วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (12) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (12) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ...คนที่ยังไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา มองวินัยเป็นเรื่องของการบังคับ พอเริ่มมีการพัฒนา ก็มองว่าเป็นเครื่องฝึก เพื่อชีวิตในสังคมที่ดีงาม รับการฝึกด้วยใจยินดี เพื่อให้ชีวิตเจริญพัฒนา และสังคมมีสันติสุข พอพัฒนาดีแล้ว วินัยกลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการเป็นอยู่ร่วมในสังคม เพื่อให้ชีวิตและสังคมประสานสอดคล้องและเกื้อกูลกลมกลืน

ในสังคม ประชาธิปไตยที่แท้ วินัยจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พัฒนาคน สังคมประชา ธิปไตยซึ่งอยู่ได้ด้วยกฎ เกณฑ์ กติกา ก็จะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างความหมายของ เสรีภาพกับวินัย แล้วสังคมนั้นก็จะต้องปั่นป่วน

ถ้าจะให้คนมีเสรีภาพในความหมายว่า ทำอะไรได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มนุษย์ก็จะต้องวางกฎเกณฑ์กติกามากขึ้นๆ แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยกฎ


พอ อยู่ด้วยกฎต่อไปนานๆ เข้า คำว่า กฎ ก็กลายเป็น กด กลายเป็นกดดัน หรือกดบีบบังคับ แล้วกดไปกดมา ในที่สุดสังคมประชา ธิปไตยก็ต้องยุติด้วยการเอากฎมากดแบบนี้ แล้วก็หนีการใช้อำนาจลงโทษไปไม่พ้น ผลที่สุดก็กลายเป็นเผด็จการด้วยกฎ/กด

ฉะนั้น ประชาธิปไตยนั้น ในที่สุด ถ้าคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ก็จะกลายเป็นเผด็จการชนิดหนึ่ง คือเผด็จการด้วยกฎ อย่างที่ว่ามาแล้ว

องค์ประกอบร่วมในการเสริมสร้างวินัย

ขอ ทบทวนเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นแสงเงินแสงทองอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

ได้บอกไว้แล้วว่า แสงเงินแสงทอง นี้มี 7 อย่าง เหมือนกับสเปกตรัม คือ แสงนั้นประกอบด้วยสีต่างๆ 7 สี แสงอาทิตย์ตอนรุ่งอรุณ ก็ประกอบด้วยแสงเงินแสงทอง 7 สี กล่าวคือองค์ประกอบสำคัญ 7 ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ในที่นี้จะไม่พูดหมด เพียงแต่ให้หลักการว่า องค์ประกอบอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่น ซึ่งจะมาช่วยเสริมกัน ฉะนั้น ในการสร้างวินัย เราก็อาศัยองค์ประกอบในชุดของมันนี้มาช่วยหนุน องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมาก ขอพูดในที่นี้ 3 อย่าง คือ

1. กัลยาณมิตร ความมีกัลยาณมิตรนี้ช่วยมาก เพราะเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่าง เริ่มตั้งแต่การช่วยสร้างพฤติกรรมเคยชิน

กัลยาณมิตร เป็นบุคคลที่มีการฝึกฝนพัฒนาดีแล้ว ในความหมายหนึ่งก็คือ เขามีศีล มีวินัย ทำให้เด็กได้แบบอย่างที่ดี ถึงแม้เด็กไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่พอกัลยาณมิตรทำอะไร แกก็ทำตาม แกก็ได้พฤติกรรมเคยชินที่มีวินัยไปเอง

กัลยาณมิตร นอกจากให้แบบอย่างที่ดีในด้านพฤติกรรมเคยชินแล้ว กัลยาณมิตรยังมีคุณสมบัติทางจิตใจด้วย โดยมีคุณธรรม เช่นเมตตา มีความรักความปรารถนาดี ทำให้เด็กศรัทธา เกิดความรัก อบอุ่นใจ สนิทใจ เมื่อคุณครูที่รักบอกให้ทำอะไร เด็กก็ยินดีปฏิบัติตามด้วยความรัก ด้วยศรัทธา จิตใจก็อบอุ่น มีความสุข

นอกจากนั้น คุณครูผู้เป็นกัลยาณมิตรก็มีปัญญารู้เหตุรู้ผล สามารถอธิบายให้เด็กรู้ด้วยว่า ที่เราทำกันอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เด็กก็ได้พัฒนาปัญญาไปด้วย ทำให้พฤติกรรมยิ่งแนบแน่นสนิท เพราะฉะนั้น องค์ประกอบข้อกัลยาณมิตรจึงสำคัญมาก

2. ฉันทะ คือความรักดี ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เด็กที่มีฉันทะจะใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ชีวิตของตนดีงาม ต้องการให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องดีงามไปหมด ต้องการให้สังคม ชุมชน โรงเรียนของตนดีงาม อยากให้ชั้นเรียนเรียบร้อยดีงาม อยากให้ความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตในสังคม ความใฝ่ดีคือฉันทะนี้สำคัญมาก จัดเป็นแสงเงินแสงทองอีกอย่างหนึ่ง

ในข้อแรก เด็กยังต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่พอฉันทะเกิดขึ้น เด็กก็ได้ปัจจัยภายในตัวเอง ตอนนี้เด็กมีแรงจูงใจใฝ่ดีใฝ่สร้างสรรค์อยู่ในตัว เด็กจะอยากทำทุกอย่างที่ดีงามและทำทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยว ข้องให้ดีไปหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น