วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทางภาระจำยอม khaosod

ทางภาระจำยอม

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา

สมชาย สุรชาตรี ผู้อำนวยการสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ



กรณีการ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินวัดไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ให้แก่ส่วน ราชการ ต้องดำเนินการผาติกรรม แต่หากชาวบ้านขอใช้ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นทางผ่านเข้าไปยังที่ดินของตน ซึ่งไม่มีทางออก (ที่ตาบอด) หรือมีแต่อยากจะผ่านที่ดินของวัด เพื่อเป็นทางเข้าออก

วัดและชาวบ้านต้องจัดทำสัญญาภาระจำยอม เรียกทางหรือถนนนั้นว่าทางภาระจำยอม

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาระจำยอมอยู่ 2 ประการด้วยกัน

ประเภท แรก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม โดยเจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ"

ประการที่สอง มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 18/2540 วันที่ 30 มิถุนายน 2540 มีมติให้วัดต่างๆ ถือปฏิบัติพอสรุปได้ว่า หากวัดใดมีผู้ขอทำสัญญาเช่าที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นทางเข้าออกไม่ว่าจะกำหนดระยะเวลาเช่ากี่ปีก็ตาม ให้วัดจัดทำในลักษณะสัญญาภาระจำยอมเท่านั้น ในกรณีที่มีผู้ขอทำสัญญาและจดทะเบียนทางภาระจำยอมผ่านที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์

มีขั้นตอนดำเนินการ คือ เจ้าอาวาสจัดส่งแผนที่สังเขป ประกอบด้วย ตำแหน่งที่ตั้งวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ที่ดินแปลงที่ขอทางภาระจำยอม ขนาดกว้างยาวของทางภาระจำยอม ระบุจำนวนเนื้อที่มีมาตราส่วนที่ชัดเจน สำเนาโฉนดที่ดินแปลงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เงินบำรุงวัด หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินที่เป็นปัจจุบัน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือยิน ยอมจากเจ้าอาวาสวัด ผ่านผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับจนถึงเจ้าคณะจังหวัด เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ

เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งมติให้วัดทราบแล้ว จึงจัดทำสัญญาภาระจำยอม

ข้อ แนะนำสำหรับวัดในการขอทางภาระจำยอม ก็คือ ทางภาระจำยอมซึ่งผ่านที่วัดหรือ ที่ธรณีสงฆ์ควรอยู่ชิดด้านใดด้านหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมด ถ้าผ่านกลางเนื้อที่จะทำให้วัดสูญเสียภูมิทัศน์หรือเสียเนื้อที่ไปโดยไม่จำ เป็น

บางรายผู้ขอทางภาระจำยอมมีที่ดินหลายแปลงที่ติดกับที่ดินวัด แต่แจ้งกับวัดว่ามีโฉนดเดียวแปลงเดียว ทำให้วัดเสียประโยชน์ในการคิดค่าบำรุง

หากส่วนราชการทำถนนผ่านที่วัด เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณะ ควรดำเนินการผาติกรรม มิใช่ทางภาระจำยอม ถ้าเอกชนขอทางเข้าออกผ่านที่วัดหรือที่ธรณี สงฆ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องขอทางภาระจำยอม ซึ่งต้องดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 18/2540 ดังได้กล่าวมาแล้ว

บทสวดพระปริตร khaosod

บทสวดพระปริตร

คอลัมน์ ศาลาวัด



บท สวดที่ผู้คนนิยมสวดกันทั่วไป นอกจาก "คาถาชินบัญชร" แล้ว ยังมี "บทสวดพระปริตร" ที่มีพลานุภาพครบถ้วน ทั้งเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดปลอดภัย ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำ ปริตร (ปะหฺริด) ว่า ความต้านทาน, เครื่องป้องกัน ดังนั้น พระปริตร จึงมีความหมายว่า บทสวดเจริญพระพุทธมนต์ที่เป็นเครื่องป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ

บทสวด พระปริตร ได้จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ บทสวดเจ็ดตำนาน มี 7 พระปริตร คือ 1.มังคลปริตร 2.รัตนปริตร 3.เมตตปริตร 4.ขันธปริตร 5.โมรปริตร 6.ธชัคคปริตร 7.อาฏานาฏิยปริตร

ส่วนบทสวดสิบสองตำนาน โดยเพิ่มจากเจ็ดตำนานอีก 5 พระปริตร คือ 1.วัฏฏกปริตร 2.อังคุลิมาลปริตร 3.โพชฌังคปริตร 4.อภยปริตร 5.ชัยปริตร รวมเป็น 12 พระปริตร

นอกจากนี้ พระปริตรยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา วิสุทธิมรรค และอรรถกถาต่างๆ โดยเพิ่มบทอิสิคิลิปริตร เป็นอีกหนึ่งพระปริตร

แต่ พระปริตรที่ปรากฏในบทสวดมนต์ไทย ฉบับปัจจุบันมี 12 พระปริตรเท่านั้น เนื่องจากบทอิสิคิลิปริตร เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ต่างกับพระปริตรอื่นที่แสดงคุณของพระรัตนตรัย

ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน 7 วัน พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้พระภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสร็จไปสวดด้วยพระองค์เอง พอคืนที่แปด เด็กนั้นสามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุถึง 120 ปี มารดาจึงตั้งชื่อว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า เด็กผู้มีอายุยืน ด้วยเหตุรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว

พระเถรานุเถระ ได้ให้คำแนะนำว่า การสวดและสดับฟังพระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยหลัก 3 ประการคือ

1.ต้องตั้งจิตใจให้มีเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง

2.ต้องสวดไม่ผิด ออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และรู้ความหมายของบทสวด

3.ไม่ เคยทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่ามารดา บิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท อีกทั้งต้องมีความเชื่อมั่นในอานุภาพพระปริตร สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

สำหรับผู้มีเวลาน้อย ควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ ควรสวดพระปริตร 4 บท คือ เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร

ส่วนผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วย ควรสวดโพชฌังคปริตร

ทั้งนี้ บทสวดมนต์พระปริตร มีอยู่ในหนังสือ 'มนต์พิธี' สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปหรือตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป

บำเพ็ญบุญ khaosod

บำเพ็ญบุญ

คอลัมน์ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430



ขึ้น ชื่อว่าบุญ เป็นเรื่องที่สาธุชนควรประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารู้จักบำเพ็ญให้ถูกทางถูกหลักแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญจริงๆ มิใช่ว่าจะมีบุญเฉพาะแต่ชื่อ

บุญไม่ใช่วัตถุอันจะพึงหยิบยกขึ้นให้ ผู้ใดผู้หนึ่งดูกันได้ด้วยดวงตา แต่บุญเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในจิตของตน กล่าวโดยเหตุ ได้แก่กุศลกรรมอันเป็นเครื่องชำระจิตของตนให้ผ่องใส เป็นปัจจัยในการทำ การพูด การคิด เป็นไปในทางที่ดี

หลักการทำบุญนั้น ทำได้หลายอย่าง หลายวิธี เมื่อจะแสดงโดยย่อแล้ว มี 3 ประการ ด้วยกันคือ 1.ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน 2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล 3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

ประการที่ 1 ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน หมายถึง การให้สิ่งของเป็นทาน แก่พระสงฆ์ หรือคนโดยทั่วไปด้วยใจอันประณีต การที่บุคคลได้ทรัพย์หรือมีทรัพย์เป็นจำนวนก็ไม่รู้สึกว่าเพียงพอ คือไม่เพียงพอกับตัณหา คือโลภะ การเสียสละทรัพย์เพื่อบริจาคทานแม้เพียงเล็กน้อย เพื่อขจัดตัณหาคือความตระหนี่ เป็นทรัพย์ที่เกิดขึ้นภายในจิต การบริจาคทานเพื่อความทะยานอยากให้มั่งมีร่ำรวย เป็นวิธีที่ไม่จัดว่าได้บุญเต็มที่ เพราะการให้เช่นนั้นเป็นการให้เพียงกายแต่ใจไม่น้อมไปเพื่อบุญ ถ้ารู้จักบริจาคทานให้ถูกหลักในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จักเป็นผู้ไม่งมงาย และการทำบุญนั้นก็ได้บุญจริงๆ

ประการที่ 2 สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายถึง กิริยาที่บุคคลมีเจตนาสำรวมกายวาจาใจให้สงบเรียบร้อย ผู้ที่จะสามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ ต้องอาศัยเจตนางดเว้นเป็นหลัก คือ รู้จักละ รู้จักปล่อยวาง

ประการที่ 3 ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา หมายถึง การอบรมกุศลหรือคุณธรรมความดีทางจิต ทำจิตให้สงบจากกิเลสกามและอกุศลอย่างอื่นด้วยมนสิการ ทำจิตให้ตั้งอยู่แต่ในเรื่องของกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตผ่องใสอยู่ แต่ในอารมณ์เดียว

ทาน ศีล ภาวนา ทั้ง 3 ประการนี้ บุคคลใดได้บำเพ็ญให้เกิดมีขึ้นในตน บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้ว และไม่ควรประมาทว่าเป็นบุญชั้นต่ำ จะมีผลน้อย แต่ถ้าทำบ่อยๆ บุญนั้นก็จะเพิ่มจำนวนมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่ามีประมาณน้อย จักไม่ให้ผล แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตก ผู้มีปัญญาสั่งสมบุญอยู่แม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มได้ด้วยบุญ และบุญทั้ง 3 ประเภทนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงบำเพ็ญมาจนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เพราะ ฉะนั้น การบำเพ็ญบุญทั้ง 3 ประการนี้ เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน จะพึงปฏิบัติและดำเนินตามพระพุทธองค์ให้ถูกหลัก คือ บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกหลักธรรม จนเกิดความรู้สึกเกิดขึ้นในจิตของตนเองว่าได้ความสุข คือ ยึดถือธรรมเป็นหลัก ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้จริงๆ เช่นนี้แล้ว เมื่อถึงคราวจะลาจากโลกนี้ไป บุญอันนั้นก็จะคอยรอต้อนรับผู้นั้นในโลกหน้า

ไม่ทำหน้าที่จะเอาแต่ประโยชน์ khaosod

ไม่ทำหน้าที่จะเอาแต่ประโยชน์

คอลัมน์ คำพระ

พุทธทาส



"คน เห็นแก่ตัว มันขี้เกียจในการทำหน้าที่ แต่จะเอาประโยชน์มากกว่าคนที่ทำหน้าที่ จึงพูดเป็นอุปมาว่าจูงช้างลอดรูเข็มเสีย ยังง่ายกว่าไปชวนคนเห็นแก่ตัวมาทำประโยชน์ส่วนรวม"

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (12) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (12) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ...คนที่ยังไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา มองวินัยเป็นเรื่องของการบังคับ พอเริ่มมีการพัฒนา ก็มองว่าเป็นเครื่องฝึก เพื่อชีวิตในสังคมที่ดีงาม รับการฝึกด้วยใจยินดี เพื่อให้ชีวิตเจริญพัฒนา และสังคมมีสันติสุข พอพัฒนาดีแล้ว วินัยกลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการเป็นอยู่ร่วมในสังคม เพื่อให้ชีวิตและสังคมประสานสอดคล้องและเกื้อกูลกลมกลืน

ในสังคม ประชาธิปไตยที่แท้ วินัยจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พัฒนาคน สังคมประชา ธิปไตยซึ่งอยู่ได้ด้วยกฎ เกณฑ์ กติกา ก็จะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างความหมายของ เสรีภาพกับวินัย แล้วสังคมนั้นก็จะต้องปั่นป่วน

ถ้าจะให้คนมีเสรีภาพในความหมายว่า ทำอะไรได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มนุษย์ก็จะต้องวางกฎเกณฑ์กติกามากขึ้นๆ แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยกฎ


พอ อยู่ด้วยกฎต่อไปนานๆ เข้า คำว่า กฎ ก็กลายเป็น กด กลายเป็นกดดัน หรือกดบีบบังคับ แล้วกดไปกดมา ในที่สุดสังคมประชา ธิปไตยก็ต้องยุติด้วยการเอากฎมากดแบบนี้ แล้วก็หนีการใช้อำนาจลงโทษไปไม่พ้น ผลที่สุดก็กลายเป็นเผด็จการด้วยกฎ/กด

ฉะนั้น ประชาธิปไตยนั้น ในที่สุด ถ้าคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ก็จะกลายเป็นเผด็จการชนิดหนึ่ง คือเผด็จการด้วยกฎ อย่างที่ว่ามาแล้ว

องค์ประกอบร่วมในการเสริมสร้างวินัย

ขอ ทบทวนเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นแสงเงินแสงทองอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

ได้บอกไว้แล้วว่า แสงเงินแสงทอง นี้มี 7 อย่าง เหมือนกับสเปกตรัม คือ แสงนั้นประกอบด้วยสีต่างๆ 7 สี แสงอาทิตย์ตอนรุ่งอรุณ ก็ประกอบด้วยแสงเงินแสงทอง 7 สี กล่าวคือองค์ประกอบสำคัญ 7 ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ในที่นี้จะไม่พูดหมด เพียงแต่ให้หลักการว่า องค์ประกอบอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่น ซึ่งจะมาช่วยเสริมกัน ฉะนั้น ในการสร้างวินัย เราก็อาศัยองค์ประกอบในชุดของมันนี้มาช่วยหนุน องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมาก ขอพูดในที่นี้ 3 อย่าง คือ

1. กัลยาณมิตร ความมีกัลยาณมิตรนี้ช่วยมาก เพราะเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่าง เริ่มตั้งแต่การช่วยสร้างพฤติกรรมเคยชิน

กัลยาณมิตร เป็นบุคคลที่มีการฝึกฝนพัฒนาดีแล้ว ในความหมายหนึ่งก็คือ เขามีศีล มีวินัย ทำให้เด็กได้แบบอย่างที่ดี ถึงแม้เด็กไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่พอกัลยาณมิตรทำอะไร แกก็ทำตาม แกก็ได้พฤติกรรมเคยชินที่มีวินัยไปเอง

กัลยาณมิตร นอกจากให้แบบอย่างที่ดีในด้านพฤติกรรมเคยชินแล้ว กัลยาณมิตรยังมีคุณสมบัติทางจิตใจด้วย โดยมีคุณธรรม เช่นเมตตา มีความรักความปรารถนาดี ทำให้เด็กศรัทธา เกิดความรัก อบอุ่นใจ สนิทใจ เมื่อคุณครูที่รักบอกให้ทำอะไร เด็กก็ยินดีปฏิบัติตามด้วยความรัก ด้วยศรัทธา จิตใจก็อบอุ่น มีความสุข

