วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ครอง จากข่าวสด

ครอง

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



แท้ จริงแล้วคนทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ต้องการความสุข เกลียดและกลัวความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น คนทั้งหลายจึงรักตัวเองยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ความรักเสมอด้วยตนไม่มี" จะเห็นได้ว่าตัวเรานี้เป็นที่รักกว่าสมบัติอย่างอื่น ถ้ารู้ว่าตัวเราเป็นที่รักกว่าสิ่งอื่นก็ควรละเว้นจากความชั่ว อย่าทำบาปกรรมอกุศล ตั้งใจทำแต่ความดีไว้ให้มาก และรู้จักรักษาตน การรักษาตนนั้นก็คือการครองตนนั่งเอง

คำว่า ครอง ท่านแบ่งออกเป็น 3 ความหมายด้วยกัน คือ

1.ครองตน คือ การรักษาจิตใจของตน

2.ครองคน คือ การครองใจของคน หรือการเอาชนะใจของผู้อื่น

3.ครองงาน คือ การรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตน

ประการ ที่ 1 ครองตน หมายถึง การรักษาจิตใจ เพราะจิตใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จิตมีหน้าที่สั่งการให้กายและวาจาทำตามคำสั่ง ถ้าจิตใจเป็นกุศล หรือที่เรียกว่าจิตใจดี ใจที่ดีนั่นเองก็จะสั่งให้กายและวาจาดีไปด้วย จะทำสิ่งใดก็ทำแต่สิ่งที่ดี จะพูดสิ่งใดก็พูดแต่สิ่งที่ดี เพราะกายและวาจาตกอยู่ในอำนาจของใจทั้งสิ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าใจเป็นอกุศล หรือที่เรียกว่าใจเป็นบาป จิตใจไม่ดี ใจเป็นบาป หรือใจที่ไม่ดีนั้นก็จะสั่งให้กายและวาจาไม่ดีไปด้วย จะทำจะพูดเป็นไปทางทุจริต เพราะกายและวาจาตกอยู่ในอำนาจของใจอีกเช่นเดียวกัน สำหรับหลักธรรมที่จะรักษาจิตใจของตนให้มั่นคง มีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่มากระทบจิตใจ 2.สัจจะ ความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อใจสุจริต กายและวาจาก็สุจริตไปด้วย

ประการที่ 2 ครองคน หมายถึง การครองใจคน เอาชนะใจของผู้อื่น คนเราทุกคน มีความต้องการคล้ายๆ กัน คือ ต้องการว่าทำอย่างไรจึงจะให้คนอื่นมารัก เคารพ นับถือ และบูชา เช่นพ่อแม่ก็มีความต้องการทำอย่างไรให้ลูกเคารพ นับถือ ครูอาจารย์ก็มีความต้องการให้ศิษย์เชื่อฟัง ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะครองใจคนหรือเอาชนะใจคนได้ ในทางพระพุทธศาสนาท่านให้ยึดเอาหลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ซึ่งแปลว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนอื่น 4 ประการ คือ 1.ทาน การให้แบ่งปัน ทำให้คนที่ได้รับเกิดความรู้สึกประทับใจ 2.ปิยวาจา การพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะ 3.อัตถจริยา การทำประโยชน์ให้คนอื่น เช่น ช่วยเหลือทั้งกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ 4.สมานัตตตา วางตนเหมาะสม

ประการที่ 3 ครองงาน หมายถึง การรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตน กล่าวคือ บุคคลผู้มีหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน การงานทุกอย่างเท่ากับเป็นอาชีพของตน คนไม่มีงานก็เหมือนกับคนไม่มีอาชีพ คนมีงานทำดีก็เท่ากับมีอาชีพดี การงานดีความเป็นอยู่ก็ดี เมื่อรู้ว่างานเป็นเหมือนอาชีพก็ควรหาวิธีครองงานในหน้าที่ของตนไว้ให้ได้ หลักธรรมในการครองงานนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่าง เรียกว่า อิทธิบาท คือ 1.ฉันทะ ความพอใจ เราต้องเป็นคนรักงาน พอใจในงานที่ตัวเองรับผิดชอบ 2.วิริยะ การทำงานจะต้องมีความขยัน ทำงานไม่คั่งค้าง ทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จไปตามกาล 3.จิตตะ เราต้องตั้งใจทำงาน เอาใจใส่งานทุกอย่าง ไม่ให้เกิดความท้อแท้ในการทำงาน 4.วิมังสา เราต้องหมั่นค้นคว้าพิจารณา คิดค้น ค้นคิด แก้ไขปรับปรุงงานในหน้าที่ที่ทำอยู่เสมอ

ฉะนั้นหลักการครองตน ครองคน และครองงานนี้ เป็นหลักพื้นฐานที่ใครๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะผู้บริหารทุกระดับ การรักษาตน คือการครองตน จัดเป็นการรักษาภายใน ส่วนการครองคน และครองงาน จัดเป็นการรักษาภายนอก ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ใดรักษาตน ภายนอกของผู้นั้นเป็นอันรักษาได้..

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น