วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

พลังธรรมะ-พลังแห่งชีวิต (ข่าวสด)

พลังธรรมะ-พลังแห่งชีวิต

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
กํา ลังใจนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สำหรับชีวิตมนุษย์ ถ้ามนุษย์ขาดกำลังใจการประกอบกิจกรรมทำกิจสิ่งใดๆ ก็ให้สำเร็จสมความปรารถนาได้โดยยาก แต่ผู้ที่มีกำลังใจดี มีกำลังใจเข้มแข็ง เขาประกอบกรรมทำกิจสิ่งใดๆ ก็ให้สำเร็จในสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยดีในทุกสิ่งไป แต่กำลังใจที่จะเกิดขึ้นและเข้มแข็งได้นั้น ก็จำต้องอาศัยหลักธรรมประคับประคอง ส่งเสริมสนับสนุน หลักธรรมะอันเป็นพลังแห่งชีวิตมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. สทฺธาพลํ พลังแห่งศรัทธา ความปลงใจเชื่อมั่นในพระตถาคตเจ้า

๒. วิริยพลํ พลังแห่งความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น

๓. สติพลํ พลังแห่งความมีสติรอบคอบ ความไม่หลงลืม

๔. สมาธิพลํ พลังแห่งจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจนมีความมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหว

๕. ปญฺญาพลํ พลังแห่งปัญญา ที่จะช่วยประคับประคองศรัทธาให้ถูกต้อง ไม่งมงาย

ประการ ที่ ๑ พลังแห่งศรัทธา หมายถึงพลังแห่งชีวิตคือศรัทธา คือความปลงใจเชื่ออย่างหนักแน่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคตเจ้าว่าพระองค์เป็นผู้ ตรัสรู้ หรือค้นพบสัจธรรม อันสามารถนำหมู่สัตว์มีมนุษย์เป็นต้น ให้หลุดพ้นออกไปจากทุกข์ได้

ประการที่ ๒ พลังแห่งศรัทธา หมายถึงพลังแห่งความเพียร บากบั่น ความขยัน ความอดทน ความหนักแน่น เมื่อมีศรัทธาแล้วก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่องเป็นนิตย์ จนกว่ากิจที่ทำนั้นๆ จะสำเร็จลงได้ด้วยดี

ประการที่ ๓ พลังแห่งสติ หมายถึง ความระลึกได้ ความไม่หลงลืม หมายเอาความระลึกถึงกิจการที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิดได้อยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่ง คือผู้ไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาทคือผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ หากจะใช้สติให้เป็นกำลังแห่งชีวิตมากยิ่งขึ้น

ประการที่ ๔ พลังแห่งสมาธิ หมายถึง พลังแห่งจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจนมีความมั่นคง มีความหนักแน่น มีความไม่หวั่นไหว ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความโลเล เป็นสภาพจิตที่แน่วแน่ หนักแน่น มั่นคง แม้จะมีอารมณ์ภายนอกมายั่วยุ ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่โอนเอน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์นั้น จิตอย่างนี้เรียกว่าจิตมีพลัง เพราะไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกระแสกิเลส ผู้มีจิตเข้มแข็งมั่นคงเช่นนี้ ย่อมสามารถนำพาชีวิตของตนให้ได้พบสิ่งที่ต้องการปรารถนา

ประการที่ ๕ ปัญญาพลัง หมายถึง พลังที่จะช่วยประคับประคองศรัทธาให้ถูกต้อง ไม่เป็นศรัทธาที่งมงาย ช่วยประคับประคองวิริยะคือความเพียรให้อยู่ในระดับที่พอดี ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งปัญญา จึงเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตที่ประเสริฐสุด พลังแห่งปัญญาสามารถให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ในที่ทุกสถานในการทุกเมื่อ

พลังแห่งธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นพลังส่งเสริมชีวิต ให้ชีวิตมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดศรัทธาเพราะจะพาให้ชีวิตเคว้งคว้าง อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดวิริยะ เพราะจะพาให้ชีวิตล้มเหลว อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดสติ เพราะจะทำให้ชีวิตเกิดความลุ่มหลงผิดพลาด และอย่าปล่อยให้ชีวิตขาดปัญญา เพราะจะพาให้ชีวิตล่มสลายได้ ท่านผู้ปฏิบัติธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้ จะสามารถช่วยผู้นั้นให้มีชีวิตอย่างมีพลังเข็มแข็งปลอดภัยอย่างแน่นอน



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น