นอกจากนั้น คุณครูผู้เป็นกัลยาณมิตรก็มีปัญญารู้เหตุรู้ผล สามารถอธิบายให้เด็กรู้ด้วยว่า ที่เราทำกันอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เด็กก็ได้พัฒนาปัญญาไปด้วย ทำให้พฤติกรรมยิ่งแนบแน่นสนิท เพราะฉะนั้น องค์ประกอบข้อกัลยาณมิตรจึงสำคัญมาก

2. ฉันทะ คือความรักดี ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เด็กที่มีฉันทะจะใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ชีวิตของตนดีงาม ต้องการให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องดีงามไปหมด ต้องการให้สังคม ชุมชน โรงเรียนของตนดีงาม อยากให้ชั้นเรียนเรียบร้อยดีงาม อยากให้ความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตในสังคม ความใฝ่ดีคือฉันทะนี้สำคัญมาก จัดเป็นแสงเงินแสงทองอีกอย่างหนึ่ง

ในข้อแรก เด็กยังต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่พอฉันทะเกิดขึ้น เด็กก็ได้ปัจจัยภายในตัวเอง ตอนนี้เด็กมีแรงจูงใจใฝ่ดีใฝ่สร้างสรรค์อยู่ในตัว เด็กจะอยากทำทุกอย่างที่ดีงามและทำทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยว ข้องให้ดีไปหมด

วินัย (13) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (13) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ...วินัยนั้น เป็นเครื่องทำให้สังคมดีงาม ทำให้ชีวิตดีงาม พอเด็กรู้อย่างนี้เขามีความใฝ่ดีอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติตามหรือฝึกตัวตามวินัยนั้นทันที

คนที่มีฉันทะนี้ อยากให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของมัน เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เพื่อนมนุษย์นั้นอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของ เขา ความมีฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ก็แสดงออกเป็นเมตตา คืออยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ในภาวะที่เอิบอิ่มแข็งแรงสมบูรณ์มีความสุขอย่าง ดีที่สุดของเขา

ฉันทะนี้ดีอย่างยิ่ง จึงต้องสร้างขึ้นมา ถ้าฉันทะเกิดขึ้นก็เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอะไร ก็มีหวังสำเร็จ ถ้าฉันทะเกิดขึ้น

3.อัต ตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม หรือการทำตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ หมายถึงการทำตนให้เข้าถึงความพร้อมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของตน คือต้องการจะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ หรือต้องการทำชีวิตของตนให้ถึงความสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดเป็นจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา

เมื่อ เด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการเรียนรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็มีหวังที่จะก้าวหน้า เพราะเขาพร้อมที่จะรับและบุกฝ่าเดินหน้าไปในสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง

ฉันทะนั้นใฝ่ดีอยู่แล้ว คราวนี้ยังแถมมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอีก เด็กจะเรียนรู้ว่ามนุษย์เรานี้ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนา เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน

พระ พุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์เป็น "ทัมมะ" คือเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกหรือฝึกได้ พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณข้อหนึ่งว่า อนุตตโร ปุริส-ทัมมสารถิ ซึ่งเราท่องกันแม่น แปลว่า ทรงเป็นสารถีฝึกทัมมะ คือฝึกบุคคลหรือสัตว์ที่ต้องฝึก ผู้ยอดเยี่ยม

มนุษย์เรานี้จะดี จะประเสริฐ ก็ด้วยการฝึก มนุษย์มีศักยภาพในการฝึกสูงสุด ฝึกแล้วจะประเสริฐจนเป็นพุทธะก็ได้ ซึ่งแม้แต่เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ

ฉะนั้นมนุษย์จะต้องมีความภูมิใจและมั่นใจในศักยภาพนี้ โดยมีจิตสำนึกในการฝึกตนและจะต้องพยายามฝึกตน

พอ สร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาได้แล้วก็สบาย จิตสำนึกในการฝึกตนนี้เป็นแกนของการศึกษา ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะมองเป็นเวทีของการฝึกตนไปหมด งานการ วิชาการ บทเรียน หรือประสบการณ์ สถาน การณ์อะไรก็ตาม เขาจะมองเป็นเครื่องฝึกตัวไปหมด

เมื่อ เด็กมีตัวอัตตสัมปทาแล้วเราก็สบายใจได้ คราวนี้ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรอีก เขาเจออะไรเขาจะมองเป็นโอกาสที่จะฝึกตน ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสู้หมด งานยาก วิชาการยาก เขาจะชอบ เพราะอะไรก็ตามที่ยากก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้ฝึกตนมาก

คนที่มี จิตสำนึกในการฝึกตน เจออะไรยากยิ่งวิ่งเข้าหา ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีจิต สำนึกนี้ พอเจองานยาก เจอวิชายากก็ถอย แล้วก็มีแต่ผลร้ายตามมา คือ

1.ไม่เต็มใจทำ เกิดความท้อแท้ ท้อถอย แล้วก็ขาดความสุข เสียสุขภาพจิต

2.ไม่ตั้งใจทำ ก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ผล

ส่วน คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน พอเจออะไรที่ยากก็มองเห็นว่าเป็นเครื่องฝึกตัวที่จะทำให้พัฒนาตนได้มาก และเกิดความรู้สึกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก

ระหว่างของยากกับของง่าย เด็กพวกนี้จะเข้าหาของยาก เพราะยิ่งยากยิ่งได้มาก ทำให้ฝึกตนได้ดี เขาจะมองเห็นว่า ถ้าเราผ่านสิ่งที่ยากได้แล้วเราก็จะทำสิ่งที่ง่ายได้แน่นอน และจะทำให้เราได้สะสมประสบ การณ์ความชำนาญในการทำงานเพิ่มขึ้นๆ

ผลดีที่เกิดขึ้น คือ

1.มีความเต็มใจ พอใจ ยินดีที่จะทำ ซึ่งทำให้เขามีความสุขในการที่จะทำงาน หรือเล่าเรียนศึกษา

2.มีความตั้งใจ ซึ่งทำให้ทำได้ผล

พูดสั้นๆ ว่า งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข นี้คือสิ่งที่พึงปรารถนาในการทำงาน

ถ้า ปลูกจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ขึ้นมา แล้ว วินัยก็จะมีความหมายเป็นการฝึกตน ซึ่งทำให้การฝึกวินัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร

เป็นอันว่าต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ เพื่อทำให้เด็กสู้กับสิ่งที่ยาก และเข้าหาสิ่งที่ยาก โดยมีความเต็มใจ และความสุข

วินัย (14) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (14) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัยในฐานะวินัย ในระบบการสร้างสรรค์อภิบาลโลก

วินัยนั้น เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย

เรื่อง นี้เป็นไปตามหลักการที่แยกเป็นธรรมฝ่ายหนึ่ง กับวินัยฝ่ายหนึ่ง ตามหลักการนี้ มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลก โดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่แยกง่ายๆ เป็น 2 ส่วน คือ

1. ในสถานะที่เป็นบุคคล เรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งความจริงตามสมมติของกฎมนุษย์

2. ในสถานะที่เป็นชีวิต เรามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และความจริงของกฎธรรมชาติ

ใน ด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราก็ต้องรักษาให้ดี แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ถูกต้องกับโลกของธรรมชาติ เราก็ละเลยไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ทั้งชีวิตเราและคนอื่นทุกคน รวมทั้งสังคมทั้งหมด ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น เราจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งสองด้านนี้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตที่ดีงามดำเนินไปด้วยดี บุคคลก็มีความสุข และสังคมก็อยู่เรียบร้อย

ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ด้วยกัน ละเลยหลักการแห่งเหตุและผลตามความจริงของกฎธรรมชาติ ความอยู่ดีนี้ก็ไม่สมบูรณ์ไม่มั่นคง สังคมก็จะปั่นป่วนภายหลัง หรือจะเอาแต่ความจริงของกฎธรรมชาติอย่างเดียว ละเลยความสัมพันธ์ที่ดีงามและความเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันระหว่างมนุษย์ โลกก็แห้งแล้ง แล้วก็จะทำให้อยู่กันไม่เป็นสุขเท่าที่ควรอีก

เพราะ ฉะนั้น จะต้องคำนึงทั้ง 2 ด้าน คือ มนุษย์จะต้องรักษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติไว้

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงประทานหลักเกณฑ์ที่ทำให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติตาม ก็จะเกิดระบบองค์รวมที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์เอง กับระบบของความสัมพันธ์กับธรรมชาตินั่นเอง

ความสัมพันธ์นี้ โดยสรุปก็คือ

ก) เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง คือตัวเรากับมนุษย์คนอื่น ว่าเราจะต้องมีความเกื้อกูลช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกัน ในสถานการณ์ 3 อย่าง คือ

1. ในยามที่เขาอยู่เป็นปกติสุข เราก็มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีความปรารถนาดี เรียกว่า เมตตา

2. ในยามที่เขาตกต่ำลง เดือดร้อนเป็นทุกข์ ประสบปัญหา เราก็เห็นใจ พลอยหวั่นใจด้วย ปรารถนาจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา

3. ในยามที่เขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุข เราก็มีความยินดีด้วย พลอยส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า มุทิตา

สำหรับ มนุษย์เราก็มี 3 สถานการณ์นี่แหละ และทางธรรมท่านก็ให้หลักที่จะปฏิบัติไว้พร้อม คือ ยามปกติ เราก็ใช้เมตตา ในยามที่เขาตกต่ำ เราก็ใช้กรุณา ยามเขาขึ้นสูง เราก็ใช้มุทิตา นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบต่อตัวธรรม ตัวหลักการ ตัวความจริงความดีงามที่เป็นเหตุเป็นผลในกฎธรรมชาติ ตลอดจนความจริงความดีงามตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุผลที่มนุษย์ได้มาจัดวางเป็นกฎใน หมู่มนุษย์คือวินัย

หมายความว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ไปกระทบ ต่อตัวหลักการที่เป็นตัวธรรม หรือวินัยที่พูดไปแล้ว เราจะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน 3 ข้อข้างต้นนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้แก่การทำหน้าที่ของธรรมวินัย

อัน นี้เป็นจุดที่สำคัญมาก คือจะต้องให้ตัวธรรมตัววินัยนั้นได้แสดงหลักแสดงผลออกมา หมายความว่า มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามตัวหลักการตัวกฎเกณฑ์ ที่เป็นความจริง หรือที่ตกลงไว้ คือตัวธรรม ตัววินัยนั้น

ตอนนี้ กฎเกณฑ์แห่งจริยธรรม และหลักการแห่งความจริงความถูกต้องความดีงาม ตลอดจนกฎหมายกติกาสังคม จะต้องออกมาได้รับการปฏิบัติ นี้คือสถานการณ์ที่ 4 ซึ่งวางลงเป็นหัวข้อได้ คือ

4. ในกรณีที่ความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างบุคคลในข้อ 1-2-3 จะส่งผลกระทบเสียหายหรือทำลายหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ในธรรมดาแห่งธรรมชาติ (ธรรม) ก็ดี ที่บัญญัติจัดวางเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ (วินัย) ก็ดี เราจะต้องหยุดหรือระงับการปฏิบัติในข้อ 1-2-3 เสีย และปล่อยให้มีการปฏิบัติตามหลักการแห่งธรรมและวินัย เพื่อให้ธรรมตั้งอยู่ในโลกต่อไป

การปฏิบัติในกรณีนี้ คือการมีท่าทีเป็นกลาง โดยวางเฉยต่อบุคคล ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงขัดขวางการแสดงผลของธรรมหรือวินัย คือให้บุคคลนั้นรับผลตามธรรมตามวินัย เรียกว่า อุเบกขา

วินัย (15) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (15) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วินัย ในฐานะ ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักการแห่งธรรมวินัย ก็จะเกิดผลร้าย คือมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม

อัน นี้จะเห็นได้ในบางสังคม ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่ คนมีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก จนแม้แต่จะละเมิดกฎเกณฑ์กติกา ก็ไม่เอาใจใส่ มองข้ามไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น ทำให้หลักการ ทั้งในความจริงของธรรมชาติ และในสังคมมนุษย์ ที่เรียกว่า ธรรมวินัย เลือนรางจางหายลงไป กลายเป็นว่า หมู่มนุษย์ไม่ปฏิบัติตามธรรมและวินัย เหมือนกับร่วมกันหรือสมคบกันทำลายตัวธรรมตัววินัยลงไปเสีย แล้วผลร้ายก็จะเกิดแก่สังคมของมนุษย์เองในระยะยาว

ในทางตรงข้าม ถ้าเราจะเอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ละเลยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคล มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อย คนไม่เอาใจใส่กัน ก็จะกลายเป็นระบบตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกา ต่อหลักการ ต่อตัวธรรม ตัววินัย กฎหมายหรือกติกาว่าอย่างไร ก็ทำตามนั้น คุณจะทำอะไร คุณก็ทำไป แต่อย่าให้ผิดกฎผิดระเบียบนะ ฉันจัดการทันที ในระหว่างนี้ตัวใครตัวมัน ไม่เกื้อกูล ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจ

ใน สังคมแบบนี้ ก็เอียงไปอีก ชีวิตแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น มนุษย์จะมีความเครียด จิตใจไม่สบาย และถ้าขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จนเกินควรถึงขีดหนึ่ง คนจะเริ่มเกิดโทสะ แค้นเคืองว่าไม่มีใครเอาใจใส่กันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย คราวนี้ไม่เอาละ หลักการกฎเกณฑ์กติกาก็ทำลายมันเลย ก็เสียอีก

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้ารักษาไว้ให้พอดี สังคมก็จะสมดุล โลกมนุษย์ก็มีสันติสุข

ที่ว่ามานี้เกี่ยวข้องกับวินัยตรงไหน ก็ตรงที่ว่าวินัยนั้นอยู่ในส่วนของกฎเกณฑ์กติกาที่เนื่องมาจากธรรม

หมาย ความว่า เราจะต้องให้ความสำคัญแก่วินัย ที่เป็นมาตรฐานของสังคม เช่น กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบต่างๆ อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปเด่นเหนือวินัย

ในบางสังคม เหตุสำคัญที่วินัยไม่สามารถเกิดขึ้นก็เพราะว่าประชาชนเอาความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลมากเกินไป มีการอุปถัมภ์กัน ช่วยเหลือกัน จนกระทั่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พัฒนาตน ก็ได้แต่คอยรอพึ่งพาคนอื่น เพราะสามารถหวังความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นต้นได้ เราไม่ต้องทำก็ได้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็มาช่วยเอง เราทำผิดหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวไปบอกเจ้านาย ถึงอย่างไรท่านก็เมตตา ก็เลยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม

