วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (5) khaosod

หลักสูตรอารยชน (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโตฺ ป.ธ.๙)



ส่วนทางฝ่ายลูกจ้าง และคนงาน ก็ต้องตั้งใจทำงานให้ได้ผลดี มีน้ำใจรักสมัครสมาน

6. ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อท่านให้ถูกต้อง ให้ท่านสามารถดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม

ส่วนทางฝ่ายพระสงฆ์ก็มี หน้าที่ปฏิบัติ ต่อชาวบ้านให้ถูกต้อง โดยเฉพาะต้องให้ธรรม และชักจูงให้เขาตั้งอยู่ในธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึง 6 ข้อ

เป็นอันว่าครบ 6 ทิศ การไหว้ทิศ ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่อยู่ในฐานะต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องในสังคมให้ถูกต้อง

เมื่อ เราปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลเหล่านั้นถูกต้องแล้ว ก็ทำให้ชีวิตปลอดโปร่ง เป็นอยู่และดำเนินไปด้วยดี ท่านเรียกว่ามีความสวัสดี สังคมก็เรียบร้อย ร่มเย็น มั่นคง

เมื่อเราไหว้ทิศได้ถูกต้องอย่างนี้ ก็เป็นมงคล นำความสุขความเจริญมาให้อย่างแน่ นอน เป็นการไหว้ทิศแบบอารยชน

ไม่ใช่ไปยืนไหว้ หรือนั่งกราบทิศตะวันออก ทิศเหนือ ฯลฯ เหมือนสิงคาลกมาณพ

2. สังคหวัตถุ 4 หลังจากตรัสเรื่องทิศ 6 แล้ว ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงปิดท้ายด้วย สังคหวัตถุ 4

ขอ อธิบายว่า บุคคลที่อยู่แวดล้อมเราทั้ง 6 ทิศนั้น เรามีหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่างกันไปแต่ละทิศ แต่ในที่สุดทุกคนก็เป็นสมาชิกของสังคมเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องมีสังคหวัตถุ 4 นี้ไว้สำหรับใช้กับทุกคนทั่วทั้งสังคม พระพุทธเจ้าจึงตรัสสังคหวัตถุ 4 ไว้คุมท้ายอีกทีหนึ่งว่า เราอยู่ในสังคมจะต้องใช้สังคหวัตถุ 4 นี้กับทุกคน

สังค หวัตถุ 4 นี้เป็นธรรมภาคปฏิบัติ จะเห็นว่า ในธรรมหมวดนี้ไม่พูดถึงเมตตากรุณาเลย เพราะอันนั้นเป็นคุณธรรมในใจ ในที่นี้เอาแต่เรื่องการปฏิบัติที่แสดงออกภายนอกจริงๆ

สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์ คือ หลักการยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ทำให้ตนเองก็เป็นที่รัก และชุมชนก็รวมกันอยู่ได้ ไม่แตกแยกกระจัด กระจาย ทำให้สังคมมีเอกภาพและมีความมั่นคง สังคหวัตถุ 4 คือ

1. ทาน
การให้ปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยเจือจาน แจกจ่าย ช่วยเหลือด้วยสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนวิชาความรู้ (ช่วยด้วยทุน สิ่งของ หรือความรู้)

-ให้ด้วยเมตตา แสดงน้ำใจไมตรี สร้างเสริมมิตรภาพ

-ให้ด้วยกรุณา ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ความเดือดร้อน

-ให้ด้วยมุทิตา ส่งเสริมผู้ทำความดี คนที่เจริญก้าวหน้า

2. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน ใช้คำสุภาพ ให้เกียรติกัน พูดด้วยความหวังดีมีน้ำใจ บอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ (ช่วยด้วยถ้อยคำ)

-พูดด้วยเมตตา ทักทายปราศรัยแสดงน้ำ ใจไมตรีพาทีสุภาพ

-พูดด้วยกรุณา เห็นใจ ปลอบใจ แนะนำ ให้คำปรึกษา บอกทางแก้ปัญหา

-พูดด้วยมุทิตา พูดให้กำลังใจ แสดงความส่งเสริมสนับสนุน

3. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา สละเรี่ยวแรงกำลังกาย กำลังความสามารถ ช่วยเหลือผู้อื่น และบำเพ็ญประโยชน์ (ช่วยด้วยกำลังงาน)

-ช่วยด้วยเมตตา แบ่งเบาภาระ ร่วมมือ แสดงน้ำใจไมตรี

-ช่วยด้วยกรุณา นำพาผู้อ่อนแอหรือตกอยู่ในอันตรายให้หลุดรอดพ้นภัย

-ช่วยด้วยมุทิตา ให้กำลังสนับสนุนร่วมมือแก่ผู้ทำความดีและเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

4. สมานัตตตา เอาตัวเข้าเสมอสมาน ร่วมหมู่ ร่วมมือ ร่วมจุดหมาย ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมสุขร่วมทุกข์ ปฏิบัติต่อกันโดยเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลาย ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้เหมาะกับแต่ ละสถานการณ์ (ช่วยด้วยการร่วมสร้างสรรค์ และแก้ปัญหา)

เป็นอันว่าครบถ้วนแล้ว ทั้งหมดนี้พระ พุทธเจ้าตรัสไว้เป็นแบบแผน ท่านเรียกว่า "วินัยของคฤหัสถ์"(วินัยชาวบ้าน)

คำว่า วินัยของคฤหัสถ์ นี้ เป็นคำที่พระอรรถกถาจารย์มาเรียกอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นคำที่เหมาะดี เป็นชุด เป็นลำดับ

ชาวพุทธ และมนุษย์ทุกคน ควรจะยึด ถือข้อปฏิบัติในสิงคาลกสูตรนี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

เมื่อ ได้หลักนี้เป็นพื้นฐานที่ดีแล้ว ก็บำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่นต่อไปได้สะดวก เพราะสร้างฐานไว้ดีแล้ว ชีวิตของเราจะมีความมั่นคง ทั้งในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง และในด้านการอยู่ร่วมสังคม เรียบร้อยสบายใจ

ต่อจากนี้ก็บำเพ็ญคุณความดีตามหลักธรรมข้ออื่นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะปฏิบัติก้าวหน้าไปอย่างไรก็ได้ เพราะวางฐานไว้เรียบ ร้อยดีแล้ว

ทั้งหมดนี้คือหลักหรือแบบแผนชีวิตของคฤหัสถ์

แม้แต่พระ เมื่อลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องขอให้นำเอาหลักนี้ไปเป็นเครื่องเตือนใจตนและทบทวน เพื่อจะได้ดำเนินตามพระพุทธประสงค์

และช่วยแนะนำผู้อื่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น