วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (1) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (1) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



เป็น ที่ทราบกันดีว่า ความขาดวินัยเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ขณะนี้เราต้องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และวินัยก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่สามารถสร้างวินัยให้แก่คนในชาติได้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็หวังผลสำเร็จได้น้อย เพราะว่า ในประเทศประชาธิปไตยนั้น สังคมอยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์ และกติกา คนต้องเคารพหลักการ กฎเกณฑ์ และกติกา และความเคารพกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมนั้น ก็คือความหมายอย่างหนึ่งของความมีวินัย

ถ้าไม่มีวินัย ไม่มีความเคารพกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ประชาธิปไตยก็ขาดรากฐานที่สำคัญ จะเป็นไปด้วยดีไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ โดยเฉพาะในทางการศึกษา จะต้องหาทางสร้างสรรค์ปลูกฝังพัฒนาประชาธิปไตยให้สำเร็จบนพื้นฐานของความมี วินัย

ที่มาและความหมายของวินัย

ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการสร้างวินัย ควรจะเข้าใจความหมายของวินัยสักเล็กน้อย

คำว่า วินัย เป็นคำใหญ่มาก มีความหมายกว้างกว่าที่เราใช้กันทั่วไปมาก และเป็นคำศัพท์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มักใช้ควบคู่กับคำว่า ธรรม ดังที่มีคำเรียกพระพุทธศาสนาว่า "ธรรมวินัย" และคำทั้งสองนี้มีความหมายสัมพันธ์กัน พระพุทธศาสนาถือว่า ความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องธรรมดามีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติและธรรมดานี่แหละ คือ ธรรม

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมคือความจริงนั้นแล้ว ก็ทรงนำมาประกาศเผยแพร่ สั่งสอนชี้แจงแสดงให้เข้าใจง่าย หน้าที่ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับธรรมก็เพียงทรงค้นพบ แล้วนำมาประกาศและสั่งสอน เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ

การที่จะให้ความจริงของธรรมชาติมีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ในสังคม ก็ต้องนำหลักความจริงคือธรรมนั้นมาจัดตั้ง วางเป็นระบบระเบียบ โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยเป็นเหตุเป็นผล แก่กันนั้น พูดสั้นๆ ว่า เอาหลักเกณฑ์ในกฎธรรมชาตินั้น มาวางรูปเป็นกฎในหมู่มนุษย์ จากกฎในธรรมชาติก็มาเป็นกฎในหมู่มนุษย์ การจัดตั้งวางระบบระเบียบในหมู่มนุษย์นี้แหละเรียกว่า "วินัย"

กฎของธรรมชาติ เรียกว่า "ธรรม"

กฎของมนุษย์ เรียกว่า "วินัย"


กฎ 2 อย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน คือ

ประการ ที่ 1 โดยหลักการสำคัญ วินัย ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือ ต้องมีความจริงในธรรมชาติเป็นฐานอยู่ ถ้าไม่มีความจริงในธรรมชาติเป็นฐาน วินัยก็ไม่มีความหมาย

ประการที่ 2 การที่เราจัดวางกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นในหมู่มนุษย์ ก็เพื่อจะให้ได้ผลตามธรรม และมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมนั่นเอง คือเพื่อจะให้การทำตามธรรมนั้นเกิดผลเป็นจริงในหมู่มนุษย์ เราจึงได้วางกฎเกณฑ์ของมนุษย์ขึ้นมา

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามนุษย์จะปฏิบัติตามและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ดีที่สุด เราจึงวางกฎมนุษย์ขึ้นมา

กฎธรรมชาติมีอยู่เป็นธรรมดา ส่วนกฎมนุษย์นั้นเป็นกฎสมมติ

"สมมติ" คือ การตกลงร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน

"สมมติ" มาจาก "สัง" + "มติ" มติ แปลว่า การยอมรับ หรือการตกลง "สัง" แปลว่า ร่วมกัน "สมมติ" จึงมีความหมายว่า ข้อตกลงร่วมกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า convention

สมมติ ไม่ใช่สิ่งเหลวไหล แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้เข้าใจในหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วนำความรู้นั้นมาจัดวางเป็นข้อกำหนดเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น เมื่อเราจ้างคนขุดดิน ก็จะมีการวางกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลขึ้นมา กฎที่เราวางขึ้นนั้น เป็นกฎของมนุษย์ คือเป็นกฎสมมติ แต่เราวางกฎสมมตินั้นขึ้น โดยอาศัยความรู้ในความเป็นเหตุเป็นผลที่มีจริงเป็นจริงอยู่ในกฎธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จึงมีกฎ 2 กฎซ้อนกันอยู่ คือ กฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ กับกฎมนุษย์ที่เป็นสมมติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น