ในกรณีอย่างนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นตัวเด่นเกินไป สังคมก็เสียดุลยภาพ เพราะคนขาดอุเบกขา กฎเกณฑ์กติกาหลักการ ทั้งตามธรรมชาติและของสังคมคือตัวธรรมวินัย ถูกละเลย

ส่วนในบาง สังคม ความสัมพันธ์มีน้ำใจช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลนี้ เขาไม่เอาใจใส่ เขาเอาแต่หลักการและตัวกฎเกณฑ์กติกา เรื่องตัวคนไม่เกี่ยว ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง ว่าไปตามกฎ จนกระทั่งเลยเถิด ก็กลายเป็นตัวใครตัวมันอย่างที่ว่าแล้ว

ฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้จึงยาก ธรรมยากตรงนี้แหละ คือต้องคอยระวังว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดความพอดี นี้คือความพอดีอย่างหนึ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ดุลยภาพ ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ และอันนี้ก็คือหลักพรหม วิหารนั่นเอง

พรหมวิหาร ประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรักความปรารถนาดี มีไมตรีกัน ยามปกติ

๒. กรุณา ความพลอยหวั่นใจเห็นใจ อยากช่วยเหลือ ยามเขาตกต่ำเดือดร้อน

๓. มุทิตา ความพลอยยินดี อยากส่งเสริมสนับสนุน ยามเขาขึ้นสู่ความดีงามความสุขความสำเร็จ

๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบ ตามธรรม ตามวินัย

สาม ข้อแรก วางไว้สำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหมู่มนุษย์ ที่บอกสั้นๆ ว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติ เรามีเมตตาไมตรี ยามเขาตกต่ำ เรามีกรุณา ยามเขาได้ดีมีสุข เราก็มีมุทิตา

นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่หนักไปทางด้านความรู้สึก แทบไม่ต้องใช้ปัญญา

แต่ พอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ส่งผลเสียหายไปกระทบต่อตัวธรรม ตัววินัย ตัวหลักการ ตัวกฎกติกาขึ้นมา เราต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อรักษาตัวธรรมตัววินัยนั้นไว้ ตอนนี้ไม่ใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้ปัญญามาก เอาความรู้มาปรับหรือแม้แต่ระงับความรู้สึก

โลกวัชชะ khaosod

โลกวัชชะ

คอลัมน์ ศาลาวัด



เรื่องโทษที่ไม่ร้ายแรงในทางพระธรรมวินัยสงฆ์ เราเรียกว่า โลกวัชชะ ทำให้โลกติเตียนพระ ชาวโลกตำหนิติเตียน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า โลกวัชชะ (อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ) ว่า โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก, ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ

โลกวัชชะ ใช้เรียกอาบัติหรือความผิดของพระภิกษุที่ชาวโลกตำหนิติเตียนว่าไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะ

ความ ผิดที่เป็นโลกวัชชะนั้น เช่น การทะเลาะวิวาท ทำโจรกรรม ฆ่าคนตาย ความผิดอย่างนี้ แม้คนทั่วไปทำ ก็ถูกตำหนิติเตียนเหมือนกับพระภิกษุไปทำ แต่พระภิกษุที่ได้ชื่อเป็นผู้วางตัวเหมาะสม ยิ่งต้องถูกตำหนิมากขึ้น

อีก ประการ การกระทำบางอย่าง แม้ไม่เป็นความผิดตามพระวินัย แต่ก็เป็นโลกวัชชะ คือ ถูกตำหนิติเตียนได้ เช่น สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ส่งเสียงดังในที่ชุมนุมชน ไม่เอื้อเฟื้อแก่สตรีและเด็ก เป็นต้น

สำหรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาความผิด ได้มีบัญญัติไว้ในพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เป็นกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง

โดยเจ้าสังกัด เจ้าของเขต มีอำนาจพิจารณาลงโทษแก่พระภิกษุหรือสามเณร เมื่อปรากฏว่าประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ด้วยการ

(ก) ละเมิดพระวินัยอันเป็นโลกวัชชะ

(ข) บิดเบือนพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือกล่าวตู่พระธรรมวินัย หรือตีความพระธรรมวินัยตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ยึดหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา

หรือ (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่พระพุทธศาสนา หรือให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา

(2) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองคณะสงฆ์ด้วยการ

(ก) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎ มส. ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศของ มส.

(ข) ฝ่าฝืนพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่สั่งโดยชอบ

(ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารงานของคณะสงฆ์

ใน กรณีพระภิกษุผู้กระทำผิดตาม (1) หรือ (2) เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตใกล้ชิดที่ความผิดเกิดขึ้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษ

ทั้งนี้ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิดมี 4 สถาน คือ (1) ให้สละสมณเพศ (2) ตำหนิโทษ (3) ภาคทัณฑ์ (4) ว่ากล่าวตักเตือน

แต่ หากเป็นโทษที่พระรูปนั้นประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูป หรือโลกวัชชะ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิด คือ การว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น

วิดน้ำออกจากเรือ ข่าวสด

วิดน้ำออกจากเรือ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



สภาวะในปัจจุบันนี้ ประเทศของเรากำลังประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เกือบครึ่งประเทศ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เราคนไทยทุกคนก็ควรที่จะช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อกัน ให้กำลังใจกัน ในยามทุกยากเช่นนี้ ให้ข้ามพ้นอุทกภัยครั้งนี้ไปให้จงได้

อุทกภัย คือ ภัยจากน้ำท่วม เป็นภัยภายนอก เป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นภัยที่ไม่สามารถห้ามได้ ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ วันไหน แต่น้ำคือภัยภายในคือ กิเลสนั้น สามารถจะวิดออกได้จากใจบุคคลผู้ที่ต้องการความสุข

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงวิดน้ำออกจากเรือ คืออัตภาพนี้ เรือที่เธอวิดน้ำออกแล้ว จักพลันถึงฝั่ง เธอตัดราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว แต่นั้น เธอจักถึงซึ่งพระนิพพาน ตามพุทธพจน์นี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าอัตภาพร่างกายเปรียบเสมือนเรือ ข้อปฏิบัติที่ขจัดกิเลส อาสวะ เปรียบด้วยการวิด กิเลสทั้งหลายเปรียบด้วยน้ำ

บุคคลที่อยู่ในเรือที่กำลังแล่นไป ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำไหลเข้าเรือ ถ้าน้ำไหลเข้ามาในเรือ เรือก็จะถึงฝั่งได้ช้า หรืออาจอับปางลงในระหว่างทางก็ได้ เมื่อวิดน้ำให้แห้งอุดรูรั่ว แล้วรีบแจวรีบพาย ก็จะถึงที่หมายได้โดยไม่ช้า อัตภาพร่างกาย เปรียบเหมือนเรือ ใจก็เหมือนคนที่ไปในเรือหรือเจ้าของเรือ ถ้าไม่เอาใจใส่บำรุงรักษา ปล่อยให้มีรูรั่ว คือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รุมเร้า ก็จะถึงกาลอวสานแห่งชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ถ้าเจ้าของเอาใจใส่ระมัดระวังไม่ประมาท ก็อาจดำรงชีพอยู่ได้จนถึงอายุขัย

อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่ามนุษย์ทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม 4 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ

การที่จะวิดน้ำคือ กิเลส ให้ลดน้อยลงหรือให้หมดไป ต้องอุดช่องที่กิเลสจะไหลเข้าได้ทั้ง 6 ช่อง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอายตนะภายใน เป็นที่ตั้งแห่งการกระทบของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก หากไม่รู้จักปิดช่องเหล่านี้ แม้ตั้งใจจะขจัดกิเลสให้เบาบางหรือหมดสิ้นไป ก็ไม่อาจทำได้ เพราะกิเลสทั้งหลาย ยังมีช่องให้หลั่งไหลเข้าได้ การที่จะปิดช่องกิเลสที่แล่นเข้ามาหาทั้ง 6 ช่อง พระพุทธองค์ตรัสว่า จะต้องใช้สติปัญญา เป็นเครื่องกั้น สติ คือความระลึกได้อยู่เสมอว่ากิเลสกำลังเข้ามา ปัญญา คือ ให้รอบรู้เท่าทันกิเลสว่า นี้เป็นเสียง นี้เป็นรูป เมื่อได้ยินเสียง ได้เห็นรูป ก็ให้รู้เท่าทัน และให้คิดเพียงสักว่าเห็น เพียงสักว่าแต่ได้ยินเท่านั้น

ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายควรหาโอกาสปลีกตนจากความกังวลวุ่นวายต่างๆ อบรมกาย วาจา ใจ ให้สงบ และไม่ควรพอใจหยุดอยู่ในคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่ได้ประสบ เมื่อกิเลสอาสวะยังเหลืออยู่ ควรพยายามเพื่อบรรลุธรรมชั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไป



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สินบนนำจับ matichononline

นัก กม.กฤษฎีกาชำแหละระบบ"สินบนนำจับ" อธิบดีกินรวบ2ต่อทุกคดี ฐานะ"ผู้สั่งการ-ผู้จับ"กดขี่"ผู้น้อย"

นายอรรถสิทธิ์ กันมล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนบทความวิชการ เรื่อง"การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายไทย"ชี้ ให้เห็นข้อบกพร่องในระบบการ"จ่ายเงินรางวัล"(ที่ชาวบ้านมักเรียกสินบนนำจับ) หรือการจ่ายเงินรางวัลหรือเงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดที่กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับ ทางอาญาซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายเกือบ 150 ฉบับว่า มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นซึ่งทำให้หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าส่วน ราชการ(ระดับอธิบดี)มีอำนาจในการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลในระเบียบของ หลายหน่วยงาน


จึงมักปรากฏว่า มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลในฐานะ "ผู้สั่งการให้มีการจับกุม" และยัง มีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีซึ่งทำให้เกิดความไม่เสมอภาคต่อเจ้าหน้าที่ ระดับปฏิบัติงานเนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงินรางวัล ในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการจับกุม


ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ


หนึ่ง การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจกำหนดสัดส่วนเงินรางวัล

เนื่องจากการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลและการกำหนดสัดส่วนการได้รับ เงินรางวัล กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ดังนั้น ในการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลในระเบียบของหลายหน่วยงานจึงมักปรากฏว่า ได้มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลใน ฐานะ "ผู้สั่งการให้มีการจับกุม" และยังมีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีด้วย


นอกจากนั้น ในการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลก็ปรากฏว่า ผู้ มีอำนาจได้กำหนดให้ตนเองหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงิน รางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการจับ

การกำหนดเช่นนี้น่าจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีเงินรางวัลที่ต้องการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพราะผู้มีอำนาจดังกล่าวจะทำหน้าที่ผู้บริหารหน่วยงานมากกว่าที่จะทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและการที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจออกระเบียบที่ให้ประโยชน์แก่ตนเองเช่นนี้ อาจเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย


สอง การกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่


เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ.2546 กำหนดให้การพิจารณาจ่ายเงินรางวัลเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการโดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องมิได้


ดังนั้น ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การ กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรมีสิทธิรับเงินรางวัลในทุกคดีและในสัดส่วนที่สูง กว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน หรือจับกุมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นก็มิอาจคัดค้านหรือโต้แย้งได้


กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินในภาครัฐ ก็มิอาจตรวจสอบและแก้ไขระเบียบที่หัวหน้าส่วนราชการกำหนดให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้ เพราะได้กำหนดให้เป็นอำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าส่วนราชการไปแล้ว


สาม การกระจายสัดส่วนเงินรางวัลที่มากเกินทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์


จากการตรวจสอบระเบียบของหลายหน่วยงาน พบว่า ผู้มีอำนาจได้กำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลให้ครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดใน หน่วยงานนั้น และกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลให้กระจายไปยังเจ้าหน้าที่กลุ่มต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละกลุ่มได้รับเงินรางวัลในจำนวนน้อยจนไม่อาจสร้างแรงจูง ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรงปฏิบัติหน้าที่ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตได้ ซึ่งนั่นย่อมทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์


บทความดังกล่าวระบุว่า การจ่ายเงินรางวัลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเป็นการจายเงินรางวัลเพื่อชดเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีราย ได้น้อย เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตจากการรับสินบนหรือประโยชน์ ตอบแทนอื่นที่มิชอบด้วยกฎหมายจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการจ่าย เงินรางวัลเพื่อตอบแทน ภาระงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานที่มีความเสี่ยงอันตราย อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งมีสิทธิได้รับเงินรางวัล ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป อาจก่อให้เดปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือ


(1) การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) เช่น มุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีรางวัลสูงๆ หรือชอบที่จะปราบปรามมากกว่าการป้องกันซึ่งไม่มีผลตอบแทนอะไร


(2) การสร้างความไม่เป็นธรรม ในระบบการทำงานของข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนจากการปฏิบัตหน้าที่ตาม ปกติสูงกว่าข้าราชการอื่นซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคและไม่เท่า เทียมกัน


ปัจจุบันการจ่ายเงินรางวัลมีปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 และ การจ่ายเงินรางวัลตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546


การหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลังเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลให้แก่เจ้า หน้าที่ของรัฐตามข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 เกิดขึ้นจากนโยบายในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการ ทำงานและเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ออกข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้หัวหน้า ส่วนราชการ หรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจหักเงินค่าปรับซึ่งได้รับชำระจากผู้กระทำความ ผิดทางอาญาตามฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจำนวน 132 ฉบับ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อจ่ายเป็นเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน


การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้จ่ายเงินรางวัล


ปัจจุบันมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจำนวน 15 ฉบับ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับผู้กระทำความผิด และกฎหมายดังกล่าวมิได้อยู่ในบัญชีรายชื่อกฎหมายแนบท้ายประกาศกระทรวงการ คลัง เรื่อง การกำหนดประเภท และอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง ซึ่งได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการไฟฟ้า พ.ศ. 2503 (2) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (3) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (4) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 (5) พระราชบัญญัติไพ่ พ.ศ.2486


(6) พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (7) พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2529 (8) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 (9) พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 (10) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510


(11) พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (12) พระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 (13) พระราชบัญญัติส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 (14) พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และ (15) พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489

ปัจจุบันความแตกต่างกันของการกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในระบบของการปฏิบัติราชการ 3 ประการ คือ


