บทสวดพระปริตร
คอลัมน์ ศาลาวัด
บท สวดที่ผู้คนนิยมสวดกันทั่วไป นอกจาก "คาถาชินบัญชร" แล้ว ยังมี "บทสวดพระปริตร" ที่มีพลานุภาพครบถ้วน ทั้งเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดปลอดภัย ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำ ปริตร (ปะหฺริด) ว่า ความต้านทาน, เครื่องป้องกัน ดังนั้น พระปริตร จึงมีความหมายว่า บทสวดเจริญพระพุทธมนต์ที่เป็นเครื่องป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ
บทสวด พระปริตร ได้จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ บทสวดเจ็ดตำนาน มี 7 พระปริตร คือ 1.มังคลปริตร 2.รัตนปริตร 3.เมตตปริตร 4.ขันธปริตร 5.โมรปริตร 6.ธชัคคปริตร 7.อาฏานาฏิยปริตร
ส่วนบทสวดสิบสองตำนาน โดยเพิ่มจากเจ็ดตำนานอีก 5 พระปริตร คือ 1.วัฏฏกปริตร 2.อังคุลิมาลปริตร 3.โพชฌังคปริตร 4.อภยปริตร 5.ชัยปริตร รวมเป็น 12 พระปริตร
นอกจากนี้ พระปริตรยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา วิสุทธิมรรค และอรรถกถาต่างๆ โดยเพิ่มบทอิสิคิลิปริตร เป็นอีกหนึ่งพระปริตร
แต่ พระปริตรที่ปรากฏในบทสวดมนต์ไทย ฉบับปัจจุบันมี 12 พระปริตรเท่านั้น เนื่องจากบทอิสิคิลิปริตร เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ต่างกับพระปริตรอื่นที่แสดงคุณของพระรัตนตรัย
ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน 7 วัน พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้พระภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสร็จไปสวดด้วยพระองค์เอง พอคืนที่แปด เด็กนั้นสามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุถึง 120 ปี มารดาจึงตั้งชื่อว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า เด็กผู้มีอายุยืน ด้วยเหตุรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว
พระเถรานุเถระ ได้ให้คำแนะนำว่า การสวดและสดับฟังพระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยหลัก 3 ประการคือ
1.ต้องตั้งจิตใจให้มีเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง
2.ต้องสวดไม่ผิด ออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และรู้ความหมายของบทสวด
3.ไม่ เคยทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่ามารดา บิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท อีกทั้งต้องมีความเชื่อมั่นในอานุภาพพระปริตร สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้
สำหรับผู้มีเวลาน้อย ควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ ควรสวดพระปริตร 4 บท คือ เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร
ส่วนผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วย ควรสวดโพชฌังคปริตร
ทั้งนี้ บทสวดมนต์พระปริตร มีอยู่ในหนังสือ 'มนต์พิธี' สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปหรือตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น