วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อิทธิปาฏิหาริย์ จากข่าวสด

อิทธิปาฏิหาริย์-เทวดา (6) อิทธิฤทธิ์ ชนิดอริยะ และชนิดอนารยะ
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
บาลีอีกแห่งหนึ่งชี้แจงเรื่องอิทธิวิธี (การแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ) ว่ามี 2 ประเภท คือ

1.ฤทธิ์ ที่มิใช่อริยะ คือฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ยังมีอุปธิ (มีกิเลสและทำให้เกิดทุกข์ได้) ได้แก่ฤทธิ์อย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไป ดังได้บรรยายมาข้างต้น คือ การที่สมณะหรือพราหมณ์

(นักบวช) ผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญเพียรจนได้เจโตสมาธิ แล้วแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น แปลงตัวเป็นคนหลายคน ไปไหนก็แหวกทะลุฝาทะลุกำแพงไป เหินฟ้า ดำดิน เดินบนน้ำ เป็นต้น

2.ฤทธิ์ที่เป็นอริยะ คือฤทธิ์ที่ไม่ประกอบด้วยอาสวะ ไม่มีอุปธิ (ไม่มีกิเลส ไม่ทำให้เกิดทุกข์) ได้แก่ การที่ภิกษุสามารถทำใจกำหนดหมายได้ตามต้องการ บังคับความรู้สึกของตนได้ จะให้มองเห็นสิ่งที่น่าเกลียดเป็นไม่น่าเกลียดก็ได้ เช่น เห็นคนหน้าตาน่าเกลียดชัง ก็วางจิตเมตตาทำใจให้รักใคร่มีไมตรีได้ เห็นสิ่งไม่น่าเกลียดเป็นน่าเกลียดก็ได้ เช่น เห็นคนรูปร่างน่ารักยั่วยวนให้เกิดราคะ จะมองเป็นอสุภะไปก็ได้ หรือจะวางใจเป็นกลางเฉยเสียปล่อยวางทั้งสิ่งที่น่าเกลียดและไม่น่าเกลียดก็ ได้ เช่น ในกรณีที่จะใช้ความคิดพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความ เป็นจริง เป็นต้น

เรื่องฤทธิ์ 2 ประเภทนี้ ย่อมย้ำความที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้เห็นว่า อิทธิปาฏิหาริย์จำพวกฤทธิ์ที่เข้าใจกันทั่วไป ซึ่งทำอะไรได้ผาดแผลงพิสดารเป็นที่น่าอัศจรรย์นั้น ไม่ได้รับความยกย่องในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา

ฤทธิ์ ที่สูงส่งดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา คือฤทธิ์ที่ไม่มีพิษมีภัยแก่ใคร ได้แก่การบังคับความรู้สึกของตนเองได้ หรือบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจของตนได้ ซึ่งผู้ได้ฤทธิ์อย่างต้นอาจทำไม่ได้ บางครั้งจึงหันไปใช้ฤทธิ์นั้นเป็นเครื่องมือสนองกิเลสของตน ตรงข้ามกับฤทธิ์อย่างที่สอง ที่เป็นเครื่องมือสร้างคุณธรรม กำจัดกิเลส มิให้จิตใจถูกล่อไปในอำนาจของราคะ โทสะหรือโมหะ

การที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่ชาวบ้าน ก็เป็นหลักฐานยืนยันถึงการที่ไม่ทรงสนับสนุนการใช้อิทธิปาฏิหาริย์

เมื่อว่าตามรูปศัพท์

คำว่า ปาฏิหาริย์ แปลว่า การกระทำที่ตีกลับ ขับไล่ หรือกำจัดเสียได้ซึ่งปฏิปักษ์

อิทธิ หรือฤทธิ์ แปลว่า ความสำเร็จ

อาเทศนา แปลว่า ระบุ อ้าง สำแดง ชี้บ่ง จะแปลว่าปรากฏชัด ก็พอได้

อนุสาสนี แปลว่า คำพร่ำสอน

โดย ถือความหมายอย่างนี้ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ได้แปลความหมายปาฏิหาริย์ทั้งสามนั้นออกไปให้เห็น เพิ่มขึ้นอีกแนวหนึ่ง คือกล่าวว่า คุณธรรมต่างๆ เช่น เนกขัมมะ เมตตา ฌาน อนัตตานุปัสสนา ตลอดจนถึงอรหัตตมรรค เรียกว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ได้ทั้งนั้น โดยความหมายว่า สำเร็จผลตามหน้าที่ และกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของมัน เช่น กามฉันท์ พยาบาท ตลอดจนกิเลสทั้งปวงได้ เรียกว่าเป็นอาเทศนาปาฏิหาริย์ได้ โดยความหมายว่า ผู้ที่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ทุกคนย่อมมีจิตบริสุทธิ์ มีความคิดไม่ขุ่นมัว เรียกว่าเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ได้ โดยความหมายของการสั่งสอนว่า ธรรมข้อนั้นๆ ควรปฏิบัติ ควรฝึกอบรม ควรเพิ่มพูน ควรตั้งสติให้เหมาะอย่างไร เป็นต้น คำอธิบายอย่างนี้ แม้จะไม่ใช่ความหมายอย่างที่ใช้ทั่วไป แต่ก็เป็นความรู้ประกอบที่น่าสนใจ

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า อิทธิปาฏิหาริย์เป็นโลกียอภิญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนเสริมคุณสมบัติของผู้ที่ได้โลกุตรอภิญญาเป็นหลักอยู่แล้ว ให้พร้อมบริบูรณ์ยิ่งขึ้นสำหรับการบำเพ็ญกิจเกื้อกูลแก่ชาวโลก จึงมีพุทธพจน์บางแห่งเรียกภิกษุผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ครบทั้ง 3 ประการ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ว่าเป็นผู้สำเร็จสิ้นเชิง จบหรือถึงจุดหมายสิ้นเชิง เป็นต้น และเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

แต่ทั้งนี้ ย้ำว่า ต้องมีอนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นหลัก หรือเป็นข้อยืนตัวแน่นอน และมีปาฏิหาริย์ 2 ข้อต้นเป็นเครื่องเสริม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น