1.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน โดยหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งกำหนดให้มีเงินรางวัลจะมีสิทธิรับเงิน รางวัลเป็นค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่หน่วยงานบางแห่งซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ในกฎหมายมิได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินรางวัล เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวได้


2.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ใน หน่วยงานที่ต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่กำหนดผู้มีสิทธิรับ เงินรางวัลอย่างกว้าง จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจับ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการทั่วไป มีสิทธิรับเงินรางวัล


ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่เดียวกันแต่ปฏิบัติ หน้าที่อยู่ในหน่วยงานอื่นที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ โดยตรง ในการจับเป็นผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไม่มีสิทธิรับเงินรางวัล


3.เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน โดยในกรณีที่มีการกำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลจำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ จับในความหมายอย่างแคบ แต่ในการดำเนินการเพื่อให้มีการจับนั้นยังมีเจ้าหน้าที่อื่นร่วมดำเนินการ ด้วยแต่มิได้กำหนดให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการร่วมกันเพื่อให้มีการจับในหน่วยงานเดียวกันมี ทั้งที่มีสิทธิรับเงินรางวัลและไม่มีสิทธิรับเงินรางวัล


จากสภาพปัญหาของการจ่ายเงินรางวัลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังมีปัญหาหลาย ประการ ทำให้การจ่ายเงินรางวัลไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การบังคับ ใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงเห็นควรพิจารณาดำเนินการใน 2 แนวทาง ดังต่อไปนี้


1.การทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมาย


โดยที่การจ่ายเงินรางวัลเป็นการจ่ายเงินเพื่อ


(1) ชอเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้น้อย


(2) สร้างแรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่


และ(3) ตอบแทนภาระงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานที่มีความเสี่ยงอันตราย โดยเป็นการนำเงินซึ่งได้จากการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง หรือแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้จากการ กระทำผิดกฎหมาย โดยเงินในส่วนนี้จะไม่ตกเป็นเงินในระบบงบประมาณแผ่นดินแต่ให้หน่วยงานของรัฐ บริหารจัดการตามระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลการใช้จ่าย เงินโดยการวางกรอบในข้อบังคับและประกาศแต่มิได้พิจารณาลงไปในรายละเอียดของ การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลและอัตราหรือสัดส่วนเงินรางวัล


ดังนั้น จึงทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการใช้จายเงินดังกล่าวให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกันได้ และการกำหนดให้มีเงินรางวัลยังสร้างปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างหน่วยงานของ รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากวัตถุประสงค์ของการ จ่ายเงินรางวัลอยู่แล้วเช่น การชดเชยค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้น้อยหรือการสร้างแรงจูงใจ แก่เจ้าหน้าที่มิให้ทุจริตได้กำหนดให้มีเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เงินรางวัลประจำปี หรือเงินเพิ่มค่าครองชีพตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น หรือการกำหนดเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย


ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพจึงสามารถใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่มี อยู่พิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้า หน้าที่แทนระบบการจ่ายเงินรางวัลที่ดำเนินการและมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินในภาครัฐให้เกิด ประโยชน์สูงสุดและเกิดความเสมอภาคกันในระบบราชการมากยิ่งขึ้น


2.การปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัล


ในกรณีที่เห็นว่ายังมีเหตุผลความจำเป็นที่ควรให้มีระบบการจ่ายเงิน รางวัลต่อไป เพื่อให้การจ่ายเงินรางวัลมีมาตรฐานและเป็นการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพได้จริง สมควรปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัล ในประเด็นดังนี้


การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล

เนื่องจากการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลังได้ กำหนดให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการโดยไม่มีกรอบการใช้ดุลพินิจ ในทางปฏิบัติจึงมีการกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลที่แตกต่างกัน เพื่อให้การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลของหน่วยงานต่างๆ มีมาตรฐานยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขนิยาม "เจ้าหน้าที่ผู้จับ" ใน 4 แห่งข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2547 โดยกำหนดให้กระทรวงการคลัง ต้องวางระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดของลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ใด หรือการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะใดบ้างที่จะถือเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจับกุมผู้ กระทำผิดหรือเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่อันได้มาซึ่งเงินค่า ปรับ


นอกจากนั้น เห็นควรแก้ไขความในข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ระเบียบที่กำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลซึ่งหัวหน้าส่วนราชการ ต่างๆ กำหนดขึ้นต้องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีโอกาสตรวจสอบความเหมาะสมของการกำหนดผู้มีสิทธิรับ เงินรางวัล


การกำหนดอัตราและสัดส่วนเงินรางวัล


(1) เนื่องจากการกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลยังมีทั้งที่กำหนดเพดานขั้นสูงของ เงินรางวัลและที่มิได้กำหนด เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการกำหนดอัตราเงินดังกล่าวควรที่จะได้มีการกำหนดเพดาน ขั้นสูงของเงินรางวัลจากการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 132 ฉบับท้ายประกาศกระทรวงการคลังฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับการกำหนดเพดานอัตราเงินรางวัลตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดประเภทและอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง (ฉบับที่ 4)


(2) เห็นควรแก้ไขความในข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ระเบียบที่กำหนดสัดส่วนเงินรางวัลซึ่งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ กำหนดขึ้น ต้องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีโอกาสตรวจสอบความเหมาะสมของการกำหนดสัดส่วนเงิน รางวัล

(หมายเหตุ-เป็นการนำลทความมานำเสนอเฉพาะบางส่วน ผู้ที่ต้องการอ่านฉบับเต็มดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general)

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฉลาดผูก ฉลาดแก้ khaosod

ฉลาดผูก ฉลาดแก้

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ใน การอยู่ร่วมกันในสังคม ย่อมจะมีปัญหาน้อยใหญ่เข้ามากระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับเราแล้ว สิ่งสำคัญเราจะต้องมีปฏิภาณ คือความฉลาด มาแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่วนใครจะฉลาดมาก ฉลาดน้อย ย่อมแล้วแต่ความรู้ที่ได้เล่าเรียนได้สัมผัสมา ถ้ามีความรู้มาก ก็ยิ่งมีกำลังสามารถมาก ถ้ามีความรู้ความฉลาดน้อย แต่ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติม ก็อาจจะฉลาดได้

คนบางคนเพียงแต่ฉลาด ผูกแต่ไม่ฉลาดแก้หรือเพียงแต่ฉลาดแก้แต่ไม่ฉลาดผูก ก็ย่อมที่จะไม่อำนวยให้ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จได้ ต้องฉลาดทั้งผูกและฉลาดทั้งแก้ เราเรียกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายๆ ด้านว่า เป็นผู้มีความสามารถสูงนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความสามารถดังกล่าวก็คือความเป็นผู้ฉลาดผูกฉลาดแก้นั่นเอง

คำว่า ฉลาดผูกนั้น หมายถึง ให้เรารู้จักผูกไมตรี ให้มีมนุษยสัมพันธ์ในสังคม เราต้องยอมรับความจริงว่า คนเราจะอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ นักปราชญ์กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ธรรมชาติสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยหวังที่จะให้อยู่กันเป็นหมู่เป็นสมาคม ต้องพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงจะมีความสุข สมกับเป็นมนุษย์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า คนที่จะมีพวกพ้องเพื่อนฝูงมาก หรือ ควบคุมบริษัทบริวารให้มีความรักใคร่สนิทสนมกับตนได้นั้น ต้องประพฤติตามหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวน้ำใจคน ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ เพราะเป็นความประพฤติอันดีงาม สามารถเหนี่ยวรั้งน้ำใจผู้อื่นให้รักใคร่เคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลัง อย่างไม่จืดจาง สังคหวัตถุ 4 ประการคือ 1.ทาน การให้ 2.ปิยวาจา พูดวาจาไพเราะ อ่อนหวาน 3.อัตถจริยา ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และ 4.สมานัตตตา การวางตนเสมอต้นเสมอปลายไม่ถือตัว

ส่วนคำว่า ฉลาดแก้ หมายถึง ความฉลาดสามารถในการแก้ไขปัญหา หรือความยุ่งยากของชีวิต มนุษย์เรานั้นมีความยุ่งอยู่ 2 อย่าง คือ 1.ยุ่งภายใน 2.ยุ่งภายนอก ยุ่งภายในนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ คือ จิตใจดิ้นรนกระวนกระวาย ไม่มีความสงบ เพราะถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ ขาดความอิสระ ขาดความสุขใจ เมื่อเกิดความยุ่งภายในขึ้น ถ้าระงับไว้ไม่อยู่ก็แสดงออกมาภายนอกทางตาบ้าง ทางปากบ้าง ทางมือบ้าง ทำให้พฤติกรรมทางกาย วาจา ของเราผิดปกติไป ส่วนยุ่งภายนอก หมายถึง ยุ่งเรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องญาติพี่น้อง เรื่องการอุปโภคบริโภค สาเหตุที่มนุษย์เราต้องยุ่งกันอย่างนี้ ก็เพราะความอยาก ซึ่งความอยากก็มีหลายประเภท เช่น อยากมี อยากเป็น อยากรวย อยากสวย อยากสุข อยากสบาย เป็นต้น ความอยากแต่ละอย่าง เกิดขึ้นที่ใจก่อน เมื่อใจเกิดอยากขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา อยากอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ทำให้พอแก่ความอยาก แต่ใจของเราไม่เคยรู้จักพอ พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักเต็ม จึงทำให้คนเราต้องลำบากเดือดร้อน ดังนั้นเมื่อเกิดความอยากขึ้น ท่านบอกให้ฉลาดในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ความรู้จักพอประมาณ พอดี พอเพียงนั่นเอง

ฉะนั้น ความเป็นผู้ฉลาดผูกฉลาดแก้ เป็นคุณสมบัติอันสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน เพราะผู้ที่ฉลาดผูกไมตรีโดยยึดหลักสังคหวัตถุ 4 ประการ ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของคนโดยทั่วไป สามารถที่จะทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขได้ ส่วนผู้ฉลาดแก้ ย่อมเป็นอุบายวิธีในการสร้างความสุขให้แก่ตัวเอง สร้างครอบครัวให้มีความมั่นคง ลดปัญหาสังคมลงได้ ดังนั้นสมควรที่ท่านสาธุชนจะน้อมนำไปพิจารณาด้วยปัญญาอันชอบ แล้วปฏบัติตามกำลังและโอกาส ย่อมก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตตลอดไป



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-2430

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สมณสารูป khaosod

สมณสารูป

คอลัมน์ ศาลาวัด



เราคงเคยได้ยินเวลาที่พระภิกษุประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสมว่า "กระทำการไม่เหมาะสมกับสมณสารูป"

คำว่า 'สมณสารูป' ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความถึง ที่สมควรแก่พระ กิริยามารยาทที่สมควรแก่สมณะ

มงคลชีวิต (The Blessings of Life) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 38 ข้อ หรือ เรียกว่า มงคล 38 ประการ

ในมงคลที่ 29 เห็นสมณะ ลักษณะของสมณะ ที่เหมาะสมกับสมณสารูป

สมณะ ต้องสงบกาย คือ มีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน หรือเฮโลยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหน จะอยู่ที่ไหน ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร

ครั้ง หนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะ ในเรื่องนี้ว่า "ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวน ดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย"

นอกจากนี้ สมณะยังต้องคำนึงถึงสมณสารูป คือ จะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย

สมณะ ต้องสงบวาจา คือ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป

สมณะต้องสงบใจ คือ ทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด

การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง 3 ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว

มี คำอยู่ 2 คำที่ใช้ชมความงามของคน คือ ถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไป เราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ

สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย

วันออกพรรษา khaosod

วันออกพรรษา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



วัน ออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2553 การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ปวารณา จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติ ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือน และชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถ นำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

คำว่า ปวารณา หมายถึง การยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ และยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกกรณี มูลเหตุที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา มีเรื่องเล่าว่า มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งอยู่จำพรรษาที่อาวาสแห่งหนึ่ง ท่านมีความประสงค์จะป้องกันการทะเลาะวิวาทกัน จึงตั้งกติกาไว้ว่าจะไม่พูดกัน ต่างทำกิจหน้าที่ของตนแต่ไม่ยอมพูดจากันตลอดเวลา 3 เดือน กติกานี้เรียกว่า มูควัตร คือปฏิบัติเหมือนคนใบ้

เมื่อออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พา กันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องความสุขความทุกข์ในสถานที่อยู่จำพรรษา และกราบทูลเรื่องมูควัตรที่ได้ปฏิบัติให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงตรัสตำหนิว่า วิธีนี้เป็นอาการเหมือนสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าพวกสัตว์จะไม่ถามถึงสุขทุกข์ของกันและกัน พวกเธอปฏิบัติเช่นนี้ไม่สมควร ไม่เหมาะสม แล้วทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน ทำปวารณากัน ด้วยการชี้โทษความพลั้งพลาดตามที่ได้เห็น ได้ยิน หรือมีข้อรังเกียจกัน ท่านสาธุชนทั้งหลายควรนำเรื่องปวารณามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น คนเราอยู่ร่วมกันควรเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันด้วยความหวังดี บริสุทธิ์ใจ จะทำให้มีแต่ความรัก ความห่วงใย และสามัคคีกันในสังคม

หลัง จากออกพรรษาแล้ว วันรุ่งขึ้น คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นการทำบุญระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นั้นก็คือวันตักบาตรเทโวโรหณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก กล่าวกันว่า มนุษย์และเทวดาพร้อมสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างมองเห็นกายของกันปรากฏชัด พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดท่านเหล่านั้นให้ได้บรรลุธรรมนับไม่ถ้วน

พุทธ ศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา เมื่อเทศกาลออกพรรษามาถึงแล้ว ไม่ควรพลาดโอกาสสร้างบุญความดีชำระกาย วาจา และใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการรักษาศีล บริจาคทาน เจริญภาวนา เพื่อเติมความสุขให้ชีวิต อีกทั้งเป็นการรักษาธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม และเป็นการช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (7) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (7) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



วิธี ที่ 1 นี้ก็คือ เมื่อเขาเริ่มต้นชีวิต เข้าสู่สังคม เข้าสู่ชีวิตใหม่ เข้าสู่หมู่ใหม่ เราก็ถือโอกาสตอนนั้น โดยรู้ทันความจริงว่า คนเราเมื่อมีชีวิตอยู่ เขาต้องมีการเคลื่อนไหว เขาจะมีการเคลื่อนไหว คือมีพฤติกรรมนั้น ในเวลาที่เจอประสบการณ์ หรือมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเขาจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเขาจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เคลื่อนไหว อย่างใดอย่างหนึ่ง มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อเขาทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว เมื่อเขาเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมอย่างนั้นซ้ำอีก พอทำอย่างนั้นหลายครั้งเข้า แล้วเขาก็จะชิน และพฤติกรรมอย่างนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขา

