วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (8) khaosod

หลักสูตรอารยชน (8)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



สรุป เป็นอันว่า คนทั่วไป ที่เรียกว่าคฤหัสถ์ มีหลักความประพฤติพื้นฐาน เป็นหลักประกันของชีวิต ได้แก่การปฏิบัติตามหลักในสิงคาลกสูตร ที่เรียกว่าคิหิวินัย คือ วินัยของคฤหัสถ์ ได้แก่ เว้นความชั่ว 14 ประการ แล้วเตรียมชีวิตด้วยการคบหาคนและจัดสรรทรัพย์ให้ดี แล้วก็ไหว้ทิศ 6 พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ 4

เมื่อวางฐานดีอย่างนี้แล้ว ก็ดำเนินชีวิตให้เข้าถึงจุดหมาย ทั้งในขั้นประโยชน์ที่ตามองเห็น ประโยชน์ที่เลยตามองเห็น และประโยชน์สูงสุด ลุถึงสันติสุข และอิสรภาพของชีวิต

เพื่อความสะดวกในการทบทวนและใช้เป็นแนวปฏิบัติ จะสรุปหลักทั้งหมดไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง คือ

1. วางฐานชีวิตไว้ ให้มั่นคงแน่นหนา ด้วยวินัยของคฤหัสถ์ กล่าวคือ

ก. ทำชีวิตให้สะอาด โดยหลีกเว้นความชั่วเสียหาย 14 ประการ

1. เว้นกรรมกิเลส คือ ความประพฤติมัวหมอง 4 อย่าง

2. เว้นอคติ คือ ความลำเอียงประพฤติคลาดจากธรรม 4 อย่าง

3. เว้นอบายมุข คือ ช่องทางแห่งความเสื่อมทรัพย์อับชีวิต 6 อย่าง

ข. เตรียมทุนชีวิตให้พร้อม โดยสร้างและวางแผนทุนสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม 2 ด้าน คือ

1. เลือกหาคบคน โดยหลีกเว้นมิตรเทียม 4 จำพวก และคบหามิตรแท้ 4 ประเภท

2. จัดสรรทรัพย์ วางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจนเป็นที่มั่นใจ

ค. สร้างสรรค์สังคมให้สวัสดี ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล

1. ทิศ 6 ทำหน้าที่ถูกต้องสมบูรณ์ ต่อบุคคลรอบด้าน

2. สังคหวัตถุ 4 ยึดเหนี่ยวใจคน และประสานสามัคคีของหมู่ชน ให้สังคมมั่นคงมีเอกภาพ

2. นำชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย เป็นบัณฑิต และดำเนินชีวิตให้บรรลุ "อัตถะ" ทั้ง 3

1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ทันตาเห็น โดยมีสุขภาพดี ครอบครัวดี พึ่งตัวได้ในทางเศรษฐกิจ และเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

2. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เลยตาเห็น โดยมีความอิ่มใจ ภูมิใจ สุขใจ มั่นใจ ในคุณธรรมความดี ความมีชีวิตที่สะอาดสุจริต มีคุณค่า เป็นประโยชน์

3. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด โดยมีปัญญารู้แจ้งเห็นความจริงของโลกและชีวิต วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย มีจิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นอิสระ สุขเกษม ถึงสันติ

ตามหลักที่พูดมานี้แสดงว่า แม้จะเป็นชาวบ้าน คือ คฤหัสถ์ ก็มีชีวิตที่ดีงาม เจริญก้าวหน้า จนกระทั่งเลิศประเสริฐได้

จะเห็นว่า ในพุทธกาล คฤหัสถ์ก็เป็นอริยบุคคลกันมากมาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้เป็นพระแล้วลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังเป็นพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะเป็นอุบาสก ยังมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนาอยู่ ทุกคนจึงต้องมาช่วยกัน

ที่ว่า "ช่วยกัน" นั้น อาจจะมองในแง่การบำรุงพระพุทธศาสนา อันนั้นก็ถูก แต่ที่จริง การรับผิดชอบ ก็คือการปฏิบัติตัวเองตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเผยแผ่ความดีออกไป ก็เป็นการทำหน้าที่ของอุบาสกที่ดี เมื่อทำได้อย่างนี้ ตนเองก็จะมีชีวิตที่ดีงาม พร้อมกับช่วยเหลือสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุข มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

ภาคผนวก

เพื่อความสะดวกในการศึกษา ทบทวน และตรวจสอบการปฏิบัติ จึงนำหลักธรรมที่เป็นมาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ หรือหลัก สูตรอารยชน ที่ได้แสดงไว้ข้างต้น มาประ มวลไว้ ให้เห็นระบบทั้งหมด ดังต่อไปนี้

วินัยชาวพุทธ - หลักสูตรอารยชน

พระสงฆ์มีวินัยของพระภิกษุ ที่จะต้องประพฤติให้เป็นผู้มีศีล ชาวพุทธและมนุษย์ทั่วไป ก็มีวินัยของคฤหัสถ์ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น