วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (15) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (15) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักการแห่งธรรมวินัย ก็จะเกิดผลร้าย คือมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม

อัน นี้จะเห็นได้ในบางสังคม ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่ คนมีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก จนแม้แต่จะละเมิดกฎเกณฑ์กติกา ก็ไม่เอาใจใส่ มองข้ามไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น ทำให้หลักการ ทั้งในความจริงของธรรมชาติ และในสังคมมนุษย์ ที่เรียกว่า ธรรมวินัย เลือนรางจางหายลงไป กลายเป็นว่า หมู่มนุษย์ไม่ปฏิบัติตามธรรมและวินัย เหมือนกับร่วมกันหรือสมคบกันทำลายตัวธรรมตัววินัยลงไปเสีย แล้วผลร้ายก็จะเกิดแก่สังคมของมนุษย์เองในระยะยาว

ในทางตรงข้าม ถ้าเราจะเอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ละเลยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคล มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อย คนไม่เอาใจใส่กัน ก็จะกลายเป็นระบบตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกา ต่อหลักการ ต่อตัวธรรม ตัววินัย กฎหมายหรือกติกาว่าอย่างไร ก็ทำตามนั้น คุณจะทำอะไร คุณก็ทำไป แต่อย่าให้ผิดกฎผิดระเบียบนะ ฉันจัดการทันที ในระหว่างนี้ตัวใครตัวมัน ไม่เกื้อกูล ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจ

ใน สังคมแบบนี้ ก็เอียงไปอีก ชีวิตแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น มนุษย์จะมีความเครียด จิตใจไม่สบาย และถ้าขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จนเกินควรถึงขีดหนึ่ง คนจะเริ่มเกิดโทสะ แค้นเคืองว่าไม่มีใครเอาใจใส่กันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย คราวนี้ไม่เอาละ หลักการกฎเกณฑ์กติกาก็ทำลายมันเลย ก็เสียอีก

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้ารักษาไว้ให้พอดี สังคมก็จะสมดุล โลกมนุษย์ก็มีสันติสุข

ที่ว่ามานี้เกี่ยวข้องกับวินัยตรงไหน ก็ตรงที่ว่าวินัยนั้นอยู่ในส่วนของกฎเกณฑ์กติกาที่เนื่องมาจากธรรม

หมาย ความว่า เราจะต้องให้ความสำคัญแก่วินัย ที่เป็นมาตรฐานของสังคม เช่น กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบต่างๆ อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปเด่นเหนือวินัย

ในบางสังคม เหตุสำคัญที่วินัยไม่สามารถเกิดขึ้นก็เพราะว่าประชาชนเอาความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลมากเกินไป มีการอุปถัมภ์กัน ช่วยเหลือกัน จนกระทั่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พัฒนาตน ก็ได้แต่คอยรอพึ่งพาคนอื่น เพราะสามารถหวังความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นต้นได้ เราไม่ต้องทำก็ได้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็มาช่วยเอง เราทำผิดหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวไปบอกเจ้านาย ถึงอย่างไรท่านก็เมตตา ก็เลยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม

ในกรณีอย่างนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นตัวเด่นเกินไป สังคมก็เสียดุลยภาพ เพราะคนขาดอุเบกขา กฎเกณฑ์กติกาหลักการ ทั้งตามธรรมชาติและของสังคมคือตัวธรรมวินัย ถูกละเลย

ส่วนในบาง สังคม ความสัมพันธ์มีน้ำใจช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลนี้ เขาไม่เอาใจใส่ เขาเอาแต่หลักการและตัวกฎเกณฑ์กติกา เรื่องตัวคนไม่เกี่ยว ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง ว่าไปตามกฎ จนกระทั่งเลยเถิด ก็กลายเป็นตัวใครตัวมันอย่างที่ว่าแล้ว

ฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้จึงยาก ธรรมยากตรงนี้แหละ คือต้องคอยระวังว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดความพอดี นี้คือความพอดีอย่างหนึ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ดุลยภาพ ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ และอันนี้ก็คือหลักพรหม วิหารนั่นเอง

พรหมวิหาร ประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรักความปรารถนาดี มีไมตรีกัน ยามปกติ

๒. กรุณา ความพลอยหวั่นใจเห็นใจ อยากช่วยเหลือ ยามเขาตกต่ำเดือดร้อน

๓. มุทิตา ความพลอยยินดี อยากส่งเสริมสนับสนุน ยามเขาขึ้นสู่ความดีงามความสุขความสำเร็จ

๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบ ตามธรรม ตามวินัย

สาม ข้อแรก วางไว้สำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหมู่มนุษย์ ที่บอกสั้นๆ ว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติ เรามีเมตตาไมตรี ยามเขาตกต่ำ เรามีกรุณา ยามเขาได้ดีมีสุข เราก็มีมุทิตา

นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่หนักไปทางด้านความรู้สึก แทบไม่ต้องใช้ปัญญา

แต่ พอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ส่งผลเสียหายไปกระทบต่อตัวธรรม ตัววินัย ตัวหลักการ ตัวกฎกติกาขึ้นมา เราต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อรักษาตัวธรรมตัววินัยนั้นไว้ ตอนนี้ไม่ใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้ปัญญามาก เอาความรู้มาปรับหรือแม้แต่ระงับความรู้สึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น