ก่อน ที่จะเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชิน นั้น ถ้าพฤติกรรมที่เขาทำครั้งแรกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเสียเปรียบหรือเริ่มเสียโอกาสแล้ว แล้วก็มีหวังว่าพฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขาต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทีนี้พอเคยชินแล้ว คราวนี้เราก็ลำบาก แก้ไขยาก เขาก็จะมีพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นติดตัวไป

ฉะนั้น เพื่อชิงให้เกิดพฤติกรรมที่ดีไว้ก่อน และกันพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ให้เกิดขึ้น เรารีบเอาพฤติกรรมที่ดีที่เราเรียกว่าวินัย คือพฤติกรรมเคยชินที่ดีเข้าไปให้เสียก่อน พอพฤติกรรมที่ดีเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ 1 และเขาจับเอาพฤติกรรมนั้นได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพอเจอสถานการณ์อย่างนั้นครั้งที่ 2 เขาก็จะทำอย่างนั้น พอ 3-4 ครั้ง คราวนี้ลงตัวแล้ว กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดี คราวนี้ก็สบายแล้ว

ฉะนั้น จึงควรใช้วิธีพื้นฐานในการสร้างวินัยซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนี้ ถ้าเราไม่ทำเราก็ต้องเสียโอกาส ถึงอย่างไรมันก็ต้องเคยชินไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เราก็ชิงให้ชินไปในทางที่ดีเสียเลย ฉะนั้น จึงเอาพฤติกรรมเคยชินมาเป็นพื้นฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้นในการสร้างวินัย โดยการทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี

หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลก ยังไม่มีพฤติกรรมเคยชินอะไรทั้งนั้น เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดี ก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย

เมื่อมีคนมาเข้า สู่ชุมชนใหม่ มาโรงเรียนใหม่ ถ้าคนที่อยู่ก่อนประพฤติกันอย่างไร คนที่มาใหม่ก็พลอยตามไป ในเวลาที่มีสถานการณ์อย่างนี้คนทำงานเก่า หรือหัวหน้าเคยทำกันอย่างไร คนที่มาเข้างานใหม่ ก็จะทำตามอย่างนั้น แล้วเขาก็จะเคยชิน ต่อไปเขาก็จะทำอย่างนั้น มีพฤติกรรมอย่างนั้น โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องรู้ตัว

เพราะฉะนั้น ถ้าหัวหน้างานเป็นคนมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดี ก็รีบนำทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตอนแรกให้ดี พอได้ทำอย่างใดแล้ว คนใหม่นั้นก็จะติด เกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน เป็นวินัย ก็สบายไปเลย

แต่ถ้าตอนแรกไม่ใช้โอกาส มัวปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างอื่นไปแล้ว คราวนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก ต้องยุ่งยากลำบากใจเรื่อยไป

ใช้วินัยที่ลงตัวแล้ว คือวัฒนธรรม มาช่วย

วัฒนธรรม ก็มาช่วยในเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่น พ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย พอเจอครั้งแรก แกก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ 2 เด็กก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ 3 ก็เข้าแถว จากนั้นเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเอง จากการถ่ายทอดตามความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (6) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (6) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ใน การพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้น เราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย

ด้วย เหตุนี้ วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย ต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุป ว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย

ความสำคัญของ วินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน

ความมีวินัยหรือศีลนี้ เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง

พระ พุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้ เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น

เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่า ศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

วิธีเสริมสร้างวินัย

สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธี ฝึกวินัยที่ดีที่สุดอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ คือใช้ธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นเครื่องช่วย คือทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง

หมายความว่า มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนี้ อยู่กันด้วยความเคยชิน ที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นอะไรแล้ว จะปฏิบัติการอะไรอย่างไร เราทำไปตามความเคยชินกันเป็นส่วนใหญ่

ความเคยชินเกิดจากอะไร ก็เกิดตามธรรมดาของธรรมชาติหรือตามธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ทำพฤติกรรมอะไร อย่างไร พอทำไปแล้วครั้งสองครั้ง ก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะชินอย่างนั้น และก็จะทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาๆ จนชิน พอชินแล้วก็ยึดมั่นแล้วก็เกิดความพึงพอใจในพฤติกรรม ที่เคยชินนั้น

พอ ชินแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขยาก ยิ่งยึดมั่นแล้ว ก็ยิ่งถอนยาก และปุถุชนก็จะมีเหตุผลมาปกป้องตนเองเสียด้วย ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน ฉันจะต้องยึดแบบนี้ ใครจะมาบอกให้ทำอย่างอื่นไม่เอา

ฉะนั้น เราจึงต้องถือโอกาส ใช้ความเคยชินของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา

เรา ต้องยอมรับว่า มนุษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน จริงอยู่ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า การที่จะฝึกคนนี้ ต้องใช้ความสามารถ และต้องมีระบบในการฝึก ซึ่งต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บางทีก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ถ้าเขาลงเคยชินอย่างไรแล้ว ก็แก้ยาก เรายอมรับความจริงนี้เสียก่อน

เมื่อเรายอมรับความเคยชินเป็นสำคัญแล้ว เราก็ใช้ความเคยชินเป็นการฝึกขั้นแรก คือฝึกให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

โดยถือว่าต้องสร้างวินัย ให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระคุณพระพุทธเจ้า khaosod

พระคุณพระพุทธเจ้า

คอลัมน์ ศาลาวัด



พระคุณของพระพุทธเจ้ามีมากมายมหาศาล ยากที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำหรือตัวอักษรให้หมดสิ้น

ดัง ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงพรรณนาไว้ในหนังสือสมถกัมมัฏฐาน (หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก) ตอนหนึ่ง ความว่า

"แท้จริงคุณของพระ พุทธเจ้านั้น ถ้าจะกล่าวพรรณนาไปเป็นอย่างๆ แล้ว พระคุณมากนัก ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ใครมีปัญญามาก รู้มาก ก็ระลึกตรึกคิดไปได้มาก ใครมีปัญญาน้อย รู้น้อย ก็ระลึกตรึกคิดไปได้น้อย เหมือนอย่างคนที่มีเชือกสมอยาว ทอดสมอลงไปในน้ำลึก คนที่มีเชือกสายสมอสั้น ทอดได้แต่ในที่น้ำตื้นๆ ฉันนั้น..."

พระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อย่อกล่าวให้สั้นที่สุด (ตามพระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ) สามารถย่อได้ 2 ประการ คือ พระปัญญาคุณ กับ พระกรุณาคุณ

พระปัญญาคุณ หมายถึง พระปรีชาญาณที่รอบรู้ทั่วไปในสภาวธรรมที่จริง คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น และสภาวธรรมที่ไม่จริง คือสิ่งสมมติว่าสัตว์ บุคคล เป็นต้น ทรงละสภาวธรรมที่ไม่จริง

ทรงนำสภาวธรรมที่จริงนั้นมาเป็นอารมณ์ พิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกิเลสกับทั้งวาสนาขาดจากกันขันธสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด ไม่กลับมากำเริบเกิดขึ้นอีก

ส่วนพระกรุณาคุณ หมายถึง พระคุณที่เป็นส่วนพระกรุณาสั่งสอนสรรพสัตว์ให้พ้นจากสรรพทุกข์ กล่าวคือ ครั้นพระองค์ตรัสรู้สภาวธรรมที่จริงและไม่จริงจนละกิเลสกับทั้งวาสนาของ พระองค์ได้แล้ว ทรงสั่งสอนผู้อื่นให้รู้เห็นตามในสภาวธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น จนได้บรรลุมรรคผล สามารถทำพระนิพพานให้ประจักษ์แจ้งได้ด้วยภูมิปัญญา

เมื่อ ทรงสั่งสอนผู้อื่นเพื่อจะให้ตรัสรู้ตามในสภาวธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ก็หาได้ทรงย่อหย่อนท้อถอยในการที่จะทรงสั่งสอนผู้อื่นไม่

จึงนับว่า พระองค์ทรงมีพระกรุณาแผ่ไพศาลในสรรพสัตว์ โดยทรงมุ่งจะอบรมสั่งสอนให้รับรู้รสพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อันส่งผลให้ สามารถหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ในที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ พระมหาเถระโบราณาจารย์ของไทยยังนิยมกำหนดพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยย่อเป็น 2 ประการ คือ อัตตหิตคุณ พระคุณที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลส่วนพระองค์ และปรหิตคุณ คือ พระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น

อัตตหิตคุณ หรืออัตตหิตสมบัติ เทียบได้กับปัญญาคุณ

ส่วนปรหิตคุณ หรือปรหิตสมบัติ เทียบได้กับกรุณาคุณนั่นเอง

ศีล227ข้อ-ระวังอาบัติ khaosod

ศีล227ข้อ-ระวังอาบัติ

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา



คนที่เข้าวัดบ่อยๆ อาจเคยได้ยินพระภิกษุพูดกันว่า "ปลงอาบัติ" หลายคนอาจจะงงว่า อาบัติ คืออะไร?

'อาบัติ' คำนี้มาจากภาษาบาลีว่า 'อาปตฺติ' แปลว่า การต้อง ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติของพระภิกษุ ซึ่งพระภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาจะต้องถือศีล 227 ข้อ อย่างเคร่งครัดและระมัดระวัง

ศีล 227 ข้อ ประกอบด้วยครุกาบัติ (อาบัติหนัก) ถุลลัจจยาบัติ (อาบัติชั่วหยาบ) และลหุกาบัติ (อาบัติเล็กๆ น้อยๆ)

ครุ กาบัติ อาบัติหนัก ได้แก่ ปาราชิก 4 ข้อประกอบด้วย 1.ห้ามภิกษุเสพเมถุน 2.ห้ามถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ตั้งแต่ราคา 5 มาสกหรือหนึ่งบาทในยุคพุทธกาล (ปัจจุบันค่าเงินเปลี่ยนไป) 3.ห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ 4.ห้ามภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน (หมายถึงความเป็นพระอริยบุคคล 8 ระดับ อาทิ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล ฯลฯ)

อาบัติทั้ง 4 ข้อนี้ ภิกษุเมื่อต้องแล้วจะขาดความเป็นพระ ทันที คือไม่ใช่พระอีกต่อไป ไม่ว่าจะมีผ้าเหลืองสวมกายหรือไม่ก็ตามที

แต่ ทั้งนี้ การวินิจฉัยความผิดอาบัตินั้น มีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ รู้ว่าเป็นมนุษย์ มีเจตนาคิดจะฆ่า วางแผนฆ่า พยายามฆ่า และทำจนสำเร็จ เป็นต้น

ส่วนสังฆาทิเสส 13 ข้อ อาทิ ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน, ห้ามจับต้องกายหญิง, ห้ามพูดเกี้ยวหญิง, ห้ามพูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ฯลฯ ทั้ง 13 ข้อนี้เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งแล้วต้องประกาศต่อที่ประชุมสงฆ์ จตุรวรรค (4 รูป) ว่าตนต้องอาบัตินั้นแล้วอยู่มานัตคือการนับราตรีอีก 6 วัน จากนั้นก็ประกาศให้พระภิกษุวีสติวรรค (20 รูป) เพื่อทำอัพภาน (การเรียกเข้าหมู่) ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

สำหรับกรณีที่ปกปิดไว้หลาย วันจะต้องอยู่ปริวาสชดใช้ครบจำนวนวันที่ปกปิดแล้วอยู่มานัตอีก 6 ราตรี แจ้งประชุมสงฆ์เรียกเข้าหมู่หรือวุฏฐานวิธี เพื่อเป็นผู้บริสุทธิ์คือเป็นพระต่อไปได้

สำหรับอาบัติหยาบได้แก่ ถุลลัจจัย 4 อนิยต 2 เช่นอยู่ในที่ลับหูลับตาสองต่อสองกับสีกา

ลหุกาบัติซึ่งประกอบด้วยนิสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 ทุกกฎ 1 ทุพภาสิต 2 เสขิยวัตร 75 รวมเป็น 227 ข้อ

อาบัติทั้ง 227 ข้อ อาบัติปาราชิกเมื่อพระภิกษุต้องแล้วถือว่าขาดจากความเป็นพระทันที ที่เหลือยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

อย่าง ไรก็ตาม การจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดวินัยอย่างไรต้องดูทั้งปัณณัติวัชชะและโลกวัชชะ เป็นองค์ประกอบ บางกรณีผิดปัณณัติวัชชะแต่ไม่ผิดโลกวัชชะ บางกรณีผิดโลกวัชชะแต่ไม่ผิดปัณณัติวัชชะ ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ต้อง เข้าใจด้วยว่าพระถือกฎหมาย 3 อย่าง คือ 1.พระวินัย 2.พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3.กฎหมายบ้านเมือง การจะวินิจฉัยหรือกระทำการใดต้องดูองค์ประกอบทั้ง 3 อย่าง

หาไม่แล้วคงไม่เหลือพระดีให้เรากราบ

ศีลธรรม khaosod

ศีลธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ศีล คือ การสำรวมระวังกาย และวาจา ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน เสียหาย

ศีล นั้นคู่กับ ธรรม ศีลเป็นข้อห้าม ส่วนธรรมเป็นข้อปฏิบัติ ดังเช่น เบญจศีล เป็นข้อห้ามประพฤติปฏิบัติอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น 5 ข้อ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ได้แก่ 1.ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต 2.ห้ามลักฉ้อหรือคดโกง 3.ห้ามประพฤติผิดในกาม 4.ห้ามพูดปด 5. ห้ามเสพสุราและสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เบญจ กัลยาณธรรม คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นคุณธรรมของคนดี 5 ข้อ ตรงกันข้ามกับความประพฤติผิดศีล ได้แก่ 1.ความเป็นผู้มีเมตตากรุณาธรรมต่อผู้อื่น ไม่คิดประหัตประหารกัน 2.การให้ทานและการประกอบสัมมาอาชีวะ 3.ความมีสันโดษในคู่ครองของตน 4.การกล่าวแต่วาจาที่จริง 5.การมีสติสัมปชัญญะ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อม แห่งชีวิตตามที่เป็นจริง

