คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
สุจริต แปลว่า การประพฤติชอบ การประพฤติดี หมายถึง การประพฤติที่เป็นเหตุให้บุคคล เป็นคนดี เป็นที่พึงประสงค์ เป็นที่ปรารถนาของอารยชน
คนเราจะมีคุณค่า หรือมีความดีที่คนอื่นเห็นความสำคัญ ให้ความยกย่องนับถือ หรือไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมคบหาสมาคมเพราะมีดีอยู่ในตัว เช่น มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์ดี เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ การประพฤติดี เพราะคนที่มีความประพฤติดีเป็นพื้นฐาน แม้ดีอย่างอื่นจะบกพร่องไปบ้าง ก็ยังพอจะเอาตัวรอดเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ หรือยังพอที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้
ผู้มีความประพฤติดีจึงเป็นผู้มีสมบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารสมบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักสุจริตธรรม เป็นเครื่องกำหนดวัดบุคคลว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี คือ มีพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกทางกายและทางวาจาในทางที่ดี รวมถึงความนึกคิดที่ดีอันเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น จำแนกตามเป็น 3 ทาง คือ
1. กายสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางกาย ได้แก่ การเว้นคือไม่ใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
2. วจีสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางวาจา ได้แก่ การงดเว้นคือไม่ใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1. เว้นจากการพูดเท็จ
2. เว้นจากการพูดส่อเสียด
3. เว้นจากการพูดคำหยาบ
4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
3. มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทางใจ ได้แก่ ความรู้จักยั้งคิดไม่ปล่อยจิตให้คิดชั่วร้ายหมายปองทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่น แต่ให้คิดดีถูกต้องตามหลักกุศลธรรม จำแนกเป็น 3 คือ
1. ความไม่โลภอยากได้ของเขา
2. ความไม่พยาบาทปองร้ายเขา
3. ความเห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต 3 อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญ คือ เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรประพฤติ ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตน
การทำบุญย่อมอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำมีความสบายกาย สบายใจ และเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรียกว่า ไปดี การประพฤติสุจริตนั้นเป็นเหตุให้เกิดความสุข คือ ความสบายกาย ความสบายใจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุคือการทำความดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น