วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

วาสนาสร้างเองได้ (4) khaosod

วาสนาสร้างเองได้ (4)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



3.การ เกิดเป็นตัวเชื่อมต่อคนและสังคม กับธรรมชาติ คนเราที่เกิดมานี้ตัวแท้ๆ ยังไม่มีอะไร ก็เป็นชีวิตเท่านั้น ชีวิตนี้เป็นธรรมชาติ ชีวิตนี้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เกิดจากธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เนื้อตัวชีวิตของเรานี้เป็นธรรมชาติ

เมื่อเกิดมาแล้วเราจึงเริ่มมีฐานะใหม่ คือสถานะในทางสังคม คือเป็นบุคคล เราก็จะเป็นบุคคลในสังคม เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ เป็นพี่ของคนนั้น เป็นน้องของคนนี้ แล้วก็ก้าวเข้าไปในสังคมโดยมีฐานะต่างๆ บางทีเราก้าวเข้าไปในฐานะที่สอง คือเป็นบุคคลในสังคม จนลืมฐานะที่หนึ่ง คือ ความเป็นชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ เรานึกถึงแต่ความเป็นบุคคลที่ไปเที่ยวมีบทบาทนั้นนี้ๆ จนลืมตัวเอง

ทางพระท่านเตือนเสมอว่า อย่าลืมสถานะเดิมแท้ที่เป็นพื้นฐานของเราว่าชีวิตเป็นธรรมชาติ คนใดที่ได้ทั้งสองด้านคนนั้นจึงจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามสมบูรณ์

แต่คนเรานี้จำนวนมากมักจะลืมด้านชีวิต และได้แค่ด้านบุคคล คือนึกถึงแต่ด้านการอยู่ร่วมสังคม นึกถึงการที่จะมีฐานะอย่างนั้นอย่างนี้ จนลืมชีวิตที่เป็นพื้นฐาน

แม้แต่จะกินอาหาร ถ้าเราลืมพื้นฐานด้านชีวิตเสียแล้วเราก็พลาด ถ้าเรามัวนึกถึงในแง่การเป็นบุคคลในสังคม เวลารับประทานอาหารเราก็นึกไปในแง่ว่า เรามีฐานะอะไร ควรจะกินอะไรให้สมฐานะ ดีไม่ดีก็ไปตามค่านิยมให้โก้ให้เก๋ เป็นต้น

แต่ถ้าเรานึกถึงในแง่ของชีวิต ก็คิดเพียงว่า การกินอาหารนั้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ให้ชีวิตดำเนินไปได้ ต้องกินให้สุขภาพดีนะ อย่ากินให้เป็นโทษต่อร่างกาย

อาหารแค่ไหนพอดีแก่ความต้องการของร่างกาย อาหารประเภทไหนมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เราก็กินอย่างนั้นแค่นั้น

ถ้าเราไม่ลืมพื้นฐานของชีวิตในด้านธรรมชาติ เราจะรักษาตัวแท้ของชีวิตไว้ได้ ส่วนที่เหลือในด้านความเป็นบุคคล ก็เป็นเพียงตัวประกอบ แต่ปัจจุบันนี้เรามักจะเอาด้านบุคคลเป็นหลัก จนกระทั่งลืมด้านชีวิตไป ทำให้ด้านธรรมชาติสูญเสีย เราจึงมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์

วันเกิดนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจ โดยเป็นตัวเชื่อมว่า โดยเนื้อแท้นั้นฐานของเราเป็นธรรมชาตินะ อย่าลืมส่วนที่เป็นด้านธรรมชาตินี้ ส่วนด้านที่เป็นบุคคลเราก็ทำให้ดี ให้ได้ผล ให้สองด้านมาประสานกลมกลืนกัน ทั้งด้านชีวิตที่เป็นธรรมชาติ และด้านเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม ถ้าอย่างนี้แล้วชีวิตก็จะสมบูรณ์ มีชีวิตอยู่ไปนานเท่าไรๆ ก็อย่าลืมหลักการข้อนี้

