วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (6) khaosod

หลักสูตรอารยชน (6)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.อ.๙)



นําพาชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย

เมื่อเตรียมพื้นฐานหรือวางฐานชีวิตเรียบร้อยดีอย่างนี้แล้วก็มาดูหลักต่อจากนั้น เพื่อดำเนินชีวิตให้ก้าวหน้า จะได้ประสบความสำเร็จที่สูงขึ้นไปจากพื้นฐานนั้น จนบรรลุจุดหมาย

คนเราเกิดมาก็มุ่งหาสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อัตถะ" ซึ่งแปลอีกอย่างหนึ่งว่า จุดมุ่งหมาย

เราควรจะมีจุดหมายของชีวิต ที่ถูกต้อง ดีจริง เป็นประโยชน์จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแบ่งไว้เป็น 3 ระดับ หรือแบบย่อเป็น 2 ระดับ เรียกว่า "อัตถะ" แปลว่าจุดหมาย หรือประโยชน์

คนเราเกิดมาแล้วไม่ควรมีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอย แล้วก็ตายไปเปล่าๆ แต่ควรอยู่อย่างมีจุดหมาย ที่เป็นอัตถะ คือเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ท่านพิสูจน์แล้ว และบอกไว้ให้นี้

จุดหมายของชีวิต 3 ระดับนั้นคือ

1.ประโยชน์ต่อหน้า เรียกว่า "ทิฏฐ ธัมมิกัตถะ" ทิฏฐธรรม แปลว่า สิ่งที่ตา มองเห็น หรือทันเห็น จึงแปลกันว่าประ โยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ทันตา ได้แก่ประโยชน์ระดับที่ตามองเห็น ได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทอง ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีมิตรสหายบริวาร ชีวิตครอบครัวที่ดี การมีร่างกายแข็งแรงไร้โรค เป็นต้น

2.ประโยชน์เลยตาเห็น คือ ประโยชน์ ในขั้นที่ลึกลงไป แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า ภาษาบาลีเรียกว่า "สัมปรายิ กัตถะ" เบื้องหน้า ก็คือ ลึกล้ำเลยไป ตาไม่เห็น

ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายขั้นตาไม่เห็น คือเรื่องนามธรรม เกี่ยวกับคุณธรรมความดี ที่เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ ให้มีความสุขความซึ้งใจอย่างประณีตที่ตามองไม่เห็น เช่น ความสุขใจ อิ่มใจ ภูมิใจ มั่นใจ ความรู้สึกในคุณค่าและความหมายของชีวิต ที่เกิดจาก

-ศรัทธา มีหลักใจ ที่ยึดเหนี่ยวนำทาง ให้ไม่อ้างว้าง ให้มั่นใจในความดีและกรรมดี

-การดำรงอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ตั้งอยู่ในความสุจริต

-ความมีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้เสียสละบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจน

-การสละละกิเลสในจิตใจออกไปได้ ให้ใจโล่งใจโปร่งผ่องใส และ

-มีปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง

ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ขั้นที่ยิ่งล้ำลึกซึ้ง เลยจากที่ตามองเห็น

ในขั้นแรก ประโยชน์ที่ตามองเห็น โดยมากเป็นประโยชน์ที่เราเอาเข้ามาให้ตัวเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตในโลก แต่พอถึงประโยชน์ขั้นที่สองนี้ ทรัพย์สินเงินทองหรือประโยชน์ซึ่งตามองเห็นที่เข้ามาเมื่อกี้นั้นกลับออกไป คือออกไปทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นหรือวงสังคม และเป็นเรื่องของการทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญความดีที่ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ

ในขั้นแรกได้ความสุขทางด้านร่างกาย แต่ในขั้นนี้ได้ความสุขทางจิตใจ ในขั้นแรกมีความสุขจากการได้จากการเอา แต่ในขั้นนี้มีความสุขจากการให้ จากการที่ใจมีคุณธรรม เป็นการพัฒนาชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จึงเรียกว่าสัมปรายิกัตถะ

3.ประโยชน์สูงสุด คือ การมีปัญญารู้เท่าทันโลกและชีวิต จนกระทั่งจิตใจเป็นอิสระ ไร้ทุกข์ เรียกว่า "ปรมัตถะ"

คนที่บรรลุสัมปรายิกัตถะนั้น อยู่ในขั้นของความดี แต่พึงทราบว่า คนดีก็ยังมีความทุกข์ คนชั่วก็มีทุกข์แบบคนชั่ว คนดีก็มีทุกข์แบบคนดี

คนดีทำความดีก็มักอยากให้เขาชมบ้าง บางคนทำดีแล้วเห็นว่าไม่ได้ผลที่ต้องการ ก็บอกว่าแหม...ทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที อย่างนี้แสดงว่ายังมีความหวังผลอยู่ พอไม่สมหวังก็เศร้า เพราะฉะนั้นถึงแม้เป็นคนทำความดีก็ยังมีทุกข์ได้อยู่

แต่ยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ ทุกชีวิต ทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว ก็ล้วนอยู่ในโลก และอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือความจริงของธรรมดาที่ว่า สิ่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง มีความผันผวนปรวนแปรไป ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรไปอย่างนี้ มีการได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ต่อมาก็พลัดพรากจากของรัก เป็นต้น คือพบสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ก็ประสบสุขและทุกข์ เรียกว่า ฟู-ฟุบ ยุบ-พอง ไปตามสถานการณ์ คนดีจึงยังมีปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น