วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (7) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (7) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วิธี ที่ 1 นี้ก็คือ เมื่อเขาเริ่มต้นชีวิต เข้าสู่สังคม เข้าสู่ชีวิตใหม่ เข้าสู่หมู่ใหม่ เราก็ถือโอกาสตอนนั้น โดยรู้ทันความจริงว่า คนเราเมื่อมีชีวิตอยู่ เขาต้องมีการเคลื่อนไหว เขาจะมีการเคลื่อนไหว คือมีพฤติกรรมนั้น ในเวลาที่เจอประสบการณ์ หรือมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเขาจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเขาจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เคลื่อนไหว อย่างใดอย่างหนึ่ง มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อเขาทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว เมื่อเขาเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมอย่างนั้นซ้ำอีก พอทำอย่างนั้นหลายครั้งเข้า แล้วเขาก็จะชิน และพฤติกรรมอย่างนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขา

ก่อน ที่จะเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชิน นั้น ถ้าพฤติกรรมที่เขาทำครั้งแรกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเสียเปรียบหรือเริ่มเสียโอกาสแล้ว แล้วก็มีหวังว่าพฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขาต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทีนี้พอเคยชินแล้ว คราวนี้เราก็ลำบาก แก้ไขยาก เขาก็จะมีพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นติดตัวไป

ฉะนั้น เพื่อชิงให้เกิดพฤติกรรมที่ดีไว้ก่อน และกันพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ให้เกิดขึ้น เรารีบเอาพฤติกรรมที่ดีที่เราเรียกว่าวินัย คือพฤติกรรมเคยชินที่ดีเข้าไปให้เสียก่อน พอพฤติกรรมที่ดีเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ 1 และเขาจับเอาพฤติกรรมนั้นได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพอเจอสถานการณ์อย่างนั้นครั้งที่ 2 เขาก็จะทำอย่างนั้น พอ 3-4 ครั้ง คราวนี้ลงตัวแล้ว กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดี คราวนี้ก็สบายแล้ว

ฉะนั้น จึงควรใช้วิธีพื้นฐานในการสร้างวินัยซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนี้ ถ้าเราไม่ทำเราก็ต้องเสียโอกาส ถึงอย่างไรมันก็ต้องเคยชินไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เราก็ชิงให้ชินไปในทางที่ดีเสียเลย ฉะนั้น จึงเอาพฤติกรรมเคยชินมาเป็นพื้นฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้นในการสร้างวินัย โดยการทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี

หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลก ยังไม่มีพฤติกรรมเคยชินอะไรทั้งนั้น เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดี ก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย

เมื่อมีคนมาเข้า สู่ชุมชนใหม่ มาโรงเรียนใหม่ ถ้าคนที่อยู่ก่อนประพฤติกันอย่างไร คนที่มาใหม่ก็พลอยตามไป ในเวลาที่มีสถานการณ์อย่างนี้คนทำงานเก่า หรือหัวหน้าเคยทำกันอย่างไร คนที่มาเข้างานใหม่ ก็จะทำตามอย่างนั้น แล้วเขาก็จะเคยชิน ต่อไปเขาก็จะทำอย่างนั้น มีพฤติกรรมอย่างนั้น โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องรู้ตัว

เพราะฉะนั้น ถ้าหัวหน้างานเป็นคนมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดี ก็รีบนำทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตอนแรกให้ดี พอได้ทำอย่างใดแล้ว คนใหม่นั้นก็จะติด เกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน เป็นวินัย ก็สบายไปเลย

แต่ถ้าตอนแรกไม่ใช้โอกาส มัวปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างอื่นไปแล้ว คราวนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก ต้องยุ่งยากลำบากใจเรื่อยไป

ใช้วินัยที่ลงตัวแล้ว คือวัฒนธรรม มาช่วย

วัฒนธรรม ก็มาช่วยในเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่น พ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย พอเจอครั้งแรก แกก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ 2 เด็กก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ 3 ก็เข้าแถว จากนั้นเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเอง จากการถ่ายทอดตามความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น