วันเกิด ทำให้ไม่ลืมที่จะหวนกลับมาพัฒนาชีวิต ที่เป็นตัวแท้ของเรา

อีก อย่างหนึ่ง การมองตัวเองให้ถึงธรรมชาติที่เป็นชีวิตนี้เราจะได้กำไร คือ หลักการของพระศาสนา จะมาเสริมให้เราพัฒนาตัวชีวิตที่แท้ ไม่ใช่พัฒนาแต่สิ่งภายนอกอย่างเดียว

บางทีเราลืมไป มัวแต่แสวงหาอะไรๆ ที่เป็นของภายนอก ที่พระท่านบอกว่าเป็นของนอกกาย จนพะรุงพะรัง เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลับมาก่อทุกข์ให้แก่ตนเอง

ชีวิตในด้านที่แท้จริงนั้น เมื่อเราไม่ลืมมันแล้วพระพุทธศาสนาก็เข้ามาได้ ท่านก็จะสอนให้พัฒนาชีวิตของเราว่า ชีวิตของเรานี้นอกจากด้านการสื่อสารแสดงออกสัมพันธ์กับโลกภายนอกแล้ว ลึกเข้าไปยังมีด้านจิตใจ และอีกด้านหนึ่งคือ ปัญญา เราจะต้องมีความรู้เท่าทันชีวิตนี้ รู้เท่าทันโลก เป็นต้น ถึงตอนนี้ก็เข้ามาสู่ศีล สมาธิ ปัญญา

เราจะต้องพัฒนาชีวิตของเรา ให้ชีวิตที่เกิดมาแล้วนี้ได้เข้าถึงภาวะที่ดีที่ประเสริฐของมัน ไม่ใช่ดีแต่ข้างนอกอย่างเดียว

ความ เจริญงอกงามของชีวิตที่แท้ แม้กระทั่งเป็นพระอรหันต์ เป็นมหาบุรุษ อะไรต่างๆ ได้ ก็อยู่ตรงนี้แหละ คือพัฒนาชีวิตของเราที่เป็นตัวของตัวเอง ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่งนี้ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ให้เจริญในศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไป จนกระทั่งได้บรรลุวิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน มีอิสรภาพที่แท้จริง อันนี้เป็นเรื่องยืดยาว จะยังไม่บรรยาย แต่เป็นแง่หนึ่งของการที่จะได้คติจากวันเกิด

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

วาสนาสร้างเองได้ (3) khaosod

วาสนาสร้างเองได้ (3)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



คนเรานี้สร้างความสุขได้ สร้างวาสนาให้แก่ตัวเองได้ สร้างวิถีชีวิตได้ ด้วยการกระทำอย่างที่ว่ามานี้ คือให้มีการเกิดบ่อยๆ ของสิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้นการเกิดจึงเป็นนิมิต หมายความว่าให้ชาวพุทธได้คติหรือได้ประโยชน์จากวันเกิด

ถ้าญาติโยมนำวิธีปฏิบัติทางพระไปใช้จริงๆ วันเกิดจะมีประโยชน์แน่นอน จะเป็นบุญเป็นกุศล ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม อย่างน้อยก็เตือนตนเองว่าเราจะให้เกิดแต่กุศลนะ เราจะไม่ยอมให้เกิดอกุศล เช่น ใจที่ขุ่นมัวเศร้าหมองเราไม่เอาทั้งนั้น

จิตใจที่ดี ต้องเกิดห้าอย่างนี้เป็นประจำ

เพราะฉะนั้นจึงมีหลักที่แสดง พัฒนา การของจิตใจว่า จิตใจของชาวพุทธ หรือจิตใจที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ 5 อย่าง คือ

1.มีปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

2.มีปีติ ความอิ่มใจ

3.มีปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลาย สบายใจ

4.มีสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ฉ่ำชื่นรื่นใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้นหรือระคายเคือง

5.มีสมาธิ ความมีใจแน่วแน่ สงบ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ถูกอารมณ์ต่างๆ มารบกวน

ถ้าทำใจให้มีคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ได้ก็จะเป็นจิตใจที่เจริญงอกงามในธรรม สภาวะจิต 5 ประการนี้โปรดจำไว้เลยว่าให้มีเป็นประจำ

พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยๆ ว่า เมื่อปฏิบัติธรรมถูกต้องแล้ว พิสูจน์ได้อย่างหนึ่ง คือเกิดสภาพจิต 5 ประการนี้ ถ้าใครไม่เกิดแสดงว่าการปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้า คือต้องมี 1.ปราโมทย์ 2.ปีติ 3.ปัสสัทธิ 4.สุข 5.สมาธิ

