วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (จบ) khaosod เก็บไว้อ่านได้คิด

หลักสูตรอารยชน (จบ)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายงาน ดังนี้

1. เริ่มทำงานก่อน

2. เลิกงานทีหลัง

3. เอาแต่ของที่นายให้

4. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น

5. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ 6 ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้

1. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

2. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

3. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

4. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว

2. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี

3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

4. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง

5. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

6. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ

ข. เกื้อกูลกันประสานสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคม ให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วย สังคหวัตถุ 4 คือ

1.ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)

2.ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)

3.อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)

4.สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอกันโดยธรรม และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน)

หมวดสอง

นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย


ก. จุดหมาย 3 ขั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) 3 ขั้น คือ

ขั้นที่ 1ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน

ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ

ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

ทั้ง 4 นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ขั้นที่ 2 สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า

ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง ด้วยศรัทธา

ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงาม ด้วยความสุจริต

ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ

ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วย ปัญญา

จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี

ขั้นที่ 3 ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง

ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง

ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ

ค) สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้

ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา

ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ 2 ขึ้นไป เรียกว่าเป็น "บัณฑิต"

ข. จุดหมาย 3 ด้าน จุดหมาย 3 ขั้นนี้ พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ 3 ด้าน คือ

ด้านที่ 1 อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์ตน คือประ โยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง

ด้านที่ 2 ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ให้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ

ด้านที่ 3 อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์ บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย 3 ขั้นข้างต้น

ชาวพุทธชั้นนำ

ชาวพุทธที่เรียกว่า อุบาสก และอุบาสิกา นับว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำ จะต้องมีความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นอยู่ในหลัก ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทั่วไป นอกจากรักษา วินัยชาวพุทธ แล้ว ต้องมี อุบาสกธรรม 5 ดังนี้

1. มีศรัทธา เชื่อประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงาย มั่นในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด

2. มีศีล นอกจากตั้งอยู่ในศีล 5 และสัมมาชีพแล้ว ควรถือศีลอุโบสถตามกาล เพื่อพัฒนาตนให้ชีวิตและความสุขพึ่งพาวัตถุน้อยลง ลดการเบียดเบียน และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล

4. ไม่แสวงหาพาหิรทักขิไณย ไม่ไขว่คว้าเขตบุญขุนขลังผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ นอกหลักพระพุทธศาสนา

5. ขวนขวายในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ใส่ใจริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น