ภูมิธรรมชาวพุทธ (10)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
[2.13]
พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ,
หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์,
ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ
จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ -
Brahma vihara: holy abidings; sublime states of mind)
1.เมตตา (ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตใจแผ่ไมตรี และคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
- Metta: loving-kindness; friendliness; goodwill)
2.กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ประสบทุกข์
- Karuna : compassion)
3.มุทิตา
(ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง เบิกบาน ชื่นชม
ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ประสบความสุข ความสำเร็จ
พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
- Mudita: sympathetic joy; altruistic joy)
4.อุเบกขา
(ความมีใจเป็นกลาง ที่จะดำรงอยู่ในธรรมตามที่ได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญา
คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชู ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง
พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว
สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม
รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว
เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน
- Upekkha: equanimity; neutrality; poise)
ผู้
ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา
และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น
แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์
แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า
ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม,
ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม,
หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่
- (abidings of the Great Ones)
พรหมวิหาร
4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (Appamanya: unbounded states of mind;
illimitables) เพราะแผ่ไปสม่ำเสมอแก่มนุษย์สัตว์ทั่วทั้งหมด ไม่มีประมาณ
ไม่จำกัดขอบเขต
พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วย สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น
อนึ่ง
เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ได้ถูกต้อง
พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติ และวิบัติ ของธรรมทั้ง 4 นั้น
ดังนี้
ก.ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
1. เมตตา = (มีน้ำใจ) เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนสัตว์ทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
2.
กรุณา = เกิดความสะเทือนใจเมื่อคนอื่นประสบทุกข์,
จะไถ่ถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป
หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวาย และเข้าถึงความเป็นกลาง
ข.ลักษณะ (เครื่องกำหนด) รส (หน้าที่/กิจ)
ปัจจุปัฏฐาน (ผลปรากฏ) และ ปทัสถาน (เหตุใกล้)
1.เมตตา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
2.กรุณา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพอนาถาของคนสัตว์ที่ถูกทุกข์ครอบงำ
3.มุทิตา (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จ หรือทำอะไรก้าวไป ด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
4.อุเบกขา (ในสถานการณ์รักษาธรรม ตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตน ไม่อาจได้สุขพ้นทุกข์ตามใจชอบของตน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น