พอห้าตัวนี้มาแล้วปัญญาก็จะผ่องใส แล้วจะคิดจะทำอะไรก็จะเดินหน้าไป ตลอดจนการปฏิบัติธรรมก็จะก้าวไปสู่โพธิญาณได้ด้วยดี

เพราะฉะนั้นในวันเกิดก็ขอให้ได้อย่างน้อย 2 ประการนี้ คือ เริ่มต้นดี และให้เกิดสิ่งที่ดี ก็คุ้มเลย ชีวิตจะเจริญงอกงามมีความสุขแน่นอน

เกิด คือ เชื่อมต่อกำเนิด กับความงอกงามต่อไป

เรื่องวันเกิดนี้พูดได้หลายอย่าง หลายแง่ เพราะมีความหมายมากมาย ความหมายอีกอย่างหนึ่งของการเกิด ก็คือเป็นจุดเชื่อมต่อ

มิใช่ว่าเกิดมานี้คือการเริ่มต้นใหม่โดยไม่มีอะไรมาก่อน แต่การเกิดนี่เป็นจุดเชื่อมต่อ และถ้าใช้เป็นจุดเชื่อมก็ทำให้เราได้ประโยชน์มากมาย เชื่อมต่ออะไร

เชื่อมเรา กับคุณพ่อ-คุณแม่

1.การเกิดเป็นตัวเชื่อมต่อตัวเราผู้เกิด กับท่านผู้ให้กำเนิด เพราะฉะนั้นทันทีที่ใครคนใดคนหนึ่งเกิดนั้นอีกคนหนึ่งก็เกิดด้วย คือพอลูกเกิดพ่อแม่ก็เกิดด้วย

คนที่ยังไม่ได้เป็นพ่อแม่ พอมีลูกเกิดตัวเองก็เกิดเป็นพ่อเป็นแม่ทันที เพราะฉะนั้นวันเกิดของเรา จึงเป็นวันเกิดของคุณพ่อคุณแม่ด้วย

ด้วยเหตุนั้นวันเกิดนี้ในแง่หนึ่งจึงเป็นวันที่ระลึกถึงบิดามารดา และจะเป็นตัวเชื่อมให้เรามีความผูกพันกับท่านผู้ให้กำเนิด แล้วก็จะมีความสุขร่วมกัน

อย่างเช่นลูก เมื่อถึงวันเกิดก็นึกถึงคุณพ่อ-คุณแม่ และทำอะไรๆ ที่จะทำให้ระลึกถึงกัน และมีความสุขร่วมกัน

จากคุณพ่อ-คุณแม่ ก็โยงไปหาคนอื่นอีก เช่น พี่น้อง ปู่ย่าตายาย คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสัมพันธ์กันไปหมด นี่คือการเกิดเป็นตัวต่อและเชื่อม

เชื่อมฐานวัฒนธรรมไทย กับความเจริญที่จะก้าวหน้าต่อไป

2. การเกิดนี้เชื่อมไปถึงพื้นฐานของเรา เช่น เมื่อเราเกิดเป็นคนไทยชีวิตของเราที่เป็นพื้นเดิมก็มีรากฐานคือวัฒนธรรมไทย เราเกิดมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมนี้ วัฒน- ธรรมไทยก็หล่อหลอมชีวิตของเรา เราจะต้องรู้จักเอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทย

ต่อจากพื้นฐานนี้เราก็ก้าวไปข้างหน้า และพบวัฒนธรรมภายนอก ตลอดจนพบความเจริญอะไรต่างๆ ถ้าเราใช้เป็นเราก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน คือ

ก) เราจะมีพื้นฐานของเราที่มั่นคง ให้การเกิดเป็นตัวที่ยึดพื้นฐานของเราไว้ได้ด้วย รากฐานทางวัฒนธรรมที่เรามีเราก็ไม่ละทิ้ง แต่เราเอาส่วนที่ดีมาสร้างตัวให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคง

ข) สิ่งใหม่ๆ เราก็ก้าวไปรับ ไปทำ ก้าวไปสร้างสรรค์

ถ้าเราได้ทั้งสองด้านนี้เราจะมีความเจริญงอกงาม คือ ทั้งมีพื้นฐานที่ดี และสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

