ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
คอลัมน์ ศาลาวัด
พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนในการรับราชการ จะซื่อตรงต่อแผ่นดินและปกป้องชาติบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข
โดยข้าราชการทั้งหลายจะต้องดื่มน้ำสาบานตน จำเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง พราหมณ์จะทำพิธีเสกน้ำสาบานนี้ แล้วนำพระแสง (อาวุธ) ต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ลงชุบในน้ำที่เสกนั้น
เพื่อหมายให้ผู้ที่ไม่ซื่อตรงต่อแผ่นดินจะต้องได้รับโทษต่างๆ นานา
ประเพณีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานั้นมาจากแนวความคิดที่ว่ากษัตริย์เป็นสมมติ เทพ คือ มาจากอินเดียโดยตรง เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศแต่ก่อนล้วนทรงเป็นนักรบ
ดังนั้น จึงได้ยึดถือเอาการกระทำสัตย์ปฏิญาณตนด้วยวิธีดื่มน้ำชำระล้างอาวุธ หรืออีกนัยหนึ่งที่เรียกกันว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสำคัญของบ้านเมืองมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทองเริ่มสร้างกรุง ศรีอยุธยา
ถือว่าการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นพิธีสำคัญ ซึ่งบรรดาข้าราชการผู้มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมแห่งบ้านเมืองจะ ขาดเสียมิได้ ถึงกับตราเป็นตัวบทไว้ในกฎมณเฑียรบาลไว้ว่า ...
1.ผู้ที่ขาดการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีโทษถึงตาย เว้นแต่ป่วยหนัก
2.ห้ามสวมแหวนนากแหวนทองมมาถือน้ำ
3.ห้ามบริโภคอาหารหรือน้ำก่อนดื่มน้ำพิพัฒน์
4.ดื่มน้ำแล้วห้ามยื่นน้ำให้แก่กัน
5.ดื่มแล้วต้องราดน้ำที่เหลือลงบนผมของตน
ข้อปฏิบัติดังกล่าว เป็นการระวางโทษไว้เหมือนหนึ่งว่า เป็นกบฏ คือ โทษใกล้ความตายทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะให้น้ำพิพัฒน์สัตยาที่ทำขึ้นนั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และดื่ม ในโอกาสแรกของวันนั้น
ต่อมาภายหลังปรากฏว่าพิธีการเช่นนั้น ทำความลำบากให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะผู้สูงอายุทนหิวไม่ไหว จนอาจถึงกับมีอันเป็นไปก่อนได้ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงอนุญาตให้บริโภคอาหารมาก่อนได้และไม่ถือว่าเป็นกบฏ
สำหรับการถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มี 5 อย่าง จำแนกเป็น 2 ประเภท
การถือน้ำประจำ ได้แก่ การถือน้ำปกติ ปีละ 2 ครั้ง ในพิธีตรุษเดือน 5 พิธีสารทเดือน 10 เป็นการถือน้ำของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนบรรดาข้าราชการในกรมของพระราชวงศ์ และการถือน้ำประจำเดือนของทหารที่ผลัดเปลี่ยนเวรเข้าประจำการทุกวันขึ้น 3 ค่ำ
การถือน้ำจร คือ การถือน้ำเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ได้แก่ การถือน้ำเมื่อแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติ เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น