วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กตัญญู khaosod


กตัญญู

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ความกตัญญู" หมายถึง ผู้รู้จักคุณท่านผู้มีอุปการคุณ การรู้พระคุณท่านที่เคยมีอุปการคุณ หรือที่เคยมีบุญคุณต่อเราก่อนแล้วตอบแทนคุณท่าน ชื่อว่า "กตัญญูกตเวที" ส่วนท่านผู้เคยให้ความอุปการะหรือมีบุญคุณนั้น เรียกว่า "บุพการี"

ความกตัญญูนั้น จัดเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นอุดมมงคล เป็นเครื่องหมายของคนดี มีคุณธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขแก่ชีวิตแต่ฝ่ายเดียว

คุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นี้ จึงเป็นคุณธรรม หรือข้อปฏิบัติที่คู่กับบุญคุณ หรืออุปการคุณที่ท่านได้ทำอุปการคุณให้แล้วก่อน ไม่ว่าท่านผู้กระทำอุปการคุณนั้น จะมีความประพฤติปฏิบัติเช่นไรก็ตาม ก็ชื่อว่า "บุพการี" ของผู้ได้รับอุปการคุณนั้น

ผู้เคยได้รับอุปการคุณนั้นพึงรู้คุณ พึงระลึกถึงและตอบแทนพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณนั้น ตามกำลังและโอกาสจะอำนวยให้ ก็จะเป็นอุดมมงคลแก่ตน ให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เสมอ ดังเช่น พ่อแม่ เป็น บุพการี คือ ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่ของลูกๆ ด้วยว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยเมตตาและกรุณาธรรม มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกรักมีความสุขและความเจริญ ลูกมีทุกข์ก็ปรารถนาจะให้ลูกพ้นทุกข์ พ่อแม่จึงชื่อว่าเป็น "พรหม" คือ ผู้ประเสริฐของลูก

ลูกๆ ทั้งหลาย เมื่อรู้และระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่แล้ว พึงปฏิบัติดีตอบแทนพระคุณท่าน โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า

1. ช่วยทำกิจของท่านด้วยความเต็มใจ ไม่บิดพลิ้ว หรือคอยหลีกเลี่ยง

2. ดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ให้ดี ไม่ทำให้เสื่อมเสีย

3. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทของท่าน

4. ปรนนิบัติและรักษาน้ำใจท่าน ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำตา เสียน้ำใจ เพราะความประพฤติไม่ดีของตน

5. ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เมื่อเรามีกำลังพอก็เลี้ยงดูท่านตอบ

6. ท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้

นอกจากลูกๆ จะพึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ดังกล่าวแล้ว สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิก ก็พึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และศิษยานุศิษย์ ก็พึงรู้คุณและตอบแทนคุณครู อาจารย์ และแม้ชนทั้งหลาย ก็พึงรู้คุณและหาโอกาสตอบแทนพระคุณผู้เคยมีอุปการคุณแก่ตน ด้วยเช่นกัน

ผู้ทรงคุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นั้น ย่อมจะเป็นผู้เจริญในทุกที่ เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคลข้อ "ความกตัญญู" นี้ว่า เป็น "อุดมมงคล" คือ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุด ข้อหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น