อานิสงส์ ของการรักษาศีล คือ ความสำรวมระวังกาย และวาจาให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษนั้นมีมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอานิสงส์ของศีล มีเป็นต้นว่า "1.บุคคลผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยโภคทรัพย์ มีความไม่ประมาทเป็นเหตุ 2.กิตติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป 3.ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทหรือสมาคมใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คฤหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เคอะเขินเข้าไป 4.ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือไม่หลงตาย และ 5.ผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล หลังจากตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

ส่วน ผู้ประพฤติผิดศีล ย่อมได้รับผลตรงกันข้าม กล่าวคือ ชีวิตย่อมหาความเจริญและสันติสุขแท้จริงมิได้ ย่อมนับวันแต่จะถึงความเสื่อมแห่งชีวิต และย่อมได้ประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อนเพราะผลแต่อกุศลกรรมที่ตนประพฤติผิด ศีล ผิดธรรมนั้น มากน้อยตามความหนักเบาแห่งบาปอกุศลที่ตนกระทำผิดศีล

บัณฑิต ผู้รู้ มีสติปัญญาอันเห็นชอบ จึงเป็นผู้มีศีล และรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ย่อมเจริญด้วยโภคทรัพย์ กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งขจรไป จะเข้าสู่บริษัทหรือสมาคมใดๆ ย่อมเป็นผู้องอาจ เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ไม่หลงตาย ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สังคมจะมีสุขได้...เพราะเมตตา khaosod

สังคมจะมีสุขได้...เพราะเมตตา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting



พูด ถึงคำว่า เมตตา หลายท่านหลายคนก็คงจะได้ยินกันประจำ เพราะเรื่องของเมตตาธรรมถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะค้ำจุนจรรโลงโลกของเราให้งดงาม โลกร้อนเพราะสงคราม แต่โลกก็งามด้วยเมตตา คำว่างามด้วยเมตตา ได้แก่การเอื้อเฟื้อเจือจานซึ่งกันและกัน เรียกว่า อุดหนุนจุนเจือ ดั่งคำโบราณที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

"วัดจะร้างช่วยกันสร้างอย่าร้าง วัด คนเซซัดอย่าไปซ้ำกรรมของเขา การช่วยเหลือเจือจุนเป็นบุญเรา เด็กยังเยาว์ช่วยพยุงจูงเด็กไป" ที่โบราณท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการเอื้อเฟื้อเจือจุนซึ่งเป็นคุณ ไม่ได้เป็นโทษ หันกลับมาดูประเทศชาติของเราในปัจจุบันนี้ ต้องการเมตตา ความรัก และความสามัคคีเป็นอย่างมาก ในทางพุทธศาสนาหลักที่จะทำให้เราเกิดความสามัคคีกันได้ในสังคม ในประเทศชาติ ก็อยู่ที่หลักเมตตานั่นเอง คือ

1. ให้ทุกคนคิดดี มองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ

2. ให้ทุกคนพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน รู้จักการพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่นินทาว่าร้ายกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ 3. ให้ทุกคนทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกัน ไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่เสมอ

4. ให้ทุกคนช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

5. ให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆ อย่างเดียวกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล

6. ให้ทุกคนมีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

อานุภาพแห่งเมตตาย่อม ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สมควรอย่างยิ่งที่จะเจริญเมตตา คือ ทำ พูด คิด ด้วยการไม่เบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงกัน ไม่ปรารถนาทุกข์ให้แก่กัน เมตตาจึงเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสุขทั้งแก่ตนและสังคมตลอดไป

วินัย (5) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (5) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



เวลานี้เราใช้คำว่า "ศีล" ในความหมายแคบมาก ก็เลยต้องใช้คำว่าความมีวินัย ที่จริงความมีวินัยนั่นแหละ คือความหมายของคำว่าศีล

วินัย เป็นเรื่องข้างนอก เมื่อใดมันเกิดเป็นคุณสมบัติของคน คือการตั้งอยู่ในวินัยกลายเป็นความประพฤติตามปกติของเขา ก็เรียกว่า ศีล แล้วต่อมาก็ใช้ปนกันไป

ที่จริง ศีล เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หรือการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ได้แก่ การฝึกในระดับวินัย

วินัย เป็นเครื่องฝึก ส่วนการปฏิบัติตนในการฝึกตามวินัยนั้นเป็นศีล ศีลเป็นเรื่องของตัวคน เป็นการพัฒนาตัวของคน เป็นคุณสมบัติของคน

วินัย เป็นคำกว้าง ใช้เป็นคำเอกพจน์อย่างเดียว หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ หรือประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบทั้งหมด แต่เมื่อแยกเป็นข้อๆ แต่ละข้อ เรียกว่า "สิกขาบท" แปลว่า ข้อศึกษา หรือข้อฝึกหัด

วินัยเป็นเรื่องของการฝึกมนุษย์ เพราะฉะนั้น บทบัญญัติแต่ละข้อที่จัดวางขึ้นมาจึงถือเป็นข้อฝึกคนทั้งนั้น และจึงเรียกว่าสิกขาบท

ศีล 5 เป็นศัพท์ชาวบ้าน ศัพท์ทางพระแท้ๆ เรียกว่า สิกขาบท 5 เพราะ เป็นข้อฝึกหัด 5 ข้อ ในระบบการฝึกคน ที่เรียกว่าการศึกษา ท่านจัดเป็น 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การฝึกในระดับต้นๆ เมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าศีล

การ ฝึกศีล คือฝึกให้มีศีลนั้น ก็ทำด้วยวินัยนั่นเอง ฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกคนให้มีศีล ที่พูดกันว่าฝึกให้มีวินัยนั้น ที่ถูกแท้ต้องพูดว่าฝึกให้มีศีล หรือฝึกด้วยวินัยให้มีศีล

ตอนนี้เอาเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายหลายศัพท์จะยิ่งยุ่ง

สรุป ว่า การฝึกคนให้มีวินัย คือการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง การฝึกในขั้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งในระบบการศึกษาจะต้องโยงกันหมดกับการศึกษาส่วนอื่นทุกด้าน คือ ต้องโยงไปถึงสมาธิ ปัญญาด้วย จึงจะได้ผลจริง

วินัยคือการจัดสรรโอกาส

วินัย นี้มักจะเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือไปเข้าใจเป็นเครื่องบังคับควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่ได้พัฒนา

ความ หมายที่ต้องการของวินัยเป็นความหมายเชิงบวก กล่าวคือ วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก

ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาส ในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี - ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่น ในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน

แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของ เรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดิน ก็เว้นไว้เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด

ฉะนั้น ในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวง กว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่า ถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคลก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล

ฉะนั้น การจัดวางวินัย จะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่น ต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (4) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (4) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ส่วน วินัย เป็นเรื่องของการบัญญัติ คือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่เป็นความสามารถที่เอาความจริงตามธรรมชาตินั้นมาจัดวาง ให้เป็นระเบียบระบบแบบแผน เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดีตามธรรมนั้น การที่มนุษย์จัดวางวินัยได้ จึงเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง

ใน หมู่มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว การปฏิบัติตามวินัยก็คือการเอาประโยชน์จากธรรมมาใช้ได้นั่นเอง เมื่อเราปฏิบัติตามวินัยได้อย่างดี บนพื้นฐานแห่งธรรมแล้ว ก็จะทำให้สังคมมนุษย์เป็นไปด้วยดี

หลักการนี้จึงแสดงถึงความหมายหลายอย่าง ในความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย เช่น

1.วินัย ที่ถูกต้อง จะต้องตั้งอยู่บนฐาน ของความจริงในธรรมชาติ ถ้ามิฉะนั้น วินัย (ระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์) ก็จะไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ไม่มั่นคง

2.วินัยต้องมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความดีงามของสังคม

ถ้า คนที่บัญญัติจัดวางสิ่งที่เรียกว่าวินัย เช่น กฎหมายเป็นต้น ในสังคมมนุษย์ มีเจตนาไม่ดี มีน้ำใจไม่เป็นธรรม เช่น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น ก็อาจจะจัดวางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม คือ ไม่เป็นไปตามและไม่เป็นไปเพื่อความดีงามที่เป็นหลักความจริง หรือมีความรู้เข้าใจไม่เพียงพอ ขาดปัญญา รู้ไม่เท่าถึงหลักความจริงคือตัวธรรมในธรรมชาติ การวางกฎหมายหรือบัญญัติวินัยนั้นก็จะบกพร่อง แล้วผลที่ต้องการก็จะไม่เกิด

ตัวอย่าง เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร เราต้องการออกกฎหมาย เราก็ต้องเข้าถึงความจริงก่อน ต้องรู้หลักการ เข้าใจชัดว่าความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร อะไรเป็นความมุ่งหมายของการออกกฎหมายนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น เช่น รัฐหรือสังคมที่ต้องการกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็มีเจตนาดี มีใจเป็นธรรม ถ้ามีเจตนาจะเอาผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมา กฎหมายก็ยุ่งไม่เป็นธรรม คือไม่สอดคล้องกับธรรม เสียความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรม วินัยคือการตรากฎหมายก็ไม่สัม ฤทธิผล

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัย คือการจัดตั้งรูปแบบ วางระบบระเบียบต่างๆ ของสังคม เช่น ออกกฎหมาย จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่าง คือ

1.มีปัญญา คือเข้าถึงตัวธรรม รู้ความจริงในเรื่องนั้นๆ รู้บุคคล รู้ชุมชน รู้สังคม รู้ความถูกต้องดีงามที่พึงต้องการ

2.เจตนาดี คือมีเจตนาบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม มุ่งผลที่สอดคล้องตามธรรมที่รู้นั้น

วินัยกับศีล

อนึ่ง ควรจะเข้าใจคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในเรื่องวินัย

วินัย มีคำที่ใช้คู่กันคำหนึ่ง คือ "ศีล" ซึ่งในภาษาไทยปัจจุบันเรานำไปใช้ในความหมายแคบๆ และบางทีก็แตกต่างห่างกันไกลกับคำว่าวินัย แต่ที่จริงศีลและวินัยเป็นคำที่คู่เคียงกันอย่างยิ่ง

ดังได้ กล่าวแล้วว่า วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ เป็นการจัดตั้งตามสมมติ ได้แก่ การจัดระเบียบความเป็นอยู่ และการจัดระบบสังคม ซึ่งแยกเป็นความหมาย 3 อย่าง คือ

1.การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่า วินัย

2.ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้น ก็เรียกว่า วินัย

3.การ ฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่า วินัยเมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้น เรียกว่า "ศีล" ฉะนั้น "ผู้มีศีล" คือผู้ที่ตั้งอยู่ในวินัย การตั้งอยู่ในวินัย หรือที่ชอบเรียกในปัจจุบันว่า ความมีวินัยนี้ เรียกว่า ศีล

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (3) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (3) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ถ้า สามารถโยงวินัยกับธรรมให้สอด คล้องเป็นอันเดียวกันได้ หมายความว่า เรารู้ทันสมมติ คือกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยให้ขุดดินแล้วได้เงิน 3,000 บาท แต่พร้อมกันนั้นเราก็มีความต้องการในผลที่แท้จริงของตัวเหตุ คือต้องการหลุมด้วย โดยมองเห็นคุณค่าว่าหลุมนั้นมีประโยชน์อย่างไร ถ้ามีความต้องการในตัวผลที่แท้จริงตามธรรมอย่างนี้ คนก็จะขุดดินด้วยความตั้งใจ

เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ถ้าเมื่อใดการปฏิบัติเข้าถึงตัวธรรม วินัยก็จะได้ผลไปเองโดยธรรมชาติ การทำงานจะดำเนินไปอย่างจริงจังโดยไม่ต้องมีการบังคับควบคุมกัน เพราะว่าคนที่ขุดดินนั้นเขาทำด้วยความต้องการที่จะให้เกิดหลุม เขาก็จะขุดดินเอง ส่วนการที่จะได้เงินตอบแทนก็เป็นเรื่องต่างหาก เขาจะทำงานคือการขุดดินนั้นด้วยความเต็มใจและตั้งใจ พร้อมทั้งมีความพอใจและความสุขด้วย ฉะนั้นงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

แต่ ถ้าเขาไม่ต้องการหลุมคือผลที่เกิดจากเหตุตามธรรมชาตินั้นก็จะเกิดปัญหา มนุษย์ก็จะต้องสร้างระบบการควบคุม ที่เป็นระบบสมมติขึ้นมาบังคับควบคุมกันเป็นชั้นๆ ซึ่งทั้งวุ่นวายและไม่ได้ผลดีจริง นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างธรรม กับวินัย

ความสัมฤทธิผลของวินัย

เป็น อันว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรม และเพื่อให้ธรรมคือความจริงตามกฎธรรมชาตินั้น อำนวยผลเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ จึงทรงวางวินัยขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์

วินัยนั้นมีความหมาย เป็นการจัดระเบียบชีวิต และการจัดระบบสังคมทั้งหมด เช่น การจัดระบบเศรษฐกิจ ในเรื่องความเป็นอยู่เกี่ยวกับปัจจัย 4 เป็นต้น จัดระบบสังคมว่าเราจะอยู่กันอย่างไร จัดระบบการบริหารการปกครอง การพิจารณาตัดสินคดี ฯลฯ นี้คือความหมายเดิมแท้ของวินัย ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางมาก

แต่ถ้ามองวินัยในความหมายของความเป็น ระเบียบ เช่นว่าจะต้องเคร่งครัดในการเดินทาง ในการจราจร หรือวินัยในการอยู่ร่วมกันในหมู่คณะ ในสถาบัน ในโรงเรียน และในชั้นเรียน เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันส่วนมากในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของวินัย ซึ่งขอเรียกว่าเป็นวินัยในความหมายที่แคบ

วินัย ที่แท้ ในความหมายที่กว้าง คือระบบระเบียบทั้งหมดของชีวิตและสังคมมนุษย์นั้น จะตั้งอยู่ได้ดีเป็นผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจพื้นฐานที่กล่าวแล้ว คือต้องมองวินัยโยงลงไปถึงธรรม หรือโยงวินัยกับธรรมเข้าด้วยกันได้เป็นเบื้องแรกก่อน

การที่เรา สามารถจัดวินัย (ระเบียบชีวิตและระบบสังคม) ได้สำเร็จ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มีความสามารถนี้ แต่การที่จะตั้งวินัยได้สำเร็จก็ต้องเข้าถึงธรรมก่อน คือเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วจึงสามารถมาตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่เรียกว่าวินัยได้สำเร็จและได้ผล

พระ พุทธเจ้าทรงเข้าถึงความจริงของธรรม ชาติคือธรรมแล้ว ทรงสามารถนำความรู้ในธรรมนั้นมาจัดตั้งวางระบบในหมู่มนุษย์ให้สำเร็จผลตาม ธรรมนั้น คือจัดตั้งวินัยได้ด้วย จึงได้รับพระนามว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ

ส่วน ท่านที่เข้าถึงความจริง แต่ไม่สามารถจัดระบบระเบียบสังคมมนุษย์ให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากธรรม นั้นได้ ก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธ

เพราะฉะนั้นการจัดตั้งวินัยจึงเป็นความสามารถพิเศษอีกชั้นหนึ่ง

ตาม ปกติธรรมท่านใช้คำว่าแสดง เพราะเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หน้าที่ของเราก็เป็นเพียงการแสดงไปตามที่มันเป็นจริง ถ้าบัญญัติก็หมายความว่าเอามาจัดระบบหรือวางเป็นหลักในการที่จะปฏิบัติอีกที หนึ่ง

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วินัย (2) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (2) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



กฎของธรรมชาติ คือการขุดดินเป็นเหตุ การเกิดหลุมเป็นผล กฎของธรรมชาตินี้เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม

ส่วน ในหมู่มนุษย์ เราให้คนมาขุดดิน เราให้เงินเขา ๓,๐๐๐ บาท ต่อเดือน เรียกว่าเขาได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท ก็วางเป็นกฎของมนุษย์ขึ้น คือ การขุดดินเป็นเหตุ การได้เงินเดือนสามพันบาทเป็นผล การวางเป็นกฎในหมู่มนุษย์ขึ้นนี้ เรียกว่า "วินัย" ซึ่งเป็นความจริงขึ้นมาได้เพราะมนุษย์ยอมรับ จึงเป็นสมมติ ไม่ใช่ความจริงแท้

- ความจริงที่แท้คืออะไร?

