วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (ข่าวสด)

หลักสูตรอารยชน (2)

พระพรหมคุณาภร์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ที่นี้ก็มาดูกันว่า "อารยชน" ควรไหว้ทิศ คือ ปฏิบัติต่อชีวิตของตน ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสภาพแวด ล้อมที่อยู่รอบตัวเรานี้อย่างไร เพื่อให้ชีวิตดีงาม มีความสุขความก้าวหน้า และให้สังคมเจริญพัฒนาไปได้ด้วยดี มีความเข้มแข็งมั่นคง ดำรงในสันติสุขที่ยั่งยืน

ขั้นที่ 1 รักษาชีวิตให้สะอาด

ขั้นแรก ละเว้นความชั่วต่างๆ เหมือนทำความสะอาดชำระล้างร่างกายให้หมดจด เสร็จแล้วจึงมาไหว้ทิศ

สิ่งชั่วร้ายที่ต้องชำระล้างมี 14 ประการ คือ

1. กรรมกิเลส 4 คือการกระทำที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง เป็นการกระทำที่เสียหาย คือการดำเนินชีวิต หรือความประพฤติที่เบียดเบียนกัน 4 ประการ ได้แก่

1. ปาณาติบาต การทำร้าย เบียดเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่น

2. อทินนาทาน การลักทรัพย์ ละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น

3. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น

4. มุสาวาท การพูดเท็จ โกหก หลอกลวง ทำร้ายเขาด้วยวาจา

สี่อย่างนี้เป็นกรรมกิเลส คือความประพฤติเสียหาย ท่านให้ละเว้นเสีย ดูก็คล้ายๆ กับ 4 ข้อแรกในหลักศีล 5 แต่อาจจะสงสัยว่าข้อสุดท้าย คือ สุราฯ ไปไหน เดี๋ยวจะมีเอง

สี่ข้อนี้เป็นตัวกรรม แต่ข้อสุราฯ นั้น ไม่ใช่กรรม เวลาเราพูดถึงหลักศีล 5 เราเรียกว่า สิกขาบท สี่ข้อต้นนั้นเป็นกรรมบถด้วยและเป็นสิกขาบทด้วย แต่ข้อสุราฯ ไม่เป็นกรรมบถ เป็นเพียง สิกขาบท

กรรมบถเป็นตัวกรรม การไปทำร้ายชีวิตร่างกายเขา ไปลักทรัพย์เขานี้เป็นกรรมชั่ว แต่การดื่มสุรา ยังไม่ใช่เป็นกรรมในตัวเอง เพราะมันเป็นเรื่องของการดื่มเข้าไปแล้วทำให้ขาดสติ แล้วจะไปทำร้าย ไปทำอะไรไม่ดี จึงเป็นกรรมอีกทีหนึ่ง

แต่เว้นสุราเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกหัดว่าจะเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ที่จะก่อให้เกิดโทษอย่างอื่น จึงมาเป็นสิกขาบทด้วย เพราะว่าเอามาใช้ในการฝึก เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดดำเนินชีวิตที่ดี

ในที่นี้ พูดถึงเฉพาะกรรมก็เลยมีแค่ 4 ข้อ เรียกว่ากรรม-กิเลส เพราะเป็นกรรมที่เศร้าหมอง คือเป็นความประพฤติเสียหาย

กรรมนี้คลุมไปถึงอาชีพการงานด้วย อาชีพการงานเป็นหลักสำคัญของชีวิตของเรา ก็ไม่ให้มีเจ้าสี่ตัวนี้ คือให้ละเว้น ไม่ให้เป็นอาชีพการงานประเภทที่มีการทำร้ายเบียดเบียนชีวิตเขา ไม่เป็นอาชีพที่ล่วงล้ำละเมิดทรัพย์สินของคนอื่น ไม่ใช่อาชีพลักขโมย ไม่ใช่อาชีพที่จะทำความประพฤติผิดทางกาม และไม่ใช่อาชีพที่หลอกลวง ใช้วาจาโกหกผู้อื่น

กรรมกิเลส คือความประพฤติมัวหมองเสื่อมเสียแก่ชีวิตนี้ ทำให้เกิดเวรภัยในสังคม เป็นการสร้างเครื่องกีดกั้นขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและก่อกวนความสงบสุขในชีวิตของตนเอง

ผู้ที่ไม่ก่อกรรมกิเลสทั้ง 4 นี้ จะมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง เหมือนคนที่ร่างกายสะอาด รู้สึกโปร่งโล่งเบาและมั่นใจที่จะก้าวไปทำ อะไรๆ ด้วยความสบายใจ

2. อคติ 4 ได้แก่ ความลำเอียง หรือความประพฤติออกนอกทางของธรรม 4 อย่าง คือ

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ

2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา

4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

คฤหัสถ์ เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จะต้องรับผิดชอบกลุ่มคนหรือหมู่ชน เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นหัวหน้าชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะต้องรักษาความเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรม แก่คนในความดูแลของตน เพื่อให้กลุ่มคนหรือหมู่ชนนั้นอยู่กันโดยสามัคคี มีความสงบสุข พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เว้นความลำเอียง คือความประพฤติผิดธรรม หรือคลาดจากธรรม เพราะชอบ ชัง ขลาด เขลา แต่ให้ดำรงอยู่ในธรรม คือความถูกต้องดีงาม และความเที่ยงธรรม

3. อบายมุข 6 ได้แก่ ทางแห่งความเสื่อม โดยเฉพาะช่องทางสิ้นเปลืองหมดไปของทรัพย์สินเงินทอง

ในการทำมาหาเลี้ยงชีพของคฤหัสถ์นั้น เรื่องสำคัญก็คือ ต้องสามารถเก็บเงินเก็บทองได้ แต่ถ้ามีอบายมุขแล้วเงินก็หมด เก็บไม่ได้ เงินไม่อยู่

พูดตามสำนวนของท่านว่า เงินทองที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น เงินทองที่เกิดขึ้นแล้ว ก็หมดสิ้นไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น