หมายความว่าไม่ให้ขาดทั้งสองด้าน ทั้งพื้นฐานเดิม ที่เป็นรากฐานเก่า และทั้งด้านใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้า คนที่จะเจริญงอกงามต้องได้ทั้งสองด้านนี้ จึงจะมีการพัฒนาที่สมบูรณ์

นึกถึงวันเกิด ช่วยให้ไม่หลงเตลิดออกจากธรรมชาติ

เชื่อมบุคคลในสังคม กับชีวิตในธรรมชาติ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

พิธีอุปสมบท 2 (ข่าวสด)

พิธีอุปสมบท

คอลัมน์ ศาลาวัด



เริ่มจากการแห่นาค ทำตามศรัทธาของเจ้าภาพ จะแห่ด้วยช้าง ม้า เรือก็ได้ นาคทุกคนต้องโกนผม โกนคิ้ว นุ่งเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ถ้าตั้งกองบวชไว้ที่บ้านให้แห่กองบวชมารวมกันที่วัด

เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถเสียก่อนว่า "วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต"

เสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่อุโบสถ โดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป อาจจะอุ้มข้ามธรณีประตูไปเลยก็ได้ เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระประธานอุโบสถ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวช

เวลาจะเข้าโบสถ์ พ่อจูงมือซ้าย แม่จูงมือขวา ถ้าพ่อแม่ไม่มีให้ญาติพี่น้องเป็นผู้จูงถึงภายในโบสถ์แล้วนาคจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระ เสร็จกลับมานั่งที่ พ่อแม่จะยกผ้าไตรส่งให้นาค ก่อนจะรับผ้าไตรนาคต้องกราบพ่อแม่ก่อน แล้วอุ้มผ้าไตรเดินคุกเข่าประนมมือเข้าไปท่ามกลางสงฆ์ กล่าวคำขอบรรพชาต่อพระอุปัชฌาย์ แล้วออกมาครองผ้า แล้วเข้าไปขอศีลกับพระอาจารย์เป็นอันได้บวชเป็นสามเณรแล้ว

ต่อจากนั้น อุ้มบาตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์กล่าวคำขอนิสสัย เมื่อท่านเอาบาตรคล้องคอแล้วมอบบาตรจีวรให้ ให้ออกไปยืนข้างนอก ตอนนี้พระอาจารย์คู่สวดจะสมมติตนเป็นผู้สอนและซักซ้อมนาคแล้วออกไปซักถามนาค พอถามแล้วก็เรียกนาคเข้ามาถามต่อหน้าสงฆ์

พระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บอกเล่าสงฆ์ แล้วอาจารย์สวดเป็นผู้ถามพอถามเสร็จก็สวดญัตติ 1 ครั้ง และอนุสาวนา 3 ครั้ง เรียกญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นอันว่านาคนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว

การบอกอนุศาสน์ เมื่อบวชแล้วพระอุปัชฌาย์จะบอกอนุศาสน์ คือ บอกกิจที่พระควรทำและไม่ควรทำ กิจที่ควรทำ ได้แก่ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล เที่ยวบิณฑบาต อยู่โคนไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร

กิจที่ไม่ควรทำ ได้แก่ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่าสัตว์ พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

พอพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์จบแล้วถือว่าเสร็จการบรรพชาอุปสมบทแล้ว ต่อจากนั้นพระใหม่จะนำจตุปัจจัยไปถวายพระอุปัชฌาย์และพระสงฆ์ เสร็จแล้วออกไปนั่งท้ายอาสนะคอยรับอัฐบริขาร ถ้าผู้ชายถวายให้รับด้วยมือ ถ้าผู้หญิงถวายให้ใช้ผ้ากราบรับเสร็จแล้วเข้ามานั่งที่เดิม เตรียมการกรวดน้ำไว้

เมื่อพระอุปัชฌาย์ว่า "ยถา.." พระใหม่เริ่มกรวดน้ำพอท่านว่าถึง "..มณิโชติรโส ยถา.." ให้กรวดน้ำให้หมด

การกรวดน้ำในพิธีนี้ถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลแด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวกับบวชแต่เท่านี้

