วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

การให้ khaosod


การให้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นรอบข้างไม่มากก็น้อย เริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ญาติสนิทมิตรสหายตลอดถึงคนที่ห่างไกล ถึงแม้ไม่ใช่ญาติมิตรก็มีกิจที่จะพึงทำเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะในสังคมที่อยู่รวมกันนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกันและกัน

การแสดงออกซึ่งน้ำจิตน้ำใจอันดีงาม โดยมีวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งประกอบ ท่านเรียกว่า ทาน หมายถึง การให้ หรือเจตนาเป็นเครื่องให้ ให้ปันสิ่งของอันได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ

การให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะ

1.เป็นเหตุแห่งความสุข

2.เป็นรากเหง้าแห่งสมบัติทุกอย่าง

3.เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหมด

4.เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ

5.เป็นที่พึ่งพิงอาศัยของเหล่าสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การให้ปันสิ่งของ นับเป็นกิจเบื้องต้นที่ควรทำ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญทานคือการให้เป็นทีแรก

สำหรับการให้นั้น ไม่ควรให้ของเลว หรือของที่ไม่ดี ควรเลือกของที่ตนชอบใจให้ ให้ของที่ดีประณีต ดีกว่าที่ตนมีตนใช้

ผลหรืออานิสงส์ที่เกิดจากการให้สิ่งของที่ดี ย่อมเป็นไปตามเหตุคือของที่ให้ เมื่อให้ของที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมจะได้รับของที่ถูกใจตอบแทน เมื่อให้ของชั้นยอด ได้แก่ ของที่ยังไม่ได้ใช้สอยหรือบริโภคมาก่อน เช่น ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ เป็นต้น ก็ย่อมได้รับของเช่นนั้นตอบแทน

สมดังพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับผลที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้รับผลที่เลิศตอบ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับผลที่ดี และผู้ให้ของที่ดีที่สุด ย่อมเข้าถึงฐานะที่ดีที่สุด"

ประเภทของการให้ เมื่อจำแนกออกก็มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.อามิสทาน การให้สิ่งของที่ทำให้เกิดความสุขแก่ผู้รับ เช่น ให้สิ่งของบริโภคใช้สอย

2.ธรรมทาน การให้วิชาความรู้อันไม่มีโทษ ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ เช่น ให้ศิลปวิทยา

ให้คุณธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตใจให้บริสุทธิ์และความประพฤติให้เรียบร้อยดีงาม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ของการให้ไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

1.ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของหมู่ชน

2.สัตบุรุษคนดีย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น

3.ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมขจรกระจายไป

4.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในที่ชุมชน

5.ผู้ให้ย่อมเป็นผู้มีสติ ไม่หลง เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเป็นผู้ไปสู่ สุคติภูมิ

คนผู้ให้ทาน ย่อมได้ชื่อว่าสั่งสมความดีแก่ตน แม้ว่าทรัพย์สมบัติจะหมดไปบ้าง ก็หมดไปในทางที่ชอบที่ควร บุญกุศลคุณงามความดีต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณทุกๆ ครั้งที่ได้ให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น