คนไม่ดื้อเป็นใหญ่ได้/อย่าให้ชาติ ศาสนาพัง เพราะความหวังดี
พุทธวิธีแก้ทุกข์
ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต
คนไม่ดื้อเป็นใหญ่ได้
อตฺถทฺโธ ลภเต ยสํ
คนไม่ดื้อ เป็นใหญ่ได้
ท่านที่เลี้ยงแมว จะเห็นว่า แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ควรเอาอย่างอยู่อย่างหนึ่งคือ ความดื้อ ลองจับหลังให้มันโก่งขึ้น มันจะแอ่นลงหาพื้น ถ้ากดให้มันแอ่นลง มันจะโก่งขึ้น ดึงไปข้างหน้า มันจะพยายามถอยหลัง ดึงหางให้มันถอยมาข้างหลัง มันจะตะกายไปข้างหน้า
ช่างดื้ออะไรเช่นนั้น นี่คือสิ่งที่ไม่ควรเอาอย่าง
ความดื้อของคนมีอยู่สองชนิดคือ ดื้อด้าน กับ ดื้อดึง
คนดื้อด้านส่วนมากเป็นคนหัวอ่อน ไม่ชอบเถียง ไม่ชอบให้เหตุผลใครเขาจะว่าจะสอนอะไรอย่างไร ก็ยิ้มเสมอหรือนิ่งเงียบ แต่ไม่ทำตาม
คนดื้อดึง ชอบเถียง ชอบขัดคำสั่ง ชอบทำอะไรตรงข้ามกับที่เราอยากให้ทำ คนดื้อดึงนี้จะเกลียดคำสั่งที่สุด สั่งอะไรเขาเป็นไม่ได้ นอกจากไม่ทำตามแล้วยังจะ "ลองดี" อีกด้วย
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคน "ดื้อดึง" หรือ "ดื้อด้าน" ต่างก็ไม่ชอบคำสั่งสอน หรือโอวาททั้งนั้น
ป้ายห้ามเดินลัดสนาม ปักไว้ที่สนามหญ้าสาธารณสถานแห่งหนึ่งนานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจปฏิบัติตาม เพราะสังคมมีแต่คน "ดื้อ" เต็มบ้านเต็มเมือง
วันดีคืนดีป้าย "ห้ามเดินลัดสนาม" ก็หาย (เผลอๆ อาจมีป้ายใหม่ว่า "ลัดสนามได้" มาปักแทน)
คนดื้อด้านแกจะไม่สนใจป้ายห้ามเดินลัดสนาม ป้ายก็คือป้าย ฉันจะเดินเสียอย่าง มัวแต่เดินอ้อมมันช้า ลัดไปนี่แหละเร็วดี
คนดื้อดึง นอกจากจะไม่สนใจป้ายแล้ว ยังโกรธป้าย โกรธคนเอาป้ายมาปักอีกด้วย "มันเรื่องอะไรต้องมาห้าม แล้วคนมาปักป้ายเอง มันก็ต้องเดินลัดมาเหมือนกันจึงจะปักป้ายได้" ว่าแล้วแกก็ยกป้ายทิ้งไป หรือถ้าโกรธมากๆ ก็อาจหาป้าย "เดินลัดสนามได้" มาปักแทนเป็นการประชด
ความดื้อดึง เป็นอาการของจิตแล้วแสดงออกทางพฤติกรรม มีกันทุกคน มากน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง พ่อแม่ครูอาจารย์ควรรู้ว่าลูกหรือศิษย์ของตนเป็นคนดื้อชนิดไหน ดื้อด้าน หรือดื้อดึง แล้วจะได้แก้นิสัยหรือสอนเขาได้ถูกทาง
คนดื้อด้านนั้นเกลียดคำสอนมากกว่าคำสั่ง จะให้เขาทำอะไรให้สั่งเป็นข้อๆ เลย ป่วยการชักแม่น้ำทั้งห้า ส่วนคนดื้อดึง เกลียดคำสั่งมากกว่าคำสอน จะให้คนดื้อดึงทำตามให้แปลงคำสั่งเป็นคำสอน อธิบายให้เข้าใจเหตุผล คนดื้อดึงพร้อมจะทำตาม และคนไม่ดื้อด้าน มีทางก้าวไปเป็นใหญ่ได้ในภายหน้า
ลูกหรือลูกศิษย์ดื้อแก้ได้ขอแต่พยายามแก้ให้ถูกทาง ที่สำคัญพ่อแม่หรือครูอย่าดื้อเสียเอง!
