วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (13) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (13) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ...วินัยนั้น เป็นเครื่องทำให้สังคมดีงาม ทำให้ชีวิตดีงาม พอเด็กรู้อย่างนี้เขามีความใฝ่ดีอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติตามหรือฝึกตัวตามวินัยนั้นทันที

คนที่มีฉันทะนี้ อยากให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของมัน เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เพื่อนมนุษย์นั้นอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของ เขา ความมีฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ก็แสดงออกเป็นเมตตา คืออยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ในภาวะที่เอิบอิ่มแข็งแรงสมบูรณ์มีความสุขอย่าง ดีที่สุดของเขา

ฉันทะนี้ดีอย่างยิ่ง จึงต้องสร้างขึ้นมา ถ้าฉันทะเกิดขึ้นก็เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอะไร ก็มีหวังสำเร็จ ถ้าฉันทะเกิดขึ้น

3.อัต ตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม หรือการทำตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ หมายถึงการทำตนให้เข้าถึงความพร้อมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของตน คือต้องการจะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ หรือต้องการทำชีวิตของตนให้ถึงความสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดเป็นจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา

เมื่อ เด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการเรียนรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็มีหวังที่จะก้าวหน้า เพราะเขาพร้อมที่จะรับและบุกฝ่าเดินหน้าไปในสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง

ฉันทะนั้นใฝ่ดีอยู่แล้ว คราวนี้ยังแถมมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอีก เด็กจะเรียนรู้ว่ามนุษย์เรานี้ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนา เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน

พระ พุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์เป็น "ทัมมะ" คือเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกหรือฝึกได้ พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณข้อหนึ่งว่า อนุตตโร ปุริส-ทัมมสารถิ ซึ่งเราท่องกันแม่น แปลว่า ทรงเป็นสารถีฝึกทัมมะ คือฝึกบุคคลหรือสัตว์ที่ต้องฝึก ผู้ยอดเยี่ยม

มนุษย์เรานี้จะดี จะประเสริฐ ก็ด้วยการฝึก มนุษย์มีศักยภาพในการฝึกสูงสุด ฝึกแล้วจะประเสริฐจนเป็นพุทธะก็ได้ ซึ่งแม้แต่เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ

ฉะนั้นมนุษย์จะต้องมีความภูมิใจและมั่นใจในศักยภาพนี้ โดยมีจิตสำนึกในการฝึกตนและจะต้องพยายามฝึกตน

พอ สร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาได้แล้วก็สบาย จิตสำนึกในการฝึกตนนี้เป็นแกนของการศึกษา ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะมองเป็นเวทีของการฝึกตนไปหมด งานการ วิชาการ บทเรียน หรือประสบการณ์ สถาน การณ์อะไรก็ตาม เขาจะมองเป็นเครื่องฝึกตัวไปหมด

เมื่อ เด็กมีตัวอัตตสัมปทาแล้วเราก็สบายใจได้ คราวนี้ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรอีก เขาเจออะไรเขาจะมองเป็นโอกาสที่จะฝึกตน ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสู้หมด งานยาก วิชาการยาก เขาจะชอบ เพราะอะไรก็ตามที่ยากก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้ฝึกตนมาก

คนที่มี จิตสำนึกในการฝึกตน เจออะไรยากยิ่งวิ่งเข้าหา ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีจิต สำนึกนี้ พอเจองานยาก เจอวิชายากก็ถอย แล้วก็มีแต่ผลร้ายตามมา คือ

1.ไม่เต็มใจทำ เกิดความท้อแท้ ท้อถอย แล้วก็ขาดความสุข เสียสุขภาพจิต

2.ไม่ตั้งใจทำ ก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ผล

ส่วน คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน พอเจออะไรที่ยากก็มองเห็นว่าเป็นเครื่องฝึกตัวที่จะทำให้พัฒนาตนได้มาก และเกิดความรู้สึกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก

ระหว่างของยากกับของง่าย เด็กพวกนี้จะเข้าหาของยาก เพราะยิ่งยากยิ่งได้มาก ทำให้ฝึกตนได้ดี เขาจะมองเห็นว่า ถ้าเราผ่านสิ่งที่ยากได้แล้วเราก็จะทำสิ่งที่ง่ายได้แน่นอน และจะทำให้เราได้สะสมประสบ การณ์ความชำนาญในการทำงานเพิ่มขึ้นๆ

ผลดีที่เกิดขึ้น คือ

1.มีความเต็มใจ พอใจ ยินดีที่จะทำ ซึ่งทำให้เขามีความสุขในการที่จะทำงาน หรือเล่าเรียนศึกษา

2.มีความตั้งใจ ซึ่งทำให้ทำได้ผล

พูดสั้นๆ ว่า งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข นี้คือสิ่งที่พึงปรารถนาในการทำงาน

ถ้า ปลูกจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ขึ้นมา แล้ว วินัยก็จะมีความหมายเป็นการฝึกตน ซึ่งทำให้การฝึกวินัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร

เป็นอันว่าต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ เพื่อทำให้เด็กสู้กับสิ่งที่ยาก และเข้าหาสิ่งที่ยาก โดยมีความเต็มใจ และความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น