วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (7) khaosod

หลักสูตรอารยชน (7)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



แต่พอถึงประโยชน์สูงสุดคือ ปรมัตถ์ แล้ว จะมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีจิตใจบริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นอิสระ ไร้ทุกข์

ถึงจะประสบโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายร้ายฝ่ายดี คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขหรือทุกข์ ก็รู้ทันตามเป็นจริง จิตใจไม่หวั่นไหว เรื่องชั่วนั้นพ้นไปนานแล้ว แล้วยังไม่ทุกข์เพราะความดีด้วย เลยพ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถเอาประโยชน์และใช้ประโยชน์ ทั้งสิ่งที่น่าชอบใจ และสิ่งไม่น่าชอบใจนั้นด้วย กับทั้งเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นท่ามกลางกระแสที่ปั่นป่วนผันแปรในโลก

นี้เรียกว่ามาถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด หลุดพ้นอยู่นอกเหนือสิ่งผูกรัด กิเลสและความทุกข์ทาบไม่ถึง ปลอดโปร่งโล่งเบา ผ่องใสเบิกบานได้ตลอดเวลา

ทั้งสามขั้นนี้เรียกว่า อัตถะ หรือจุดหมายของชีวิต 3 ระดับ ที่เราควรจะเข้าไปขึ้นให้ถึง

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะต้องให้ได้อย่างน้อยขั้นที่หนึ่ง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ที่ตามองเห็น ให้มีทรัพย์สินเงินทอง อย่างน้อยพอพึ่งตัวเองได้ สามารถสังคมกับคนอื่นได้ มีชีวิตครอบครัวก็อยู่กันดี รักษาสุขภาพไว้

แล้วใช้ทิฏฐธัมมิกัตถะนั้นเป็นฐาน พยายามเข้าถึงสัมปรายิ-กัตถะ คือประ โยชน์ลึกซึ้งเลยต่อไปที่ตามองไม่เห็น ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม พัฒนาชีวิตของตน พัฒนาจิตใจ ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์

จนกระทั่งเข้าถึงขั้นที่สามคือ ปรมัตถะ ซึ่งทำให้จิตใจเป็นอิสระด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต ก็จบสมบูรณ์

สำหรับข้อที่ 3 นี้ บางทีท่านพูดให้คนทั่วไปฟังง่ายๆ โดยไม่ออกชื่อเลย เพราะคนทั่วไปจะเน้นข้อ 1 คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ส่วนข้อ 2 และ 3 ก็รวมเข้าด้วยกันเป็นข้อเดียว คือรวมข้อ 3 เข้าในข้อ 2 เอาปรมัตถะรวมเข้าไว้ในสัมปรายิกัตถะ

คนที่บรรลุประโยชน์เหล่านี้ ถือเป็นคนแบบอย่างได้ เป็นคนมีชีวิตที่ดี ซึ่งเรียกว่าเป็น "บัณฑิต" ดังมีคาถาว่า

ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก

อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

แปลว่า ประโยชน์ในปัจจุบันที่ตามองเห็น อย่างหนึ่ง ประโยชน์ที่ลึกซึ้งเลยตาเห็นออกไป อีกอย่างหนึ่ง เพราะบรรลุประโยชน์ทั้งสองนี้ จึงเรียกว่าเป็นบัณฑิต

คนเราที่จะเป็นบัณฑิต ก็เพราะเข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ว่ามานั้น เมื่อว่าตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ถือว่า แม้จะเรียนจบอะไรต่ออะไร ถ้าไม่บรรลุประ โยชน์ที่ว่านี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นบัณฑิต

แต่ใครจะเรียนวิชาอะไร หรือไม่เรียนก็ตาม ถ้าสามารถดำเนินชีวิตได้จนถึงจุดหมายนี้ ก็เป็นผู้มีการศึกษา ท่านถือว่าเป็นบัณฑิต ซึ่งแปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ผู้ที่บวชเรียนแล้ว คนโบราณเรียกว่า ทิด ซึ่งสันนิษฐานกันไปมาก็ได้ความว่า ที่ถูกควรจะเขียนเป็น "ฑิต" เพราะเป็นคำย่อหรือคำกร่อนของคำว่า บัณฑิต

ในภาษาไทย ตัว ฑ มณโฑนี่ เรานิยมอ่านเป็น ท แต่ในภาษาบาลีอ่านออกเสียงเป็น ด เด็ก เช่น ปณฺฑิโต พอแผลงมาเป็นไทยแล้วอ่านแบบบาลีก็เป็นบัณฑิต (บัน-ดิด) แต่พอตัดเป็นตัวเดียวเหลือแต่ "ฑิต" เราก็อ่านแบบไทยแท้ เป็น ทิด ไป เพราะฉะนั้น ทิด ก็คือฑิต และก็คือบัณฑิต

คนที่บวชเรียนแล้ว ลาสิกขามาเรียกว่า ฑิต ก็คือเป็นบัณฑิต เมื่อเป็นบัณฑิตก็ต้องดำเนินชีวิตให้เข้าถึงจุดหมาย 3 ประการ หรือที่ย่อเป็น 2 ประการอย่างที่พูดมาแล้ว จึงจะสมชื่อว่าเป็นบัณฑิต เป็นแบบอย่างในการดำเนินแนวทางของชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บวชเรียน ถึงจะไม่ได้บวชกาย ก็บวชใจได้ แม้จะเป็นคฤหัสถ์ก็เล่าเรียนพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมได้ เมื่อเป็นชาวพุทธแล้วก็ควรทำตัวให้เป็นบัณฑิต ดำเนินชีวิตให้ถึงจุดหมายขั้นต่างๆ ที่ได้พูดมานี้เหมือนกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น