อย่าให้ชาติ ศาสนาพัง เพราะความหวังดี
วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ
ชนา เอกงฺคทสฺสิโน
คนที่ยึดมั่น มองอะไรในแง่เดียว
ไม่แคล้วต้องทะเลาะกัน
มีผู้กล่าวว่า เวลาสุนัขอยู่ด้วยกันหลายตัว มันก็ดูสงบดี ต่างตัวต่างอยู่ในมุมของตน แต่พอมีใครโยนกระดูกให้มันเท่านั้น มันจะแยกเขี้ยวยิงฟัน ยื้อแย่งกระดูกชิ้นนั้นทันที ตัวที่ได้กระดูกไปก็จะส่งเสียงขู่ตัวอื่นไม่ให้เข้ามาใกล้ ตัวที่แย่งไม่ได้ก็จะร้องแฮ่ๆ เข้าใส่หมายจะยื้อยุดเอามาให้ได้
กระดูกชิ้นเดียวแท้ๆ ทำให้พวกมันซึ่งตามปกติก็ดูปรองดองกันดี ต้องมารุมกัดกันบาดเจ็บไปตามๆ กัน
ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ยกย่องตัวเองว่าผู้มีจิตใจสูงเล่า พฤติกรรมก็ไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก ที่ใดมีผลประโยชน์ ที่นั่นก็เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็อยากได้มาเพื่อตัวหรืออยากได้มากกว่าคนอื่น
ความขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว อยู่ในวงแคบ ไม่กระทบกระเทือนอะไรมากนัก ถ้ามีคนเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกันก็มีหน่วยงานหรือสถาบันช่วยระงับ ความขัดแย้งและให้ความยุติธรรมได้ เช่น ตำรวจ ศาลสถิตยุติธรรม
ส่วนความขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ประเทศชาติและพระศาสนา เป็นความขัดแย้งที่แผ่กว้าง และมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ จะว่าไปแล้วความขัดแย้งนี้ ล้วนเกิดจากความปรารถนาดีด้วยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครอยากเห็นประเทศเราล้าหลัง ป่าเถื่อน ไร้ขื่อแป ไร้ระบอบการปกครองที่ดี ต่างก็อยากให้ประเทศชาติเจริญพัฒนา อยากให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพ อยากให้ศาสนาเจริญรุ่งเรืองให้ความสุขทางใจแก่ประชาชน อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพัฒนาก้าวหน้าสม กับเป็นอารยประเทศ ประเทศหนึ่งในโลก
ทั้งๆ ที่ทุกคนปรารถนาดีต่อชาติ ต่อพระศาสนา แต่ก็ยังขัดแย้งทะเลาะกัน บางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นฟาดฟัน ห้ำหั่นกัน ดังเช่น กรณีพระกับการอนุรักษ์ป่า และกรณีร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะต่างฝ่ายต่างมองคนละมุม ยึดมั่นในมุมมองของตนเท่านั้นว่าถูกต้อง ไม่ยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งเลยใช่ไหม? บรรยากาศการสมัครสมาน ร่วมมือกันประสานประโยชน์จึงไม่เกิดขึ้น
แม้จะหวังดี แต่ถ้าหวังดี "ด้วยความสามัคคี" ก็ทำลายชาติศาสนาได้เช่นกัน!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น