วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระคุณพระพุทธเจ้า khaosod

พระคุณพระพุทธเจ้า

คอลัมน์ ศาลาวัด



พระคุณของพระพุทธเจ้ามีมากมายมหาศาล ยากที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำหรือตัวอักษรให้หมดสิ้น

ดัง ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงพรรณนาไว้ในหนังสือสมถกัมมัฏฐาน (หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก) ตอนหนึ่ง ความว่า

"แท้จริงคุณของพระ พุทธเจ้านั้น ถ้าจะกล่าวพรรณนาไปเป็นอย่างๆ แล้ว พระคุณมากนัก ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ใครมีปัญญามาก รู้มาก ก็ระลึกตรึกคิดไปได้มาก ใครมีปัญญาน้อย รู้น้อย ก็ระลึกตรึกคิดไปได้น้อย เหมือนอย่างคนที่มีเชือกสมอยาว ทอดสมอลงไปในน้ำลึก คนที่มีเชือกสายสมอสั้น ทอดได้แต่ในที่น้ำตื้นๆ ฉันนั้น..."

พระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อย่อกล่าวให้สั้นที่สุด (ตามพระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ) สามารถย่อได้ 2 ประการ คือ พระปัญญาคุณ กับ พระกรุณาคุณ

พระปัญญาคุณ หมายถึง พระปรีชาญาณที่รอบรู้ทั่วไปในสภาวธรรมที่จริง คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น และสภาวธรรมที่ไม่จริง คือสิ่งสมมติว่าสัตว์ บุคคล เป็นต้น ทรงละสภาวธรรมที่ไม่จริง

ทรงนำสภาวธรรมที่จริงนั้นมาเป็นอารมณ์ พิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกิเลสกับทั้งวาสนาขาดจากกันขันธสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด ไม่กลับมากำเริบเกิดขึ้นอีก

ส่วนพระกรุณาคุณ หมายถึง พระคุณที่เป็นส่วนพระกรุณาสั่งสอนสรรพสัตว์ให้พ้นจากสรรพทุกข์ กล่าวคือ ครั้นพระองค์ตรัสรู้สภาวธรรมที่จริงและไม่จริงจนละกิเลสกับทั้งวาสนาของ พระองค์ได้แล้ว ทรงสั่งสอนผู้อื่นให้รู้เห็นตามในสภาวธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น จนได้บรรลุมรรคผล สามารถทำพระนิพพานให้ประจักษ์แจ้งได้ด้วยภูมิปัญญา

เมื่อ ทรงสั่งสอนผู้อื่นเพื่อจะให้ตรัสรู้ตามในสภาวธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ก็หาได้ทรงย่อหย่อนท้อถอยในการที่จะทรงสั่งสอนผู้อื่นไม่

จึงนับว่า พระองค์ทรงมีพระกรุณาแผ่ไพศาลในสรรพสัตว์ โดยทรงมุ่งจะอบรมสั่งสอนให้รับรู้รสพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อันส่งผลให้ สามารถหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ในที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ พระมหาเถระโบราณาจารย์ของไทยยังนิยมกำหนดพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยย่อเป็น 2 ประการ คือ อัตตหิตคุณ พระคุณที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลส่วนพระองค์ และปรหิตคุณ คือ พระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น

อัตตหิตคุณ หรืออัตตหิตสมบัติ เทียบได้กับปัญญาคุณ

ส่วนปรหิตคุณ หรือปรหิตสมบัติ เทียบได้กับกรุณาคุณนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น