บุญคือความสุข
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com
บุญ หมายถึง ความดี เป็นชื่อของความสุข ผู้ที่ปรารถนาจำต้องรู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะได้ทำให้สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย ผู้ที่ทำตามๆ กันมาไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะทำให้ถูกต้องไม่ได้ แม้จะทำด้วยความงมงาย ก็ไม่นำให้สำเร็จประโยชน์
เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะทำบุญจึงต้องรู้ว่า บุญมีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าทำแล้วไม่อาจชำระจิตให้ผ่องใส หรือไม่นำให้เกิดความฉลาดว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ก็ไม่จัดว่า เป็นบุญ แต่เมื่อสามารถจะชำระจิตให้บริสุทธิ์และนำให้เกิดความฉลาด รู้จักผิดชอบ จึงจัดว่า เป็นบุญ
สิ่งที่จะชำระจิตของคนให้บริสุทธิ์ อันเสมอด้วยความดีย่อมไม่มี สิ่งอื่นชำระได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ความดีเป็นสิ่งชำระใจ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้ว อาการภายนอก คือ กิริยาวาจา ก็บริสุทธิ์ตามไปด้วย
เมื่อได้พิจารณาแล้วรู้ว่า บุญ เป็นสิ่งที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ พึงสร้างความดีตามความรู้ ความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้ จึงจะชื่อว่าได้บุญอย่างแท้จริง
การทำบุญในทางพระพุทธศาสนาอย่างย่อ มีอยู่ 3 อย่าง คือ
ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้
ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้
ภาวนา ได้แก่ การทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญา พัฒนาจิตให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง เมื่อได้ทำให้เต็มที่แล้ว สามารถกำจัดความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุขใจได้
การฟังธรรม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในส่วนแห่งทานและศีล อันเป็นบุญขั้นพื้นฐานและขั้นกลาง ที่ได้ทำมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญในส่วนแห่งภาวนา อันเป็นบุญขั้นสูง ทำให้มีผลไพบูลย์ยิ่งขึ้น เพราะการฟังธรรมนั้น เป็นการพัฒนาปัญญา เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ คือ
- ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง
- ได้ความรู้แปลกใหม่
- บรรเทาความสงสัย
- มีจิตใจมั่นคง
- ไม่หลงผิดในการดำเนินชีวิต
ดังนั้น การฟังธรรม จึงเป็นการทำบุญในส่วนของภาวนา มีอุปการะแก่ผู้ที่มุ่งทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของตน ครอบครัว ตลอดถึงสังคม ไม่ให้หลงทาง แต่ให้ดำเนินไปถูกทางอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและทรงไว้ซึ่งคุณธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น