วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (4) khaosod

หลักสูตรอารยชน (4)

พระพรหมมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ถ้า รู้จักเลือกคบคน รู้จักปรึกษา รู้จักเข้าหา ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย และคนทุกระดับ เข้าได้หมด ก็จะทำให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จมาก

บาง คนดีกับคนที่ต่ำกว่าตน บางคนดีได้เฉพาะกับคนระดับเดียวกับตน บางคนดีกับคนเหนือตน บางคนเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี แต่เข้ากับเด็กไม่ได้ หรือบางคนเข้ากับเด็กได้ แต่กับผู้ใหญ่มักขัดแย้ง บางคนเข้ากับผู้น้อยได้ดี แต่เข้ากับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันไม่ได้ ก็เกิดปัญหา

ถ้า เราเข้าคนได้ทุกระดับ เมื่ออยู่ในวงงาน ผู้ใหญ่ก็รักนับถือเคารพกัน ผู้น้อยก็รัก เพื่อนก็ไปด้วยกันได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นไปด้วยดี แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องเข้ากับธรรมด้วย

เอาละ นี่ก็เป็นเรื่องของมิตรซึ่งจะต้องรู้จักแยก รู้จักคบ


2.วาง แผนจัดสรรทรัพย์ ต่อจากนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการเตรียมตัวขั้นสำคัญ คือการจัดสรรการใช้จ่ายเงินทอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของผู้ครองเรือน เพราะเงินเป็นหลักประกันของชีวิตสำหรับคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญอยู่เสมอ ต่างจากพระสงฆ์ที่ชีวิตพึ่งวัตถุน้อยและญาติโยมเลี้ยง

เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จะต้องมีความมั่นใจโดยมีหลักการจัดสรรทรัพย์ จะจัดสรรอย่างไร ก็ให้เหมาะกับยุคสมัยท้องถิ่นนั้น แต่ต้องวางแผนให้มั่นใจ

สำหรับในพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักใหญ่ๆ ให้เหมาะกับยุคสมัยนั้นว่า ให้จัดแบ่งทรัพย์เป็น 4 ส่วน

1 ส่วน ใช้เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงคนในความรับผิดชอบ เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง ตลอดจนทำอะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีงาม เป็นบุญกุศล ทำประโยชน์ ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม

อีก 2 ส่วน ใช้ทำกิจการงาน เช่น เป็นนักธุรกิจก็ลงทุนในการอาชีพ เรื่องทุนทำการงาน ทำกิจการ ท่านให้ความสำคัญมาก ให้ถึง 2 ส่วน และอีก 1 ส่วน คือส่วนที่สี่ เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตในยามจำเป็น เช่น เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีเงินเตรียมไว้

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เหมาะกับคนสมัยนั้นว่า จัดสรรทรัพย์เป็น 4 ส่วน หนึ่งส่วนใช้ อีกสองส่วนทำกิจการ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ เราก็เอาหลักการนี้มาประยุกต์ คือจัดเรื่องทรัพย์ให้ดี เตรียมวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ให้เป็นที่สบายใจว่าชีวิตของเราจะมีความมั่นคง คนที่จัดสรรเงินได้ดี ตัวเองก็มีความมั่นใจ และชีวิตก็มีความมั่นคง

ตอนนี้ถือว่าเตรียมพร้อมแล้ว คราวนี้ก็ไหว้ทิศได้

ขั้นที่ 3 ไหว้ทิศทั้ง 6

1.ไหว้ ทิศ 6 ไหว้ทิศคืออย่างไร? การที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็คือ อยู่ในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อนมนุษย์ ที่อยู่รอบตัว มนุษย์ที่อยู่รอบตัวเรานี้ย่อมจะมีความสัมพันธ์กับเราในฐานะต่างๆ กัน

เปรียบ คนทั้งหลายที่อยู่ในฐานะต่างๆ ก็เหมือนกับเป็นทิศน้อยใหญ่ ที่อยู่ล้อมรอบ ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงจะมีชีวิตอยู่ด้วยดีมีความสุขความเจริญ

การไหว้ทิศ ก็คือการปฏิบัติโดยถูกต้องต่อบุคคลเหล่านั้น

คน ที่บัญญัติเรื่องทิศนั้น เขาบัญญัติโดยเอาทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เขาจึงหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ก่อน พระอาทิตย์ขึ้นทางไหน ก็หันหน้าไปทางนั้น พอเห็นพระอาทิตย์แล้วก็เริ่มกำหนดทิศ ก็เลยถือว่า ทิศเบื้องหน้าเป็นทิศตะวันออก

เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีจึงเรียกทิศตะวันออกว่า ปุรัตถิมทิศ คือทิศบูรพา แปลว่า ทิศข้างหน้า ก็คือทิศตะวันออก

1.ทิศ เบื้องหน้า เป็นทิศที่มาก่อน บุคคลที่มาก่อนเราก็คือ พ่อแม่ ท่านเกิดก่อนเรา และเป็นผู้นำเรา เริ่มตั้งแต่ให้ชีวิตและเลี้ยงดูเรา เพราะฉะนั้น ทิศแรกจึงได้แก่ พ่อแม่

ไหว้ทิศเบื้องหน้า ก็คือปฏิบัติหน้าที่ต่อพ่อแม่ เคารพบำรุงพ่อแม่ให้ถูกต้อง เช่น ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว ก็เลี้ยงท่านตอบ ช่วยเหลือทำกิจธุระการงานของท่าน ดำรงรักษาวงศ์ตระกูล ประพฤติให้สมควรแก่ความเป็นทายาท และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน นี้ว่าไปตามหลักที่เรียนมาแล้ว และถ้าตัวเองไปเป็นพ่อแม่ ก็ปฏิบัติต่อลูกตามหลักที่ท่านจัดไว้คู่กัน

2.ทิศเบื้องขวา พอหันหน้าไปทางตะวันออก ข้างขวามือก็เป็นทิศใต้ ท่านเรียกว่าทิศเบื้องขวา คือทักษิณทิศ

ทักษิณ หรือขวานี้ คติโบราณถือเป็นเรื่องของการแสดงความเคารพ อะไรไว้ทางขวาก็หมาย ความว่าเราเคารพ ทิศเบื้องขวาก็เลยยกให้อาจารย์ จัดครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวาคือทิศใต้ ก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อครูอาจารย์ให้ถูกต้อง

3.ทิศเบื้องหลัง หมายถึงคนที่มาทีหลัง ซึ่งตอนแรกเมื่อเราเกิดมายังไม่มี ก็คือ บุตร ภรรยา หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็ได้แก่สามีกับลูก ตอนเราเกิดยังไม่มี มามีทีหลัง เพราะฉะนั้นจึงเป็นทิศเบื้องหลัง ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามี ภรรยา และบุตร ให้ถูกต้อง

4.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหายและผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นผู้ยืนอยู่เคียงข้าง ช่วยประคับประคองสนับสนุน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อกันให้ถูกต้อง

5.ทิศ เบื้องล่าง ได้แก่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนคนงาน ลูกจ้าง และคนรับใช้ ต้องเอาใจใส่ ดูแลสุขทุกข์ ให้เขาอยู่ดี อบอุ่น และคุ้มครองให้เขาได้รับความเป็นธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น