วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (6) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (6) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ใน การพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้น เราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย

ด้วย เหตุนี้ วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย ต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุป ว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย

ความสำคัญของ วินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน

ความมีวินัยหรือศีลนี้ เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง

พระ พุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้ เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น

เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่า ศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

วิธีเสริมสร้างวินัย

สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธี ฝึกวินัยที่ดีที่สุดอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ คือใช้ธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นเครื่องช่วย คือทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง

หมายความว่า มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนี้ อยู่กันด้วยความเคยชิน ที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นอะไรแล้ว จะปฏิบัติการอะไรอย่างไร เราทำไปตามความเคยชินกันเป็นส่วนใหญ่

ความเคยชินเกิดจากอะไร ก็เกิดตามธรรมดาของธรรมชาติหรือตามธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ทำพฤติกรรมอะไร อย่างไร พอทำไปแล้วครั้งสองครั้ง ก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะชินอย่างนั้น และก็จะทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาๆ จนชิน พอชินแล้วก็ยึดมั่นแล้วก็เกิดความพึงพอใจในพฤติกรรม ที่เคยชินนั้น

พอ ชินแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขยาก ยิ่งยึดมั่นแล้ว ก็ยิ่งถอนยาก และปุถุชนก็จะมีเหตุผลมาปกป้องตนเองเสียด้วย ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน ฉันจะต้องยึดแบบนี้ ใครจะมาบอกให้ทำอย่างอื่นไม่เอา

ฉะนั้น เราจึงต้องถือโอกาส ใช้ความเคยชินของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา

เรา ต้องยอมรับว่า มนุษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน จริงอยู่ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า การที่จะฝึกคนนี้ ต้องใช้ความสามารถ และต้องมีระบบในการฝึก ซึ่งต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บางทีก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ถ้าเขาลงเคยชินอย่างไรแล้ว ก็แก้ยาก เรายอมรับความจริงนี้เสียก่อน

เมื่อเรายอมรับความเคยชินเป็นสำคัญแล้ว เราก็ใช้ความเคยชินเป็นการฝึกขั้นแรก คือฝึกให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

โดยถือว่าต้องสร้างวินัย ให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น