วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (5) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (5) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



เวลานี้เราใช้คำว่า "ศีล" ในความหมายแคบมาก ก็เลยต้องใช้คำว่าความมีวินัย ที่จริงความมีวินัยนั่นแหละ คือความหมายของคำว่าศีล

วินัย เป็นเรื่องข้างนอก เมื่อใดมันเกิดเป็นคุณสมบัติของคน คือการตั้งอยู่ในวินัยกลายเป็นความประพฤติตามปกติของเขา ก็เรียกว่า ศีล แล้วต่อมาก็ใช้ปนกันไป

ที่จริง ศีล เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หรือการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ได้แก่ การฝึกในระดับวินัย

วินัย เป็นเครื่องฝึก ส่วนการปฏิบัติตนในการฝึกตามวินัยนั้นเป็นศีล ศีลเป็นเรื่องของตัวคน เป็นการพัฒนาตัวของคน เป็นคุณสมบัติของคน

วินัย เป็นคำกว้าง ใช้เป็นคำเอกพจน์อย่างเดียว หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ หรือประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบทั้งหมด แต่เมื่อแยกเป็นข้อๆ แต่ละข้อ เรียกว่า "สิกขาบท" แปลว่า ข้อศึกษา หรือข้อฝึกหัด

วินัยเป็นเรื่องของการฝึกมนุษย์ เพราะฉะนั้น บทบัญญัติแต่ละข้อที่จัดวางขึ้นมาจึงถือเป็นข้อฝึกคนทั้งนั้น และจึงเรียกว่าสิกขาบท

ศีล 5 เป็นศัพท์ชาวบ้าน ศัพท์ทางพระแท้ๆ เรียกว่า สิกขาบท 5 เพราะ เป็นข้อฝึกหัด 5 ข้อ ในระบบการฝึกคน ที่เรียกว่าการศึกษา ท่านจัดเป็น 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การฝึกในระดับต้นๆ เมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าศีล

การ ฝึกศีล คือฝึกให้มีศีลนั้น ก็ทำด้วยวินัยนั่นเอง ฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกคนให้มีศีล ที่พูดกันว่าฝึกให้มีวินัยนั้น ที่ถูกแท้ต้องพูดว่าฝึกให้มีศีล หรือฝึกด้วยวินัยให้มีศีล

ตอนนี้เอาเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายหลายศัพท์จะยิ่งยุ่ง

สรุป ว่า การฝึกคนให้มีวินัย คือการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง การฝึกในขั้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งในระบบการศึกษาจะต้องโยงกันหมดกับการศึกษาส่วนอื่นทุกด้าน คือ ต้องโยงไปถึงสมาธิ ปัญญาด้วย จึงจะได้ผลจริง

วินัยคือการจัดสรรโอกาส

วินัย นี้มักจะเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือไปเข้าใจเป็นเครื่องบังคับควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่ได้พัฒนา

ความ หมายที่ต้องการของวินัยเป็นความหมายเชิงบวก กล่าวคือ วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก

ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาส ในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี - ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่น ในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน

แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของ เรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดิน ก็เว้นไว้เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด

ฉะนั้น ในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวง กว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่า ถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคลก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล

ฉะนั้น การจัดวางวินัย จะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่น ต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น