วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเพียร khaosod


ความเพียรดีกว่า

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


ความเพียร เป็นคุณธรรมพยุงจิต ไม่ให้คิดย่อท้อในการประกอบการงาน มีหน้าที่เป็นกลาง ไม่ดีและไม่ชั่ว แต่เมื่อเข้าไปสนับสนุนในกิจการใดๆ ย่อมทำกิจการนั้นๆ ให้แรงขึ้น ทั้งทางถูกและทางผิด



เหตุนั้น พึงพิจารณาใช้ความเพียรแต่ในทางที่ชอบ เพราะเหตุว่าความเพียรนี้ ถ้าคนไม่ดีนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ชอบไม่ควรแล้ว ก็จะก่อให้เกิดโทษภัยอย่างใหญ่หลวง เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่นเป็นอันมาก



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความเพียรไว้ 4 ประการ คือ



1. เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจ คือระวังป้องกันความชั่ว ไม่ให้เกิดขึ้นแก่ใจเป็นอันดับแรก เพราะถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ภัยอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง และความชั่วนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่ามีประมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไม่ให้ผล ความชั่วเพียงเล็กน้อยนั่นแหละ จะพอกพูนมากขึ้นทุกที แล้วจะทำความพินาศให้แก่ตนและคนอื่นอย่างมากมาย



2. เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เมื่อรู้ตัวว่าได้กระทำความชั่วขึ้นแล้ว ด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความเข้าใจผิด เช่นนี้แล้วก็ต้องเพียรละความชั่วนั้นเสีย ตั้งใจว่าจะไม่กระทำความชั่วนั้นอีกอย่างเด็ดขาด



3. เพียรให้ความดีเกิดขึ้นในใจ คือ เมื่อระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นและเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นด้วยความพลั้งเผลอได้แล้ว ก็ต้องรีบทำความดีแทนที่ความชั่วด้วย เพราะถ้าไม่รีบทำความดีแทนที่ความชั่วแล้ว ก็จะเกิดช่องว่าง เปิดโอกาสให้ทำความชั่วได้อีก



4. เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป คือ เมื่อได้สร้างสมคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในใจแล้ว ก็ต้องเพียรรักษาคุณงามความดีนั้นไว้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไป ให้มีอยู่ตลอดไป เพราะว่าความดีกับความชั่วคอยฉวยโอกาสที่จะเข้าครอบครองจิตกันอยู่เสมอ ฝ่ายใดเผลอ เป็นถูกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคอยฉวยโอกาสอยู่แล้ว เข้าครอบครองจิตทันที เหตุนั้น ความดี ที่ได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องพยายามรักษาไว้ มีมากเท่าใดก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดความสุขใจเท่านั้น



คนเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มักอ้างเหตุต่างๆ แล้วไม่ทำงาน ปล่อยให้งานคั่งค้างจนทำไม่ไหว ทำไม่สำเร็จ เมื่อทำงานอะไรๆ ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีคุณงามความดีอะไร ที่จะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นได้เลย



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ไม่ประเสริฐเลย เพราะคนที่เกียจคร้าน ไร้คุณงามความดีอันจะเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่น



ส่วนคนที่ไม่ยอมอ้างเหตุแห่งความเกียจคร้าน ปรารภความเพียรอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่าเราต้องทำงาน และต้องทำงานนั้นให้ดีถึงที่สุด ทำให้สำเร็จ ไม่ยอมอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ มีแต่ความเพียร จึงก้าวล่วงความทุกข์ยากนานาประการได้



เพราะเหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียรอย่างมั่นคง แม้จะเป็นอยู่ได้เพียงวันเดียว ก็ยังประเสริฐกว่า เพราะว่า ชีวิตของคนที่ปรารภความเพียร มีคุณงามความดีเป็นที่พึ่งของตนและคนอื่นมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น