ธรรมะอันยอดเยี่ยม 2 (ข่าวสด)

ธรรมะอันยอดเยี่ยม 2

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหารwww.watdevaraj.com 0-2281-2430



ประการที่ 5 ตนแล เป็นยอดของความรัก เป็นความจริง ที่คนเราทุกคนต้องมีความรัก เช่น พ่อแม่ก็ต้อง รักลูกๆ ลูกๆ ก็ต้องรักพ่อแม่ สามีกับภรรยาต้องมีความรักต่อกัน ญาติมิตรสหาย คนรู้จักกัน ก็มักมีความรักต่อกัน ชายหนุ่มกับหญิงสาว ก็มีความรักต่อกัน นอกจากนี้ ยังมีความรักเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์ด้วย แต่ความรักตามที่กล่าวมานั้น ถ้าจะสรุปแล้วก็เรียกว่ารักตัวเองทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่มักพูดกันว่า รักพ่อรักแม่ รักลูก รักสามีภรรยา รักเพื่อน รักแฟน เป็นต้น แต่ความรักทั้งหมดนั้น เป็นความรักที่ทำให้ตนมีความสุข เกิดความสุข สบายกายสบายใจนั่นเอง

ประการที่ 6 สังขารเป็นยอดของความทุกข์ สังขาร หมายถึงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา เป็นสิ่งที่มีวิญญาณก็มี ไม่มีวิญญาณก็มี สิ่งที่มีวิญญาณ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ เป็นต้น สิ่งที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ ต้นไม้ ภูเขา รถ บ้าน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ว่าสังขารเป็นยอดของความทุกข์ หมายเอาเฉพาะแต่สังขารที่มีวิญญาณเท่านั้น ซึ่งได้แก่มนุษย์ สัตว์ต่างๆ เป็นต้น ที่มีร่างกายปรุงขึ้นมาจากธาตุทั้ง 4 มีอันจะต้องเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครอง ดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจิตหรือวิญญาณจะออกจากร่างไป นี่จะเห็นได้ว่าสังขาร ของคนเราเป็นทุกข์จริงๆ

ประการที่ 7 ความสันโดษเป็นยอดของทรัพย์ คำว่า สันโดษแปลว่า ความยินดี ชอบใจ พอใจ สุขใจ กับของของตน หมายความให้กระชับคือ รู้จักพอ พอประมาณ พอเพียง

ถ้าคนเรารู้จักพอใจ หรือยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ อาชีพ หน้าที่การงาน ชีวิตก็จะมีความสุข

ประการที่ 8 ความอดทนเป็นยอดของตบะ ความอดทน ไม่ว่าจะเป็น อดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความตรากตรำ หรืออดทนต่อความเจ็บใจ ความอดทนนั้นถ้าเกิดขึ้นมีในใจของผู้ใดแล้ว ขึ้นชื่อได้ว่าบุคคลผู้นั้น ชนะได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่สักปานใด

ประการที่ 9 พระนิพพานเป็นยอดของความสุข พูดถึงความสุขในโลกนี้ ก็ได้แก่การมีทรัพย์ การใช้จ่ายทรัพย์ การไม่เป็นหนี้ และทำการงานที่สุจริต นี้เป็นของชาวโลก ส่วนความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน คือ นิพพาน นิพพานคือสภาพที่ดับกิเลสและทุกข์แล้ว ภาวะเป็นที่สุขสูงสุด เพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพ สมบูรณ์

บรรดาธรรมอันเป็นยอดเยี่ยมทั้งหมดนี้ ควรที่ท่านสาธุชนจะนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นกับตัวเอง เพราะธรรมเหล่านี้จะนำให้พบเจอแต่ความสุขความเจริญ ทั้งในโลกปัจจุบันนี้ และในโลกหน้า คือ พระนิพพานนั่นเอง

ธรรมะอันยอดเยี่ยม 1 (ข่าวสด)

ธรรมะอันยอดเยี่ยม 1

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ในบรรดาธรรมทั้งหลาย ธรรมะที่ถือได้ว่ายอดเยี่ยม ที่มาจากคัมภีร์ต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา 9 ประการด้วยกัน คือ

