วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐินทาน khaosod


กฐินทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


การถวายผ้ากฐิน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนเท่านั้น มีระยะเวลาที่จะกระทำทานชนิดนี้ได้เพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในปี พ.ศ. 2555 นี้ เริ่มวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน

การทอดกฐิน เป็นประเพณีสำหรับชาวพุทธที่มีศรัทธาเลื่อมใส ประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มพูนบุญกุศล นำความสุขมาให้

กฐิน มี 2 ประเภท คือ

1. มหากฐิน การทอดกฐินที่มีการจัดเตรียมกันระยะเวลานานเป็นเดือนจนถึงวันทอด เพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ เพื่อพัฒนาถาวรวัตถุภายในวัดตามความจำเป็นและให้เจริญรุ่งเรือง

2. จุลกฐิน การทอดกฐินที่มีเวลาเร่งด่วน เหลือเวลาเพียงวันเดียวจะหมดเขตกฐินแล้ว ต้องรีบจัดของที่เป็นอุปกรณ์องค์กฐินและบริวารกฐินให้ทันเวลา โดยส่วนมากจุลกฐินจะมีสำหรับวัดที่มีกฐินตกค้างซึ่งไม่มีใครมาทอด สาธุชนเกรงว่าพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย จึงรีบจัดการทอดกฐินในวันสุดท้าย

การทอดกฐิน แบ่งตามประเภทของวัด คือ พระอารามหลวง (วัดหลวง) ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์น้อมนำไปพระราชทาน เรียกว่า กฐินหลวง

นอกจากกฐินหลวงโดยตรงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน น้อมนำไปถวายตามพระอารามหลวงต่างๆ เรียกว่า กฐินพระราชทาน

วัดราษฎร์ทั่วไป จะมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หรือผู้มีจิตศรัทธานำไปถวายตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง เรียกว่า กฐินราษฎร์ หรือกฐินสามัคคี

การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ เพราะเป็นสังฆทาน มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพราะเป็นการถวายทานตามกาล มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัด และเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวาย

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนรับกฐินได้ เมื่อรับแล้วต้องสามัคคีกันปฏิบัติตามพระวินัยให้ถูกต้องจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

1. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา คือ รับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งสามารถไปที่อื่นได้อีกโดยมิต้องบอกลาภิกษุอื่น

2. เที่ยวไปโดยไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบ

3. ฉันคณโภชน์ได้ คือ ทายกทายิกานิมนต์รับอาหาร ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปรับแล้วนำมาฉันรวมกันได้

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ ภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้

5. จีวรเกิดขึ้นในวัดนั้น เธอมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง

พระภิกษุผู้ได้รับกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์นี้ เป็นเวลา 4 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น