บารมี (2) ยิ่งยวดหรือยิ่งใหญ่ ให้ธรรม-ให้ทุน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ทําไมโบราณว่า จารึกธรรมหนึ่งอักษร
เท่ากับสร้างพระพุทธปฏิมาหนึ่งองค์
มี คติแต่โบราณบอกว่า การสร้างพระธรรม แม้แต่หนึ่งตัวอักษร ถือว่ามีคุณค่าเท่า กับได้สร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ โบราณถือกันมาอย่างนี้ เพราะถ้าได้ทำบุญสร้างอักษรจารึกพระธรรมไปแล้ว ก็จะทำให้คนได้รู้เข้าใจว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
แม้แต่เราจะรู้จักปฏิบัติ ต่อพระพุทธรูปถูกต้อง เราก็ต้องรู้จักพระธรรมด้วย เพราะพระพุทธรูปนั้น เป็นแต่เพียงวัตถุที่สร้างเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักคำสอน เราก็ไม่รู้ว่าจะมีพระพุทธรูปไปทำไม แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อพระพุทธรูปนี้
การที่เราได้นึกถึงพระ พุทธรูป และไปหาพระพุทธรูปมา หรือไปไหว้พระพุทธรูป ก็เพราะว่า เราได้รู้จักพระธรรม ได้รู้จักคำสอนว่า อ๋อ พระพุทธรูปนี้ เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีพระคุณอย่างนั้นๆ เราจึงได้แสดงความเคารพนับถือพระองค์ อย่างนี้เรียกว่ารู้จักพระพุทธคุณด้วยอาศัยธรรมะ เพราะฉะนั้น การให้ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
นอกจากนั้น เวลาเราไหว้พระพุทธรูป เราจะทำใจอย่างไรถูกต้อง ก็ต้องอาศัยพระธรรมมาสอนอีกเหมือนกัน ว่าเวลาไหว้พระนะ จะ ต้องทำจิตใจให้สงบ ให้ผ่องใสเบิกบานอย่างนั้นๆ ระลึกพระคุณอย่างนั้นๆ การที่เราปฏิบัติถูกต้อง ก็เพราะอาศัยพระธรรม
พระ ธรรมมีความสำคัญอย่างที่กล่าวมา ท่านจึงถือว่าการสร้างพระธรรม แม้แต่เพียงตัวอักษรหนึ่ง มีค่ามากเท่ากับสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ แล้วถ้าสร้างหลายตัวอักษร ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น คำสอนธรรมะนี้จารึกข้อธรรมที่สำคัญทุกอย่างไว้ เป็นเครื่องสืบต่อพระศาสนา
อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญที่แสดงถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการสร้างหนังสือธรรมะ หรือคัมภีร์ขึ้นมาเผยแพร่
ทำบุญให้ดี ทำทีเดียวได้ครบทั้งทาน-ศีล-ภาวนา
การ ที่โยมมาทำบุญวันนี้ อย่างที่ทำกันมา ทุกๆ เดือน ถวายทานแล้วมาสังสรรค์กันในหมู่ญาติ มิตร แล้วก็มาบำเพ็ญธรรมทานอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นก็เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยา คือการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเราได้ทำกันในด้านต่างๆ ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เห็นชัดๆ ก็คือ ทาน
ตอนแรกก็ถวายทาน ถวายภัตตาหาร แล้วก็รักษาศีล ดังที่ได้สมาทานศีลกันเมื่อกี้นี้ แล้วก็ได้ภาวนา คือทำจิตใจและสติปัญญาให้เจริญงอกงามขึ้น ทำจิตให้เจริญด้วยการทำใจให้สงบ ให้เบิกบานผ่องใส แล้วก็เจริญปัญญาด้วยการฟังธรรม เมื่อฟังธรรมะไปแล้ว ใจคอสบาย เกิดความสว่าง เข้าใจธรรมะ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนมากขึ้น ก็เจริญปัญญา แม้จะยังไม่ได้บำเพ็ญสมาธิอะไรก็เรียกว่าเป็นภาวนา
รวมแล้วก็คือปฏิบัติตามหลัก 3 ประการที่เรียกว่าเป็นบุญกิริยา คือ ทาน ศีล และภาวนา
ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง มาทำบุญกันในวันนี้ ก็ได้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้ทั้งทาน ทั้งศีล และภาวนา
ทำบุญสูงขึ้นไป กลายเป็นบารมี
ว่า ถึงการทำบุญนี้ แยกได้เป็นหลายระดับ คือในขั้นต้นๆ นี้ เราอาจจะทำพอเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป เช่นว่า ในการบำเพ็ญทานเราก็อาจจะแบ่งปันบริจาคบำรุงต่างๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับความมั่นคงงอกงามของการรักษาศีลและสำหรับการบำเพ็ญภาวนา หรือในการรักษาศีล ก็รักษาพอเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีงาม สูงขึ้นไปก็เป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญสมาธิอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลทำความดีในขั้นพื้นฐาน สำหรับการก้าวไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้นไป
อีกระดับหนึ่ง บางทีเราอาจจะอยากปฏิบัติให้ยิ่งกว่านั้น จึงมีการทำดี ในขั้นเป็น "บารมี" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจขั้นหนึ่ง คือบางท่านไม่ได้คิดแต่เพียงว่า ทำบุญ หรือทำความดีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น แต่อยากจะทำให้เป็นบารมี ซึ่งเป็นคำสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ใดต้องการจะทำความดีให้ยวดยิ่งให้เป็นพิเศษ ก็ทำให้ถึงขั้นเป็นบารมี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น