1. ความหิว เป็นยอดของโรค 2. ความไม่มีโรค เป็นยอดของลาภ 3. ความคุ้นเคยกัน เป็นยอดของญาติ 4. ภรรยา เป็นยอดของเพื่อน 5. ตนแล เป็นยอดของความรัก 6. สังขาร เป็นยอดของความทุกข์ 7. ความสันโดษ เป็นยอดของทรัพย์ 8. ความอดทน เป็นยอดของตบะ 9. พระนิพพาน เป็นยอดของความสุข

ประการที่ 1 ความหิวเป็นยอดของโรค ขึ้นชื่อว่าความหิวนี่เองเป็นเหตุให้คนทำความชั่วต่างๆ ได้มากมาย เช่น ลักขโมย เป็นต้น กระทำการทุจริตได้ต่างๆ เพื่อยังชีพของตนและคนที่ตนรัก ความหิวจึงเป็นโรคที่น่าระวังสังวรอย่างหนึ่ง ถ้าประมาทมัวเมาหรือหลงผิดกระทำความชั่วเพราะความหิวเป็นเหตุ อาจต้องได้รับความทุกข์ทั้งในปัจจุบัน และในภพต่อๆ ไป

ประการที่ 2 ความไม่มีโรค เป็นยอดของลาภ อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ คือความไม่มีโรค แต่ความเจ็บ ความป่วย มีได้กับทุกคน ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ เพศ วัย มั่งมีหรือยากจน ส่วนโรคจะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอุปถัมภ์ของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน บางคนมีบุญเก่าสนับสนุนให้ร่ำรวย แต่เป็นคนขี้โรคไม่แข็งแรง บางคนบุญเก่าส่งเสริมให้มีอำนาจวาสนา แต่มักเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า คนที่ไม่มีโรค ถือได้ว่าได้ลาภอันประเสริฐอย่างแท้จริง

ประการที่ 3 ความคุ้นเคยกัน เป็นยอดของญาติ คำว่า ญาติ ได้แก่ ผู้ที่รู้จัก คุ้นเคย และนับถือ ท่านแบ่งไว้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ญาติโดยสายโลหิต 2. ญาติโดยความคุ้นเคยกัน บุคคลผู้ที่ปรารถนาจะได้ญาติหรือมีญาติ พึงปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุธรรม 4 ประการ คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เจรจากันด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ทำตนให้เป็นประโยชน์ ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน และเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เย่อหยิ่ง ยกตนข่มท่าน

ประการที่ 4 ภรรยาเป็นยอดของเพื่อน ภรรยาที่ดี ควรเป็นกัลยาณมิตรของสามี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับสามีมากกว่าผู้อื่น เมื่อคราวสามีมีสุขหรือทุกข์ หรือได้รับภัยอันตรายอย่างใด ภรรยาย่อมรู้และเข้าช่วยเหลือก่อนกว่าเพื่อนอื่นๆ เป็นที่วางใจของสามีกว่าผู้อื่น จึงจัดว่าเป็นยอดของเพื่อนได้ ฝ่ายภรรยาเมื่อสามีทำตนเป็นคนดี เป็นสามีที่ดีอย่างนี้ ก็จักทำหน้าที่ของตนเป็นอย่างดีเช่นกัน เช่น จัดงานบ้านดี สงเคราะห์ญาติมิตรของสามีดี ไม่คบชู้สู่ชายนอกใจสามีของตน พยายามเก็บทรัพย์สมบัติที่สามีไว้ใจมอบให้เป็นผู้รักษา ทั้งควรเป็นคนขยันในกิจการต่างๆ ไม่เป็นคนอยู่ว่าง หรือทำเวลาให้ไร้ประโยชน์ อย่างนี้จัดเป็นภรรยายอดมิตรของสามี..

