วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

เหตุที่ทำให้เกิดความสุข khaosod


เหตุที่ทำให้เกิดความสุข

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนเราแม้จะมีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่ส่วนใหญ่มีความปรารถนาอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต้องการความสุข ซึ่งเป็นความจริงที่ใครก็คงไม่ปฏิเสธ ความสุขเป็นยอดปรารถนาของคนทุกคน ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แม้เพียงชื่อก็ไม่ต้องการได้ยิน เป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย แต่เราก็ไม่สามารถจะหนีจากความทุกข์ไปได้

แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาก็มุ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขเป็นสำคัญ ดังพระพุทธดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

ดังนั้นการที่ทุกคนจำเป็นต้องทำทุกอย่างในชีวิต ทั้งการเรียน การงาน การทำบุญ เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ได้รับความสุข ป้องกันทุกข์ทั้งนั้น

กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความสุขแล้ว ตามความรู้สึกของคนทั่วไปย่อมมีมากมาย แตกต่างกันไปตามอัธยาศัยของแต่ละคน แต่สรุปแล้ว เกิดจากเหตุที่สำคัญ 3 ประการ คือ ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี

ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะคิดว่าเมื่อมีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นเหตุให้พยายามทุกทางที่จะหาทรัพย์สมบัติ มาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต พยายามหาเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตนเอง และพยายามสร้างไมตรีเพื่อจะได้เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลาย โดยใช้วิธีการที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตามอุปนิสัยของแต่ละคน คนดีก็แสวงหาในทางที่ชอบ คนไม่ดีก็แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่น

ในสิ่งที่ปรารถนาทั้ง 3 อย่างนั้น แต่ละอย่างก็มีเหตุเกิดเฉพาะแตกต่างกันไป ในเรื่องนี้มีเรื่องอาฬวกยักษ์ เป็นอุทาหรณ์

อาฬวกยักษ์ ที่ปรากฏในบทถวายพรพระคือ ข้อความที่แสดงถึงชัยชนะที่สำคัญ 8 ครั้งของพระพุทธเจ้า ในคาถาที่ 2 พูดถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงได้รับชัยชนะต่ออาฬวกยักษ์ ทรงใช้พุทธานุภาพปราบยักษ์ตนนี้ให้หมดพยศ แล้วทรงตอบปัญหาที่ยักษ์ทูลถาม เมื่อได้รับฟังพระพุทธดำรัสตรัสตอบแล้ว ก็ทำให้ยักษ์เกิดศรัทธา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เปลี่ยนจากยักษ์ที่ดุร้าย กลายเป็นยักษ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา รักษาศีลอย่างมั่นคง

ปัญหาที่อาฬวกยักษ์ทูลถาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์ เกียรติ และไมตรีนี่เอง คือถามว่า จะหาทรัพย์ได้อย่างไร จะได้รับการยกย่องให้มีเกียรติอย่างไร จะผูกไมตรีไว้ได้อย่างไร นั่นแสดงว่า ทรัพย์สมบัติ เกียรติ ไมตรีจิต เป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้กระทำการงานที่เหมาะสม เอาธุระ ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้ ผู้มีสัจจะ ย่อมได้รับยกย่องให้มีเกียรติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

สรุปได้ว่า สิ่งที่เราปรารถนาทั้ง 3 ประการคือ ทรัพย์ เกียรติ ไมตรี มีเหตุเกิดที่แตกต่างกัน ทรัพย์สมบัติ เกิดจากการทำงานที่เหมาะสม ไม่ทอดธุระ ขยันหมั่นเพียร เกียรติชื่อเสียง การยกย่องนับถือ ก็เกิดจากการมีสัจจะ ไมตรี หรือความเป็นมิตร จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงก็เกิดจากความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบแบ่งปัน ไม่ตระหนี่ นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น