วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (4) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (4) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ส่วน วินัย เป็นเรื่องของการบัญญัติ คือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่เป็นความสามารถที่เอาความจริงตามธรรมชาตินั้นมาจัดวาง ให้เป็นระเบียบระบบแบบแผน เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดีตามธรรมนั้น การที่มนุษย์จัดวางวินัยได้ จึงเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง

ใน หมู่มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว การปฏิบัติตามวินัยก็คือการเอาประโยชน์จากธรรมมาใช้ได้นั่นเอง เมื่อเราปฏิบัติตามวินัยได้อย่างดี บนพื้นฐานแห่งธรรมแล้ว ก็จะทำให้สังคมมนุษย์เป็นไปด้วยดี

หลักการนี้จึงแสดงถึงความหมายหลายอย่าง ในความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย เช่น

1.วินัย ที่ถูกต้อง จะต้องตั้งอยู่บนฐาน ของความจริงในธรรมชาติ ถ้ามิฉะนั้น วินัย (ระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์) ก็จะไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ไม่มั่นคง

2.วินัยต้องมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความดีงามของสังคม

ถ้า คนที่บัญญัติจัดวางสิ่งที่เรียกว่าวินัย เช่น กฎหมายเป็นต้น ในสังคมมนุษย์ มีเจตนาไม่ดี มีน้ำใจไม่เป็นธรรม เช่น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น ก็อาจจะจัดวางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม คือ ไม่เป็นไปตามและไม่เป็นไปเพื่อความดีงามที่เป็นหลักความจริง หรือมีความรู้เข้าใจไม่เพียงพอ ขาดปัญญา รู้ไม่เท่าถึงหลักความจริงคือตัวธรรมในธรรมชาติ การวางกฎหมายหรือบัญญัติวินัยนั้นก็จะบกพร่อง แล้วผลที่ต้องการก็จะไม่เกิด

ตัวอย่าง เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร เราต้องการออกกฎหมาย เราก็ต้องเข้าถึงความจริงก่อน ต้องรู้หลักการ เข้าใจชัดว่าความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร อะไรเป็นความมุ่งหมายของการออกกฎหมายนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น เช่น รัฐหรือสังคมที่ต้องการกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็มีเจตนาดี มีใจเป็นธรรม ถ้ามีเจตนาจะเอาผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมา กฎหมายก็ยุ่งไม่เป็นธรรม คือไม่สอดคล้องกับธรรม เสียความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรม วินัยคือการตรากฎหมายก็ไม่สัม ฤทธิผล

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัย คือการจัดตั้งรูปแบบ วางระบบระเบียบต่างๆ ของสังคม เช่น ออกกฎหมาย จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่าง คือ

1.มีปัญญา คือเข้าถึงตัวธรรม รู้ความจริงในเรื่องนั้นๆ รู้บุคคล รู้ชุมชน รู้สังคม รู้ความถูกต้องดีงามที่พึงต้องการ

2.เจตนาดี คือมีเจตนาบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม มุ่งผลที่สอดคล้องตามธรรมที่รู้นั้น

วินัยกับศีล

อนึ่ง ควรจะเข้าใจคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในเรื่องวินัย

วินัย มีคำที่ใช้คู่กันคำหนึ่ง คือ "ศีล" ซึ่งในภาษาไทยปัจจุบันเรานำไปใช้ในความหมายแคบๆ และบางทีก็แตกต่างห่างกันไกลกับคำว่าวินัย แต่ที่จริงศีลและวินัยเป็นคำที่คู่เคียงกันอย่างยิ่ง

ดังได้ กล่าวแล้วว่า วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ เป็นการจัดตั้งตามสมมติ ได้แก่ การจัดระเบียบความเป็นอยู่ และการจัดระบบสังคม ซึ่งแยกเป็นความหมาย 3 อย่าง คือ

1.การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่า วินัย

2.ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้น ก็เรียกว่า วินัย

3.การ ฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่า วินัยเมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้น เรียกว่า "ศีล" ฉะนั้น "ผู้มีศีล" คือผู้ที่ตั้งอยู่ในวินัย การตั้งอยู่ในวินัย หรือที่ชอบเรียกในปัจจุบันว่า ความมีวินัยนี้ เรียกว่า ศีล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น