(อ่านต่อวันพรุ่งนี้)

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรฯ / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430

พิธีบวช (ข่าวสด)

พิธีบวช

คอลัมน์ ศาลาวัด



ในช่วงชีวิตของลูกผู้ชายแต่ละช่วง ย่อมมีความเกี่ยวพันกับประเพณีการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบแล้วจะต้องบวช การบวชถือว่าเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดีมีศีลธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด

ดังนั้น การบวชจึงถือว่าเป็นประเพณีที่จำเป็นสำหรับลูกผู้ชายทุกคน

คำว่า การบวช มาจากศัพท์ว่า ปวชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา มีสวดมนต์ ภาวนา เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็นสามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็นพระภิกษุ เรียก อุปสมบท มี 2 อย่าง คือ

พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาว่า มาเถิดพระภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพ้นทุกข์โดยชอบเถิด เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา

พระสาวกบวชให้ด้วยการเปล่งวาจาว่า "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ" เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา

พระสงฆ์ 5 รูป รวมทั้งอุปัชฌาย์บวชให้ด้วยวิธีการสวดญัตติ 1 ครั้ง อนุสาวนา 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา การบวชข้อที่ 3 นี้เป็นการบวชที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ในสมัยโบราณ คนออกบวชเพราะสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ สำหรับการบวชในทุกวันนี้ส่วนมากจะเป็นการบวชตามประเพณี เมื่ออายุครบก็บวช บวชตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่บ้าง

คนที่ควรบวช คือ คนที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ มีอาชีพชอบและมีหลักฐานดี มีความประพฤติ ไม่ติดฝิ่น กัญชา และสุรา เป็นต้น รวมทั้งมีความรู้อ่านออกเขียนได้ ปราศจากบรรพชาโทษและมีรูปร่างสมบูรณ์ไม่ชรา ทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

ทั้งนี้ คนที่จะบวชเขาเรียกว่า นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้ไม่ทำบาป

เหตุที่ได้ชื่อว่า นาค เรื่องเดิมมีอยู่ว่า พญานาคแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวชในพระพุทธศาสนา เวลานอนหลับกลับเพศเป็นนาคตามเดิม วันหนึ่งพวกภิกษุไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกเธอมาถามได้ความว่าเป็นเรื่องจริง จึงสั่งให้สึกเสีย พญานาคมีความอาลัยในเพศบวช จึงกราบทูลขอฝากชื่อนาคไว้ ถ้าผู้ใดจะเข้ามาบวชขอให้เรียกชื่อว่า นาค คำว่านาค จึงเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชจนถึงทุกวันนี้

เมื่อบุตรหลานมีอายุครบพอที่จะบวชเป็นพระหรือเณรได้แล้ว พ่อแม่จะนำไปฝากไว้กับเจ้าวัดก่อนบวชประมาณหนึ่งเดือน เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน ทำวัตรสวดมนต์ ท่องบ่นขานนาค เรียนหนังสือธรรม

การนำบุตรหลานไปฝากไว้กับเจ้าวัด เขาจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่ขันนำตัวนาคไป เมื่อท่านรับขันแล้วก็ตีระฆัง ให้ชาวบ้านได้อนุโมทนาสาธุ การนี้เรียกว่า การประเคนนาค

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป (ข่าวสด)

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา



"พระพุทธรูป" พุทธศิลป์สูงค่า สัญลักษณ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราชาวพุทธทุกคนกราบไหว้บูชา เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม

เกี่ยวกับความเป็นมาของการกำเนิดพระพุทธรูปนั้น ได้มีการค้นพบหลักฐานเป็นศิลปวัตถุโบราณ ณ ประเทศอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากจนถึงกับยกเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีพระพุทธรูปที่จะใช้เป็นที่เคารพบูชา มีเพียงปูชนียวัตถุที่สร้างไว้เพื่อสักการะแทน เช่น พระธรรมจักรและกวางหมอบ เป็นต้น

ต่อมาภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วจึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยในครั้งแรกนั้นเป็นฝีมือของช่าง ชาวกรีก ซึ่งเป็นชนชาติที่เข้ามายึดครองอินเดีย จากการล่าอาณานิคมของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ชาวกรีกเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างผลงานด้านประติมากรรมเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ

เมื่อมาอยู่ในอินเดียเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงสร้างพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ขึ้นมา เพื่อสักการบูชาการสร้างพระพุทธรูปมี 2 ขนาด คือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปขนาดเล็ก พระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตัก 20 นิ้วขึ้นไป จัดว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยมากสร้างไว้เป็นพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร แต่กว่าจะออกมาเป็นพระพุทธรูปหนึ่งองค์ให้เราบูชาต้องใช้เวลานานเป็นเดือนเป็นปี

อานิสงส์การจัดสร้างพระพุทธรูปหรือสิ่งพิมพ์อันเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนเป็นกุศลดังนี้

