วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การสื่อสารกับพระ จากข่าวสด

การสื่อสารกับพระ

คอลัมน์ศาลาวัด



การ เขียนหนังสือหรือจดหมายถึงพระภิกษุ จะเป็นแบบทางการหรือจดหมายส่วนตัว มีคำเฉพาะแตกต่างจากหนังสือทั่วไป คือเมื่อเขียนที่อยู่ วันที่ เรื่องที่หัวหนังสือแล้ว

คำขึ้นต้นใช้ "นมัสการ" เช่น นมัสการเจ้าอาวาสวัดที่เขียนไปหา ถ้าพระผู้รับจดหมายเป็นพระภิกษุธรรมดาทั่วไป ใช้สรรพนามว่า "ท่าน" ส่วนผู้เขียนจดหมายใช้สรรพนามแทนตนว่า ดิฉัน, ผม, กระผม หรือ ชื่อหน่วยงาน คำลงท้ายใช้ "ขอนมัสการด้วยความเคารพ"

ถ้าเขียนจดหมายถึงพระภิกษุ ผู้ทรงสมณศักดิ์ หรือเป็นพระสังฆาธิการ เช่น ท่านพระครู หรือท่านเจ้าคุณ ใช้สรรพนามแทนท่านว่า "พระคุณท่าน"

ผู้เขียนจดหมายใช้ ดิฉัน, กระผม หรือชื่อหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น "ดิฉันขอกราบหารือกับพระคุณท่านในเรื่อง..." เป็นต้น จบแล้วลงท้ายว่า "ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง"

หนังสือถึงพระภิกษุตั้งแต่รอง สมเด็จขึ้นไป ยกเว้นพระสังฆราช ใช้สรรพนามแทนท่านว่า "พระคุณเจ้า" ส่วนผู้เขียนใช้สรรพนามแทนว่า "ดิฉัน, กระผม หรือชื่อหน่วยงาน คำลงท้ายใช้ "ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างยิ่ง"

หนังสือถึงสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นต้นด้วย "กราบทูลฝ่าพระบาท" เรียกพระองค์ท่านว่า "ฝ่าพระบาท" ผู้เขียนเองใช้สรรพนาม "เกล้ากระหม่อม" จบหนังสือแล้วลงท้ายว่า "ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด"

นอกจากการเขียนหนังสือติดต่อกับพระภิกษุ แล้ว ปัจจุบันการเรียกคำนำหน้าชื่อพระสงฆ์ ยังเรียกกันสับสนไม่เป็นที่ยุติแน่นอน อย่างเดียวกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ยังไม่มีสมณศักดิ์ ยังใช้คำนำหน้าเรียกชื่อว่า "พระภิกษุ..." ก็มี "พระ..." ก็มี เพื่อเป็นข้อยุติ ขอให้ถือหลักการดังนี้

คำ นำหน้าชื่อพระภิกษุธรรมดาทั่วไปใช้ "พระ" เช่น พระสวัสดิ์ ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระสวัสดิ์ สิริปัญโญ แต่ถ้าเป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "พระมหา" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระมหาสวัสดิ์ สิริปัญโญ

ถ้าเป็นเจ้าอาวาส ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "พระอธิการ" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระอธิการสวัสดิ์ สิริปัญโญ

ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบล หรือเป็นพระอุปัชฌาย์ ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "เจ้าอธิการ" ต่อท้ายด้วยฉายา เป็น เจ้าอธิการสวัสดิ์ สิริปัญโญ

หนังสือ ที่ชาวบ้านเขียนถึงพระภิกษุควรมีลักษณะสุภาพ นอบน้อม ส่วนหนังสือหรือลิขิตที่พระมีถึงญาติโยมควรเป็นไปด้วยความเมตตาและสุภาพเช่น เดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น