วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553
อวิโรธนะ (ข่าวสด)
อวิโรธนะ-ความไม่ผิดคอลัมน์ศาลาวัด"ความไม่ผิด" หรือคำว่า "อวิโรธนะ" ธรรมะข้อนี้ ควรหมาย ความว่า รู้ผิดแล้วไม่ดื้อขืนทำ คือ ไม่ยอมทำผิดทั้งรู้ รู้ผิดในที่นี้หมายถึงผิดจากข้อที่ถูกที่ควรทุกอย่าง เช่นผิดจากความยุติธรรมด้วยอำนาจอคติ ผิดจากปกติ คือเมื่อประสบความเจริญหรือความเสื่อม ก็รักษาอาการกายวาจาไว้ให้คงที่ ไม่ให้ขึ้นลงเพราะยินดียินร้าย คนสามัญทั่วไปในชั้นต้นยังทำผิดอยู่เพราะไม่รู้ว่าผิด ถ้ายอมปล่อยไปเช่นนั้น ไม่ศึกษา ก็จักเป็นผู้ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี และไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องดีงามได้ ผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้า เมื่อทำผิดด้วยอำนาจรักชอบ อำนาจชัง อำนาจหลง อำนาจกลัว ผู้อยู่ในปกครองก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ ผู้อยู่ในปกครองเมื่อทำผิดเช่นนั้น ผู้อยู่ในปกครองด้วยกันตลอดถึงผู้ปกครองเองก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ แต่ถ้าผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้ามีใจกอปรด้วยธรรม มุ่งความถูก พยายามศึกษาพิจารณาให้รู้จักผิดและชอบแล้ว พยายามทำการงานให้ถูกต้องตามคลองธรรมไม่ให้ผิด และแนะนำพร่ำสอนผู้อยู่ในอำนาจปกครองให้ประพฤติเช่นนั้นด้วย ผู้อยู่ในปกครองก็พยายามทำให้ถูกต้องตามคลองธรรม ไม่ให้ผิด ต่างฝ่ายก็จักอยู่ด้วยความสงบสุข กล่าวโดยเฉพาะ ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากราชธรรมจรรยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ ยกย่องคนผู้มีคุณความชอบ ควรอุปถัมภ์ยกย่อง ทรงกำราบคนมีความผิด ควรบำราบในทางที่เป็นธรรม ไม่ทรงอุปถัมภ์ยกย่องและบำราบคนนั้นๆ ด้วยอำนาจอคติ พระอาการคงที่อยู่ ไม่แสดงให้ผิดจากปรกติเดิมจัดเป็นอวิโรธนะ ที่แปลว่า ความไม่ผิดอันเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าทศพิธราชธรรมข้อนี้ เป็นที่รวมของทุกๆ ข้อได้ด้วย เพราะธรรมะทุกข้อที่เป็นราชธรรมนั้น ล้วนเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดทั้งนั้น คือเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสมควร ถ้าได้ปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติในข้อนั้น แต่ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนั้นและทุกๆ ข้อได้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติได้ถูกต้องไม่ผิดตามหลักธรรมข้ออวิโรธนะ ซึ่งหมายถึงความเป็นผู้ประพฤติมิให้ผิดพลาดจากศีลธรรม กฎหมาย ระเบียบ วินัย ประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง ถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและประชาราษฎร์เป็นที่ตั้งสถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น