วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กามคุณ khaosod


กามคุณ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า กามคุณ แปลว่า อารมณ์เป็นเหตุใคร่ ได้แก่ อารมณ์อันเป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ น่าพึงใจ ซึ่งรวมเรียกว่าว่า กามคุณ ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ

1. รูป ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันตาจะพึงแลเห็นได้ จะเป็นรูปคนก็ตาม รูปสัตว์ต่างๆ ก็ตาม รูปภาพ รูปปั้น รูปแกะสลัก หรือรูปพัสดุต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อตาได้ประสบ มองเห็น แลเห็น เหลียวเห็น พบเห็นเข้าแล้ว ก็ทำใจให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ ยินดี พอใจ อยากเป็นเจ้าของ อยากได้ อยากมี อยากอยู่ใกล้ชิด และที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว ที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องการจะให้พลัดพรากจากไป ห่วงอาลัย หวงแหน ในรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณ ประการหนึ่ง

2. เสียง ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันหูจะพึงได้ยินได้ฟัง จะเป็นเสียงคนก็ตาม เสียงสัตว์ก็ตาม หรือเสียงวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อหูได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ทำใจให้เพลิดเพลินติดใจ พัวพัน หมกมุ่น อยู่ในเสียงนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

3. กลิ่น ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจมูกจะพึงสูดดมได้ จะเป็น กลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์ก็ตาม หรือกลิ่นหอมจากเครื่องปรุงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อจมูกได้สูดดมกลิ่นแล้วก็เป็นที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าพึงใจ น่าชอบใจ ทำใจให้เพลิดเพลิน ติดใจพัวพัน หมกมุ่นในกลิ่นนั้นๆ และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

4. รส ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัยอันจะพึงลิ้มรสได้ จะเป็นรสอาหารก็ตาม รสสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม เมื่อลิ้นได้ลิ้มเข้าแล้ว ก็เป็นที่น่าติดใจ น่าปรารถนา น่าพึงใจ น่าชอบใจ ก็ทำใจให้ติดข้อง พัวพัน หมกมุ่นอยู่ในรสนั้นๆ และไม่อยากพลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

5. โผฏฐัพพะ ได้แก่ สิ่งที่เป็นวิสัย อันกายจะพึงถูกต้องสัมผัสได้ จะเป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม หรือพัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เมื่อกายได้ถูกต้องสัมผัสเข้าแล้ว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ ติดใจ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น และไม่อยากให้พลัดพรากจากไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นกามคุณประการหนึ่ง

กามคุณทั้ง 5 ประการดังกล่าวมานี้ รวมเรียกว่า วัตถุกาม ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งกิเลสกาม มีราคะ โลภะ เป็นข้อต้น มีอิสสา จริต เป็นข้อสุด เมื่อบุคคลใดปล่อยใจให้ลุ่มหลงติดอยู่ หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จนเกินพอดี บุคคลนั้น ย่อมได้รับทุกข์เดือดร้อนมีประการต่างๆ ในกาลภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น