วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พอสมควร khaosod


พอสมควร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ความรู้จักพอเป็นเหตุให้คนเรามีความคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เสียสละได้ เป็นเหตุให้คิดถึงตัวเองเพียงเพื่อเป็นอยู่แบบพอดีๆ แต่คิดถึงผู้อื่นมากกว่า

ความรู้จักพอ จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจของแต่ละคนก่อนเป็นประการสำคัญ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือพอสมควรไว้ ตามพุทธภาษิตว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

คนที่พิจารณาอย่างผิวเผิน มักเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน ไม่ขยันทำมาหากิน มีเท่าไรกินเท่านั้น ทำให้คนงอมืองอเท้า ไม่คิดก้าวหน้า

แท้จริงแล้ว สันโดษมีความหมายที่กว้างมาก ท่านแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ สิ่งที่ตนมี คือ มีแค่ไหนก็ยินดีเท่านั้น มีอย่างไรก็กินใช้อย่างนั้น แต่ไม่ได้ให้หยุดขวนขวาย ไม่ต้องคิดก้าวหน้าหรือหามาเพิ่มเติม แต่สันโดษข้อนี้เพียงฝึกหัดใจให้เกิดความพอใจในฐานะที่ตนกำลังมี กำลังเป็นเท่านั้น

เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งความพอใจของตัวเองได้ เมื่อได้รับอะไร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือยศตำแหน่ง ก็จะแสดงความไม่พอใจว่าตนได้สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควรหรือต้องได้มากกว่านี้ เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ชอบใจก็เกิดขึ้นตามมา การฝึกใจให้มีความพอ มีความยินดีตามมีตามได้ จึงเป็นเหตุป้องกันใจจากความผิดหวังได้



2.ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ รวมไปถึงการใช้กำลังให้พอดีด้วย รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน

ข้อนี้เป็นการกระตุ้นให้บุคคลรู้จักใช้ความสามารถเต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน เป็นสันโดษที่ต่อเนื่องจากข้อแรกคือ เมื่อพอใจยินดีในส่วนที่ตนได้ ตนมีแล้ว หากยังมีกำลังขวนขวาย และสามารถหามาเพิ่มตามความจำเป็นโดยชอบธรรมก็ย่อมได้ เมื่อได้เพิ่มแล้วก็ยินดีพอใจเท่านั้น รวมถึงรู้จักปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานของตนให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพ

สันโดษข้อนี้ เป็นการฝึกใจ ให้รู้จักประมาณกำลังตัวเอง ฝึกหัดไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ใช้กำลังในทางที่ถูกที่ควรให้พอดีพอเหมาะ



3.ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร คือ ใช้กำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุต่างๆ ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสม ไม่ผิดธรรม ไม่เกิดโทษ วิธีการหาก็เป็นวิธีที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่หาโดยวิธีทุจริต ข้อนี้เรียกว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร เมื่อใช้เรี่ยวแรงได้สิ่งที่สมควรมาแล้วก็ยินดี พอใจในสิ่งนั้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความต้องการที่ไม่สิ้นสุดให้แคบลง

สันโดษข้อนี้เป็นการฝึกให้รู้จักคำว่า อิ่มตัว ป้องกันไม่ให้ทุกข์เพราะดิ้นรนแสวงหา และทุกข์เพราะผิดหวังที่ติดตามมาพร้อมกับการดิ้นรนแสวงหานั้น

ความสันโดษ จึงเป็นหลักธรรมที่พัฒนาคนให้มีความขยัน เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในเรื่องความอยากได้ ควบคุมความอยากให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ประกอบการงานโดยขาดความพอเหมาะพอควร

ผู้หวังความสุขในชีวิต ควรใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่พัฒนาบุคคลให้รู้จัก คำว่า พอ โดยพอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับความสุขที่มั่นคงเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น