว้ 5 อย่าง คือ



1.หมายถึงผลบุญ คือผลของกุศล หรือผลของความดี เช่นในข้อความว่า เพราะการสมาทานกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ บุญย่อมเจริญเพิ่มพูน



2.หมายถึงความประพฤติสุจริตในระดับกามาวจรและรูปาวจร เช่นในคำว่า คนตกอยู่ในอวิชชา หากปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ (= ปุญญาภิสังขาร)



3.หมายถึงภพที่เกิดซึ่งเป็นสุคติพิเศษ เช่นในคำว่า วิญญาณที่เข้าถึงบุญ



4.หมายถึงกุศลเจตนา เช่นในคำว่า บุญกิริยาวัตถุ (คือเท่ากับกุศลกรรม)



5.หมายถึงกุศลกรรมในภูมิสาม เช่นในคำว่า "ภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย" ข้อนี้ตรงกับคำว่าโลกิยกุศลนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น