วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระงับเวร khaosod


ระงับเวร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการแสวงหาความสุขด้วยการเบียดเบียนว่า ไม่มีใครได้รับความสุขที่แท้จริง เพราะการที่คนเราจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะยื่นอาวุธ หรือดอกไม้ให้แก่ใครๆ สิ่งนั้นย่อมมีผลสะท้อนกลับมาหาตนเอง ท่านว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เช่น ฆ่าคนตาย อาจจะภูมิใจสักครู่หนึ่ง แต่ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความทุกข์ร้อน การลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้มาก็เป็นสุข เพราะการมีทรัพย์และการจ่ายทรัพย์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลบาปทำให้เกิดความทุกข์ ที่สุดก็จะถึงความเสื่อมทั้งตัวเองและทรัพย์นั้นๆ เหมือนคลื่นในมหาสมุทร ย่อมซัดกลับเข้าหาฝั่ง



การสร้างทุกข์ให้แก่คนอื่นด้วยการตั้งใจเบียด เบียน ชื่อว่า ก่อเวร ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ลักทรัพย์ เป็นต้น ผูกพยาบาทเมื่อถูกเขาทำร้าย อย่างนี้คือจองเวรผลัดกันแก้แค้น โต้ตอบกันไปมา



เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การไม่จองเวรจะประสบผลคือ ความสงบสุข คนผู้จองเวรผูกอาฆาตพยาบาท ถูกโมหะครอบงำ ไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชอบธรรม คิดขวนขวายแต่ให้ได้แก้แค้นเท่านั้น จะดีจะชั่ว ไม่รับฟังทั้งนั้น



พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกรธเป็นคนเลว แต่คนโกรธตอบเป็นคนเลวกว่า หมายความว่า คนทำร้ายเขาก่อนนั้นเป็นคนร้าย แต่คนที่ร้ายตอบกลับเขานั้นเป็นคนร้ายยิ่งกว่า ส่วนคนที่ถูกประทุษร้ายแล้วไม่ประทุษร้ายตอบ พระองค์ตรัสว่า เป็นผู้ชนะที่ควรแก่การสรรเสริญ เพราะได้ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น



ความคิดแก้แค้นกัน นอกจากจะไม่เป็นที่สรรเสริญของคนดีทั่วไปแล้ว ชาวโลกยังตราหน้าว่าป่าเถื่อน ความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ทำร้ายมาก็ต้องทำร้ายไป เมื่อมีคนนั้น ก็ต้องไม่มีคนโน้น เมื่อมีคนโน้น ก็ต้องไม่มีคนนี้ การอโหสิกรรมเป็นความอ่อนแอ ดังนี้ เหตุแห่งการล้างแค้นถึงชาติหน้าก็เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด



ความไม่จองเวรนั้น ย่อมทำสำเร็จได้ด้วยวิธีต่างๆ คือ แผ่เมตตา อดทน ใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ และมีความเสียสละ



การแผ่เมตตา หากเราแผ่เมตตากะทันหันเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเป็นการทำได้ยาก ท่านจึงให้ฝึกหัดแผ่เมตตาเป็นประจำไว้ก่อนจนเป็นนิสัย เมื่อถูกประทุษร้ายก็ไม่โกรธ



ความอดทน อดทนต่อการทำร้ายของคนอื่น ย่อมตัดเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ รู้จักอดทนต่อคำกล่าวร้ายล่วงเกิน เหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่พุ่งมาจากแล่งในสงคราม ไม่สะดุ้งสะเทือน ฉะนั้น



การใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการจองเวร โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เราถูกทำเพราะเคยทำเขามาก่อนแล้ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา ถ้าเราแก้แค้นเขา เราจะต้องประสบทุกข์ยิ่งขึ้นอีก



ความเสียสละ เมื่อถูกเขาประทุษร้ายและเกิดความเสียหาย ก็ยอมเสียสละทิฏฐิมานะที่จะเอาชนะเสียได้



ทั้ง 4 ประการนี้ แต่ละอย่างเป็นวิธีที่ระงับเวรได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น