วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (14) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (14) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัยในฐานะวินัย ในระบบการสร้างสรรค์อภิบาลโลก

วินัยนั้น เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย

เรื่อง นี้เป็นไปตามหลักการที่แยกเป็นธรรมฝ่ายหนึ่ง กับวินัยฝ่ายหนึ่ง ตามหลักการนี้ มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลก โดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่แยกง่ายๆ เป็น 2 ส่วน คือ

1. ในสถานะที่เป็นบุคคล เรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งความจริงตามสมมติของกฎมนุษย์

2. ในสถานะที่เป็นชีวิต เรามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และความจริงของกฎธรรมชาติ

ใน ด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราก็ต้องรักษาให้ดี แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ถูกต้องกับโลกของธรรมชาติ เราก็ละเลยไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ทั้งชีวิตเราและคนอื่นทุกคน รวมทั้งสังคมทั้งหมด ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น เราจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งสองด้านนี้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตที่ดีงามดำเนินไปด้วยดี บุคคลก็มีความสุข และสังคมก็อยู่เรียบร้อย

ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ด้วยกัน ละเลยหลักการแห่งเหตุและผลตามความจริงของกฎธรรมชาติ ความอยู่ดีนี้ก็ไม่สมบูรณ์ไม่มั่นคง สังคมก็จะปั่นป่วนภายหลัง หรือจะเอาแต่ความจริงของกฎธรรมชาติอย่างเดียว ละเลยความสัมพันธ์ที่ดีงามและความเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันระหว่างมนุษย์ โลกก็แห้งแล้ง แล้วก็จะทำให้อยู่กันไม่เป็นสุขเท่าที่ควรอีก

เพราะ ฉะนั้น จะต้องคำนึงทั้ง 2 ด้าน คือ มนุษย์จะต้องรักษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติไว้

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงประทานหลักเกณฑ์ที่ทำให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติตาม ก็จะเกิดระบบองค์รวมที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์เอง กับระบบของความสัมพันธ์กับธรรมชาตินั่นเอง

ความสัมพันธ์นี้ โดยสรุปก็คือ

ก) เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง คือตัวเรากับมนุษย์คนอื่น ว่าเราจะต้องมีความเกื้อกูลช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกัน ในสถานการณ์ 3 อย่าง คือ

1. ในยามที่เขาอยู่เป็นปกติสุข เราก็มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีความปรารถนาดี เรียกว่า เมตตา

2. ในยามที่เขาตกต่ำลง เดือดร้อนเป็นทุกข์ ประสบปัญหา เราก็เห็นใจ พลอยหวั่นใจด้วย ปรารถนาจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา

3. ในยามที่เขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุข เราก็มีความยินดีด้วย พลอยส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า มุทิตา

สำหรับ มนุษย์เราก็มี 3 สถานการณ์นี่แหละ และทางธรรมท่านก็ให้หลักที่จะปฏิบัติไว้พร้อม คือ ยามปกติ เราก็ใช้เมตตา ในยามที่เขาตกต่ำ เราก็ใช้กรุณา ยามเขาขึ้นสูง เราก็ใช้มุทิตา นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบต่อตัวธรรม ตัวหลักการ ตัวความจริงความดีงามที่เป็นเหตุเป็นผลในกฎธรรมชาติ ตลอดจนความจริงความดีงามตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุผลที่มนุษย์ได้มาจัดวางเป็นกฎใน หมู่มนุษย์คือวินัย

หมายความว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ไปกระทบ ต่อตัวหลักการที่เป็นตัวธรรม หรือวินัยที่พูดไปแล้ว เราจะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน 3 ข้อข้างต้นนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้แก่การทำหน้าที่ของธรรมวินัย

อัน นี้เป็นจุดที่สำคัญมาก คือจะต้องให้ตัวธรรมตัววินัยนั้นได้แสดงหลักแสดงผลออกมา หมายความว่า มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามตัวหลักการตัวกฎเกณฑ์ ที่เป็นความจริง หรือที่ตกลงไว้ คือตัวธรรม ตัววินัยนั้น

ตอนนี้ กฎเกณฑ์แห่งจริยธรรม และหลักการแห่งความจริงความถูกต้องความดีงาม ตลอดจนกฎหมายกติกาสังคม จะต้องออกมาได้รับการปฏิบัติ นี้คือสถานการณ์ที่ 4 ซึ่งวางลงเป็นหัวข้อได้ คือ

4. ในกรณีที่ความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างบุคคลในข้อ 1-2-3 จะส่งผลกระทบเสียหายหรือทำลายหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ในธรรมดาแห่งธรรมชาติ (ธรรม) ก็ดี ที่บัญญัติจัดวางเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ (วินัย) ก็ดี เราจะต้องหยุดหรือระงับการปฏิบัติในข้อ 1-2-3 เสีย และปล่อยให้มีการปฏิบัติตามหลักการแห่งธรรมและวินัย เพื่อให้ธรรมตั้งอยู่ในโลกต่อไป

การปฏิบัติในกรณีนี้ คือการมีท่าทีเป็นกลาง โดยวางเฉยต่อบุคคล ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงขัดขวางการแสดงผลของธรรมหรือวินัย คือให้บุคคลนั้นรับผลตามธรรมตามวินัย เรียกว่า อุเบกขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น