การขุดดิน เป็นเหตุ อะไรเป็นผลกันแน่ ผลที่แท้จริงคือหลุม หรือโพรง หรืออะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องของดินที่ถูกขุด ซึ่งจัดว่าเป็นผลตามธรรมชาติ แน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยน หลุมจะเกิดได้ต้องมีการขุด และการขุดก็เป็นเหตุให้เกิดหลุม เป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริง

ส่วน การขุดดินแล้วได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท เป็นกฎของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผล แต่กฎธรรมชาตินั้นแน่นอน ถ้าต้องการผลต้องทำเหตุ ส่วนกฎของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน ไม่จริง แต่ดูเหมือนเป็นจริง มองดูก็เป็นเหตุเป็นผล จะได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท ก็ต้องขุดดิน แต่ที่จริงไม่ได้มีความจริงนี้อยู่ในธรรมชาติเลย ความจริงอันนี้อยู่ที่คนสมมติ เรียกว่าเป็นความจริงโดยสมมติ คือเกิดจากการยอมรับร่วมกันในเงื่อนไข ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกันเมื่อไร กฎของมนุษย์จะหายไปทันที

ถ้าฝ่ายขุดได้ขุดแล้ว แต่ฝ่ายให้เงินไม่ยอมจ่ายเงิน หรือฝ่ายขุดไม่ได้ขุด แต่ฝ่ายให้เงินเกิดใจดีให้เงินโดยไม่ต้องขุด ความเป็นเหตุเป็นผลก็หมดไป เมื่อขาดสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไป

สรุปได้ว่า ๒ กฎนี้แยกได้ในเรื่องเดียวกัน

ใน การขุดดินนั้น กฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ คือ ธรรม ได้แก่การขุดดินแล้วทำให้เกิดหลุม และกฎของมนุษย์ที่เป็นความจริงโดยสมมติหรือโดยยอมรับร่วมกัน คือ วินัย ได้แก่การขุดดินทำให้ได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท

- สองอย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร?

กฎ ของมนุษย์ตั้งขึ้นได้และจะมีความหมาย ต้องอิงอาศัยความจริงของกฎธรรมชาติ เราจะต้องมีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงของธรรมชาติ

เราต้องการให้มีการขุดดิน เพื่อว่าเราจะได้หลุม แสดงว่าความประสงค์ที่แท้นั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นตัวธรรม แต่ที่เราตั้งเป็นเงื่อนไข เป็นกฎ เป็นข้อสมมติ ในหมู่มนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อประโยชน์ในสังคมของเรา กล่าวคือ ในสังคมนั้น การที่มนุษย์จะอยู่ได้ จะต้องมีปัจจัยเลี้ยงชีพ

แม้ว่าที่จริงเราจะต้องการหลุม แต่หลุมจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่ยอมรอให้มีเหตุที่เป็นไปในธรรมชาติเอง ก็ต้องเอาคนมาขุด

ที นี้คนที่มาขุดหลุม ก็ต้องการเงินเลี้ยงชีพ จึงต้องตั้งกฎของมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้วขึ้นมา และเราก็ยอมรับกัน โดยยอมปฏิบัติตาม ก็เกิดเป็นวินัยขึ้นมา

โดยนัยนี้ วินัยจึงตั้งอยู่บนฐานของธรรม และมันจะมีผลจริงต่อเมื่อคนมีธรรม ถ้าคนไม่มีธรรม เช่น คนที่ขุดดินไม่อยากขุดดิน แต่อยากได้เงิน การขุดดินเป็นเพียงเงื่อนไขที่ทำให้เขาได้เงิน เขาก็จะฝืนใจขุด ถ้าเขาเลี่ยงได้ เขาจะเลี่ยง โดยไม่ขุดดิน แต่จะเอาเงิน

ปัญหาจะ เกิดตามมามากมาย เช่น เขาขุดดินโดยไม่เต็มใจและไม่ตั้งใจ ขาดความสุข ขาดความพึงพอใจในการปฏิบัติตามวินัย ไม่สนใจ ไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ตลอดจนอาจทำการทุจริต เพื่อให้ได้เงินโดยไม่ต้องขุดดิน ฉะนั้น งานก็ไม่ได้ผล คนก็ไม่มีความสุข

วินัย (1) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด khaosod

วินัย (1) เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



เป็น ที่ทราบกันดีว่า ความขาดวินัยเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ขณะนี้เราต้องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และวินัยก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่สามารถสร้างวินัยให้แก่คนในชาติได้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็หวังผลสำเร็จได้น้อย เพราะว่า ในประเทศประชาธิปไตยนั้น สังคมอยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์ และกติกา คนต้องเคารพหลักการ กฎเกณฑ์ และกติกา และความเคารพกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมนั้น ก็คือความหมายอย่างหนึ่งของความมีวินัย

ถ้าไม่มีวินัย ไม่มีความเคารพกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ประชาธิปไตยก็ขาดรากฐานที่สำคัญ จะเป็นไปด้วยดีไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ โดยเฉพาะในทางการศึกษา จะต้องหาทางสร้างสรรค์ปลูกฝังพัฒนาประชาธิปไตยให้สำเร็จบนพื้นฐานของความมี วินัย

ที่มาและความหมายของวินัย

ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการสร้างวินัย ควรจะเข้าใจความหมายของวินัยสักเล็กน้อย

คำว่า วินัย เป็นคำใหญ่มาก มีความหมายกว้างกว่าที่เราใช้กันทั่วไปมาก และเป็นคำศัพท์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มักใช้ควบคู่กับคำว่า ธรรม ดังที่มีคำเรียกพระพุทธศาสนาว่า "ธรรมวินัย" และคำทั้งสองนี้มีความหมายสัมพันธ์กัน พระพุทธศาสนาถือว่า ความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องธรรมดามีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติและธรรมดานี่แหละ คือ ธรรม

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมคือความจริงนั้นแล้ว ก็ทรงนำมาประกาศเผยแพร่ สั่งสอนชี้แจงแสดงให้เข้าใจง่าย หน้าที่ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับธรรมก็เพียงทรงค้นพบ แล้วนำมาประกาศและสั่งสอน เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ

การที่จะให้ความจริงของธรรมชาติมีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ในสังคม ก็ต้องนำหลักความจริงคือธรรมนั้นมาจัดตั้ง วางเป็นระบบระเบียบ โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยเป็นเหตุเป็นผล แก่กันนั้น พูดสั้นๆ ว่า เอาหลักเกณฑ์ในกฎธรรมชาตินั้น มาวางรูปเป็นกฎในหมู่มนุษย์ จากกฎในธรรมชาติก็มาเป็นกฎในหมู่มนุษย์ การจัดตั้งวางระบบระเบียบในหมู่มนุษย์นี้แหละเรียกว่า "วินัย"

กฎของธรรมชาติ เรียกว่า "ธรรม"

กฎของมนุษย์ เรียกว่า "วินัย"


กฎ 2 อย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน คือ

ประการ ที่ 1 โดยหลักการสำคัญ วินัย ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือ ต้องมีความจริงในธรรมชาติเป็นฐานอยู่ ถ้าไม่มีความจริงในธรรมชาติเป็นฐาน วินัยก็ไม่มีความหมาย

ประการที่ 2 การที่เราจัดวางกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นในหมู่มนุษย์ ก็เพื่อจะให้ได้ผลตามธรรม และมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมนั่นเอง คือเพื่อจะให้การทำตามธรรมนั้นเกิดผลเป็นจริงในหมู่มนุษย์ เราจึงได้วางกฎเกณฑ์ของมนุษย์ขึ้นมา

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามนุษย์จะปฏิบัติตามและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ดีที่สุด เราจึงวางกฎมนุษย์ขึ้นมา

กฎธรรมชาติมีอยู่เป็นธรรมดา ส่วนกฎมนุษย์นั้นเป็นกฎสมมติ

"สมมติ" คือ การตกลงร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน

"สมมติ" มาจาก "สัง" + "มติ" มติ แปลว่า การยอมรับ หรือการตกลง "สัง" แปลว่า ร่วมกัน "สมมติ" จึงมีความหมายว่า ข้อตกลงร่วมกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า convention

สมมติ ไม่ใช่สิ่งเหลวไหล แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้เข้าใจในหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วนำความรู้นั้นมาจัดวางเป็นข้อกำหนดเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น เมื่อเราจ้างคนขุดดิน ก็จะมีการวางกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลขึ้นมา กฎที่เราวางขึ้นนั้น เป็นกฎของมนุษย์ คือเป็นกฎสมมติ แต่เราวางกฎสมมตินั้นขึ้น โดยอาศัยความรู้ในความเป็นเหตุเป็นผลที่มีจริงเป็นจริงอยู่ในกฎธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จึงมีกฎ 2 กฎซ้อนกันอยู่ คือ กฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ กับกฎมนุษย์ที่เป็นสมมติ

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขันติธรรม (ข่าวสด)

ขันติธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ๙)



บุคคล ผู้มีความอดทน ย่อมไม่มีอันตรายแก่ใครๆ มีแต่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่บุคคลผู้ที่คบหาเสวนาด้วยอย่างเดียว เพราะบุคคลผู้มีความอดทน ย่อมเป็นผู้มีมงคลคือเหตุแห่งความเจริญในตนอยู่แล้ว จะประ กอบกิจการทุกสิ่งล้วนทำด้วยปัญญาอันประกอบด้วยเหตุผลทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นผู้หนักแน่น ไม่หวั่นไหวได้ง่าย

ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มี ความอดทน ย่อมตรงกันข้าม คือ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้า ก็อาจจะแสดงกิริยาอาการอันไม่งาม ไม่น่าชมออกมาได้ทุกเวลา ทุกโอกาสสถานที่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ การประกอบกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือการคบหาสมาคมกัน เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกันนั้น ก็ย่อมจะถึงกาลเสื่อมเสียไป

ขันติธรรม คือ ความอดทน ท่านจำแนกไว้ 3 ประการ คือ

ประการ ที่ 1 อดทนต่อความยากลำบาก หมายความว่า อดทนต่อทุกข เวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้ จำต้องประสบพบกับบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะยากจน หรือ ร่ำรวยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ได้พบด้วยกันทั้งนั้น

ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งบุคคลจะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็จะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าบุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ประกอบการงาน ก็จะมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก หากมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านแล้ว ก็จะหาทรัพย์ได้ ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ หมั่นขยันทำสมควร ย่อมหาทรัพย์ได้"

เมื่อมีหน้าที่การงานแล้ว ควรเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ทำให้เหมาะสมกับหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งการงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ควรเพียรพยายามทำให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา

การประกอบ อาชีพการงานนั้น ย่อมประสบกับอุปสรรค ท่านที่มีปัญญาสามารถ ต้องการที่จะได้รับประโยชน์และความสุข ก็ไม่ควรทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทนเป็นเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้

ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะบุคคลทุกคน จะอยู่คนเดียวลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว ตลอดถึงเป็นประเทศชาติ

บุคคลผู้อยู่ร่วม กันเช่นนี้ บางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง เพราะต่างก็มีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทบาดหมาง ก็จะแตกแยกแผ่ขยายกว้างออกไป จนทำให้เสียหน้าที่การงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยชน์สุขก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น ผู้ที่มีขันติธรรม คือ ความอดทน เป็นผู้ปราศจากเวร นอกจากจะเป็นที่รักใคร่นับถือสำหรับมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นที่รักใคร่นับถือของทวยเทพเทวดาทั้งหลาย ย่อมสามารถนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนเหล่าอื่นได้อีกด้วย





พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-2430 end_of_the_skype_highlighting

งานอวมงคล (ข่าวสด)

งานอวมงคล

คอลัมน์ ศาลาวัด



งาน อวมงคล คือ งานที่จัดขึ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลที่บำเพ็ญนั้นๆ แก่ผู้ที่ล่วงลับไป บุพการี ผู้ที่เคารพนับถือหรือผู้มีพระคุณ ญาติสนิทมิตรสหาย ผู้ใต้บังคับบัญชา แม้กระทั่งผู้ไร้ญาติขาดมิตร ให้ได้รับความสุขในสัมปรายภพ

งานอวมงคลโดยทั่วไป มีลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงาน พอสรุปได้ดังนี้

จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์

ถวายภัตตาหาร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ลาดภูษาโยง ทอดผ้าบังสุกุล พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลแล้วอนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี

ในการปฏิบัติพิธีต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้น อาจจะมีขั้นตอนที่แตกต่างเพิ่มเติมได้อีกบ้าง เช่น อาจมีการถวายพัดรองที่ระลึกหรือมีพิธีแสดงพระธรรมเทศนาในพิธีสวดหรือเจริญ พระพุทธมนต์ มีสวดรับเทศน์หรือมีสวดมาติกา สวดพระอภิธรรม

ศาสนพิธีกรพึงประยุกต์พิธีต่างๆ จัดไปตามความเหมาะสม โดยพิจารณาว่าพิธีใดควรทำก่อนทำทีหลังแล้วจัดไปตามลำดับ

พิธีสวดพระอภิธรรมเป็นอีกพิธีหนึ่งในงานอวมงคล การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยและจัดอุปกรณ์อื่นๆ เหมือนพิธีทั่วไป ต่างแต่อาสนะพระสงฆ์จัด 4 ที่ จัดวางตู้พระอภิธรรมและที่บูชาตรงกลางด้านหน้าพระสงฆ์ มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนที่บูชาหน้าตู้พระอภิธรรม จุดธูปเทียนบูชาศพแล้วอาราธนาศีล รับศีล พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม (ปัจจุบัน ในส่วนกลางไม่มีการอาราธนาธรรมในพิธี)

สวดพระอภิธรรมจบแล้ว ยกตู้พระอภิธรรมและที่บูชาออก ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ลาดภูษาโยง ทอดผ้าบังสุกุล พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลแล้วอนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี

งานอวมงคลที่มีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วย นิยมจัดพิธีแสดงพระธรรมเทศนาไว้ตอนท้ายสวดมนต์ แต่มิใช่เป็นระเบียบหรือข้อบังคับแต่อย่างใด จะจัดตามเวลาหรือตามแบบที่สะดวกก็ได้ไม่มีข้อห้าม

งานอวมงคลไม่มีการวางสายสิญจน์ ไม่มีการทำน้ำพระพุทธมนต์ แต่มีงานลักษณะพิเศษงานหนึ่ง คือ งานฉลองอัฐิ

หลังจากเสร็จพิธีฌาปนกิจแล้ว รุ่งขึ้นมีพิธีเก็บอัฐิตอนเช้าและจะมีพิธีฉลองอัฐิ ตามลำดับ

งานนี้เป็นงานมงคลที่คาบเกี่ยว ไม่มีการวางสายสิญจน์ แต่มีการทำน้ำพระพุทธมนต์ และใช้คำว่าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ การปฏิบัติพิธีเหมือนงานมงคลทั่วไป

งานฉลองอัฐินี้ ถือเป็นงานออกจากทุกข์โศกของญาติมิตรของผู้ที่ล่วงลับไป

การถวายกฐินราษฎร์ (ข่าวสด)

การถวายกฐินราษฎร์

คอลัมน์ ศาลาวัด



การ ถวายกฐิน เป็นทานอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นสังฆทาน คือ ถวายไม่เจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง แต่มีสิ่งของถวายที่สำคัญ คือ ผ้ากฐิน เรียนกันว่า กฐินทาน

ทานชนิดนี้มีเวลาถวายจำกัด ในปีหนึ่งๆ จะถวายได้ในเวลา 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 เดือน 12 เท่า นั้น

ถ้า ถวายในเวลาอื่นจากที่กล่าวนี้ จะไม่เรียกว่าถวายกฐิน และในวัดหนึ่งๆ ปีหนึ่งจะรับกฐินได้ครั้งเดียว และพระสงฆ์ที่จะรับกฐินนี้ ต้องเป็นพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในวัดนั้น ขาดพรรษาก็รับไม่ได้

กฐินมี 2 ประเภท คือ กฐินหลวง คือ กฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงถวายในวัดที่เป็นพระอารามหลวง

และ กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่ถวายตามวัดทั่วไปที่มิได้เป็นพระอารามหลวง

ทั้งนี้ การถวายกฐินราษฎร์ เริ่มจากนัดวัน เวลา ที่จะถวายกฐินกับพระสงฆ์ ที่เราเรียกกันว่า จองกฐิน

จาก นั้น จัดพิธีสมโภชกฐิน โดยจัดแบบงานมงคล (จะจัดหรือไม่จัดก็ได้) จัดสถานที่วางเครื่องบริวารกฐินในอุโบสถ ด้านท้ายอาสน์สงฆ์ จัดโต๊ะตั้งพานแว่นฟ้าวางผ้ากฐิน และจัดพานเทียนพระปาติโมกข์ วางไว้หน้าอาสน์สงฆ์ตรงพระสงฆ์รูปที่ 2

เมื่อถึงวัน-เวลา ที่จะถวายกฐิน พระสงฆ์ลงมาพร้อม เจ้าภาพและญาติมิตรพร้อมกันในอุโบสถ หรือสถานที่ที่จะทำพิธีถวายกฐิน

ศาสน พิธีกรเริ่มพิธี ด้วยการเชิญเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล รับศีล จากนั้น เจ้าภาพอุ้มประคองผ้ากฐินประนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธรูปประธาน ว่า นะโม ... (3 จบ)

หันมาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายกฐิน (การถวายกฐินราษฎร์ นิยมให้เจ้าภาพกล่าวนำ ผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม เพราะส่วนใหญ่เป็นกฐินสามัคคี) คำถวายกฐินควรพิมพ์ติดไว้ที่ผ้ากฐิน เวลาถวายจะได้อ่านสะดวก

จบแล้ว วางผ้ากฐินบนพานแว่นฟ้า ยกพานประเคน พระสงฆ์รูปที่ 2 ประเคนพานเทียนพระปาติโมกข์ด้วย (ที่เรียกเทียนพระปาติโมกข์ เพราะพระสงฆ์จะใช้เทียนนี้จุดในเวลาทำสังฆกรรมสวดพระปาติโมกข์)

เจ้าภาพกลับไปนั่งที่เก้าอี้ ในระหว่างนี้ พระสงฆ์กระทำอปโลกน กรรม ลงไปครองผ้ากลับขึ้นมานั่ง

ศาสน พิธีกร ยกบาตรและสิ่งของบริวารอื่นๆ มาเชิญประธานถวายแด่พระสงฆ์รูปที่ 1 โดยส่งต่อๆ กันเข้าไปให้เจ้าภาพถวาย จากนั้นเชิญผู้มาร่วมงานถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ปวารณาปัจจัยบำรุงวัด ถวายองค์ครอง คู่สวดและพระสงฆ์ แล้วถวายใบรายการที่ปวารณาแก่ประธานสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ รับพร

ถ้ามีบริจาคบำรุงการศึกษาทำพิธีในตอนนี้

แต่ถ้าเป็นสิ่งของนิยมมอบภายนอกอุโบสถ

ครอง จากข่าวสด

ครอง

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



แท้ จริงแล้วคนทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ต้องการความสุข เกลียดและกลัวความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น คนทั้งหลายจึงรักตัวเองยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ความรักเสมอด้วยตนไม่มี" จะเห็นได้ว่าตัวเรานี้เป็นที่รักกว่าสมบัติอย่างอื่น ถ้ารู้ว่าตัวเราเป็นที่รักกว่าสิ่งอื่นก็ควรละเว้นจากความชั่ว อย่าทำบาปกรรมอกุศล ตั้งใจทำแต่ความดีไว้ให้มาก และรู้จักรักษาตน การรักษาตนนั้นก็คือการครองตนนั่งเอง

คำว่า ครอง ท่านแบ่งออกเป็น 3 ความหมายด้วยกัน คือ

1.ครองตน คือ การรักษาจิตใจของตน

2.ครองคน คือ การครองใจของคน หรือการเอาชนะใจของผู้อื่น

3.ครองงาน คือ การรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตน

ประการ ที่ 1 ครองตน หมายถึง การรักษาจิตใจ เพราะจิตใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จิตมีหน้าที่สั่งการให้กายและวาจาทำตามคำสั่ง ถ้าจิตใจเป็นกุศล หรือที่เรียกว่าจิตใจดี ใจที่ดีนั่นเองก็จะสั่งให้กายและวาจาดีไปด้วย จะทำสิ่งใดก็ทำแต่สิ่งที่ดี จะพูดสิ่งใดก็พูดแต่สิ่งที่ดี เพราะกายและวาจาตกอยู่ในอำนาจของใจทั้งสิ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าใจเป็นอกุศล หรือที่เรียกว่าใจเป็นบาป จิตใจไม่ดี ใจเป็นบาป หรือใจที่ไม่ดีนั้นก็จะสั่งให้กายและวาจาไม่ดีไปด้วย จะทำจะพูดเป็นไปทางทุจริต เพราะกายและวาจาตกอยู่ในอำนาจของใจอีกเช่นเดียวกัน สำหรับหลักธรรมที่จะรักษาจิตใจของตนให้มั่นคง มีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่มากระทบจิตใจ 2.สัจจะ ความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อใจสุจริต กายและวาจาก็สุจริตไปด้วย

ประการที่ 2 ครองคน หมายถึง การครองใจคน เอาชนะใจของผู้อื่น คนเราทุกคน มีความต้องการคล้ายๆ กัน คือ ต้องการว่าทำอย่างไรจึงจะให้คนอื่นมารัก เคารพ นับถือ และบูชา เช่นพ่อแม่ก็มีความต้องการทำอย่างไรให้ลูกเคารพ นับถือ ครูอาจารย์ก็มีความต้องการให้ศิษย์เชื่อฟัง ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะครองใจคนหรือเอาชนะใจคนได้ ในทางพระพุทธศาสนาท่านให้ยึดเอาหลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ซึ่งแปลว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนอื่น 4 ประการ คือ 1.ทาน การให้แบ่งปัน ทำให้คนที่ได้รับเกิดความรู้สึกประทับใจ 2.ปิยวาจา การพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะ 3.อัตถจริยา การทำประโยชน์ให้คนอื่น เช่น ช่วยเหลือทั้งกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ 4.สมานัตตตา วางตนเหมาะสม

ประการที่ 3 ครองงาน หมายถึง การรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงานของตน กล่าวคือ บุคคลผู้มีหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน การงานทุกอย่างเท่ากับเป็นอาชีพของตน คนไม่มีงานก็เหมือนกับคนไม่มีอาชีพ คนมีงานทำดีก็เท่ากับมีอาชีพดี การงานดีความเป็นอยู่ก็ดี เมื่อรู้ว่างานเป็นเหมือนอาชีพก็ควรหาวิธีครองงานในหน้าที่ของตนไว้ให้ได้ หลักธรรมในการครองงานนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่าง เรียกว่า อิทธิบาท คือ 1.ฉันทะ ความพอใจ เราต้องเป็นคนรักงาน พอใจในงานที่ตัวเองรับผิดชอบ 2.วิริยะ การทำงานจะต้องมีความขยัน ทำงานไม่คั่งค้าง ทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จไปตามกาล 3.จิตตะ เราต้องตั้งใจทำงาน เอาใจใส่งานทุกอย่าง ไม่ให้เกิดความท้อแท้ในการทำงาน 4.วิมังสา เราต้องหมั่นค้นคว้าพิจารณา คิดค้น ค้นคิด แก้ไขปรับปรุงงานในหน้าที่ที่ทำอยู่เสมอ

ฉะนั้นหลักการครองตน ครองคน และครองงานนี้ เป็นหลักพื้นฐานที่ใครๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะผู้บริหารทุกระดับ การรักษาตน คือการครองตน จัดเป็นการรักษาภายใน ส่วนการครองคน และครองงาน จัดเป็นการรักษาภายนอก ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ใดรักษาตน ภายนอกของผู้นั้นเป็นอันรักษาได้..

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ระลึกถึงความตาย..บ่อยๆ khaosod

ระลึกถึงความตาย..บ่อยๆ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



การเจริญมรณสติ คือ การระลึกถึงความตายบ่อยๆ เป็นการเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุด คือ การทำใจให้คุ้นชินกับความตายเป็นเบื้องแรก เพื่อให้เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความ ตายอยู่เสมอ นั่นคือ "การเจริญมรณสติ" อยู่เป็นประจำ

การระลึกถึงความตาย ก็เพื่อจะให้เกิดความไม่ประมาท จนเกิดความสลดใจ รู้สึกขึ้นในจิต

จริงๆ ว่าตนเองจะต้องตายแน่ๆ แล้วเร่งขวนขวายในการทำความดี เตรียมตัวไว้ให้พร้อมอยู่เสมอกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเราต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

การเจริญมรณสติ สามารถทำได้โดยการระลึกหรือเตือนตนว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า "เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง" หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

ในการเจริญมรณสติจำ เป็นที่จะต้องใช้สติคอยกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาทอยู่เสมอ อะไรที่เป็นสาระของชีวิต ก็ให้เร่งรีบทำ อย่า ผัดวันประกันพรุ่ง มิฉะนั้นแล้วจิตก็ย่อมจะตกไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำ สติจึงเป็นธรรมสำคัญ ที่จะต้องหมั่นระลึกไว้เสมอๆ

ความตาย ไม่ว่าจะน่ากลัวอย่างไรในสาย ตาของคนทั่วไป ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย เพราะความกลัวตายนั้น สามารถหลอกหลอนคุกคามจิตใจของผู้คนให้เกิดความหวาดกลัวนานนับปีหรือยิ่งกว่า นั้น เมื่อความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นเมื่อนั้น เพราะเห็นความทุกข์เป็นศัตรู ยิ่งเมื่อความตายมาอยู่ต่อหน้า แทนที่จะยอมรับ กลับปฏิเสธผลักไสออกไปให้ไกลที่สุด แต่เมื่อไม่สมหวังก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งผลักไส ยิ่งผลักไสก็ยิ่งผิดหวัง ผลคือความทุกข์เพิ่มพูนเป็นทวีคูณ หารู้ไม่ว่าหากยอม รับความตาย ความทุกข์ก็จะน้อยลงไปมาก

สาเหตุที่คนกลัวตาย ก็คือ มักคิดว่า ความตายจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด และทำให้เราพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รัก ทำให้สิ้นสุดโอกาสที่จะได้เสพสุขอันเป็นสุดยอดปรารถนาของชีวิตกับบุคลและ สิ่งของอันเป็นที่รัก อีกทั้งมีความหวงแหนในชีวิต เพราะชีวิตเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่อยากยึดเอาไว้อยู่ แม้จะเป็นชีวิตที่สิ้นไร้ไม้ตอกก็ตามที

ฉะนั้น ควรหมั่นเจริญมรณสติ คือ ระลึกถึงความตายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ เร่งขวนขวายในการทำความดี เตรียมตัวไว้ให้พร้อมอยู่เสมอกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ทำให้ไม่เกิดความวิตกกังวล ทุรนทุรายกระสับกระส่ายและเป็นทุกข์ เมื่อความตายจะมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-2430 end_of_the_skype_highlighting