1. อกุศลกรรมในอดีตชาติแต่ปางก่อน จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นสูญ

2. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง สรรพภยันตรายสลาย

3. เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติแต่ปางก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้ว ก็จะเลิกเว้นการจองเวร

4. เหล่ายักษ์ผีรากษส งูพิษ เสือร้าย ไม่อาจเป็นภัย

5. จิตใจสงบ ปวงภัยไม่เกิด ฝันร้ายไม่มี ราศีผ่องใส สุขภาพแข็งแรง กิจการงานเป็นมงคล

6.มั่นคงในคุณธรรม ความอุดมสมบูรณ์ปรากฏเกินความคาดฝัน ครอบครัวสุขสันต์ วาสนายั่งยืน

7. คำกล่าวเป็นสัตย์ ฟ้าดินปรานี ทวยเทพยินดี มิตรสหายปรีดา

8. คนโง่สิ้นเขลา คนเจ็บหายได้ คนป่วยหายดี ความทุกข์หายเข็ญ สตรีจะได้เกิดเป็นชาย

9. พ้นจากมวลอกุศล เกิดใหม่บุญเกื้อหนุน มีปัญญาเลิศล้ำ บุญกุศลเรืองรอง

10. สิ่งที่สร้างจะบังเกิดเป็นกุศลจิตแก่ทุกคนที่ได้พบเห็น เป็นเนื้อนาบุญอย่างอเนกทุกชาติของผู้สร้างที่เกิดจะได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า ปัญญาในธรรมแก่กล้า สามารถได้อภิญญาหก สำเร็จโพธิญาณ

การจัดสร้างพระพุทธรูปและสิ่งพิมพ์เป็นกุศลดังกล่าว ฉะนั้น ในงานวันเกิด งานมงคลต่างๆ การฉลองยศหรือตำแหน่ง การทำบุญสะเดาะเคราะห์ หรือขอพร การขอขมาลาบาปตลอดจนการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น

หากได้สละทรัพย์สินเงินทองเพื่อจัดกิจการดังกล่าวด้วย ก็จะเป็นผลานิสงส์สืบต่อไป

ดวงจันทร์ แซ่ตั้ง

กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ดวงจันทร์ แซ่ตั้ง

กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (จบ) khaosod เก็บไว้อ่านได้คิด

หลักสูตรอารยชน (จบ)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายงาน ดังนี้

1. เริ่มทำงานก่อน

2. เลิกงานทีหลัง

3. เอาแต่ของที่นายให้

4. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น

5. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ 6 ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้

1. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

2. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

3. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

4. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว

2. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี

3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

4. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง

5. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

6. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ

ข. เกื้อกูลกันประสานสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคม ให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วย สังคหวัตถุ 4 คือ

1.ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)

2.ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)

3.อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)

4.สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอกันโดยธรรม และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน)

หมวดสอง

นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย


ก. จุดหมาย 3 ขั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) 3 ขั้น คือ

ขั้นที่ 1ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน

ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ

ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

ทั้ง 4 นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ขั้นที่ 2 สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า

ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง ด้วยศรัทธา

ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงาม ด้วยความสุจริต

ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ

ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วย ปัญญา

จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี

ขั้นที่ 3 ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง

ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง

ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ

ค) สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้

ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา

ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ 2 ขึ้นไป เรียกว่าเป็น "บัณฑิต"

ข. จุดหมาย 3 ด้าน จุดหมาย 3 ขั้นนี้ พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ 3 ด้าน คือ

ด้านที่ 1 อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์ตน คือประ โยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง

ด้านที่ 2 ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ให้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ

ด้านที่ 3 อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์ บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย 3 ขั้นข้างต้น

ชาวพุทธชั้นนำ

ชาวพุทธที่เรียกว่า อุบาสก และอุบาสิกา นับว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำ จะต้องมีความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นอยู่ในหลัก ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทั่วไป นอกจากรักษา วินัยชาวพุทธ แล้ว ต้องมี อุบาสกธรรม 5 ดังนี้

1. มีศรัทธา เชื่อประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงาย มั่นในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด

2. มีศีล นอกจากตั้งอยู่ในศีล 5 และสัมมาชีพแล้ว ควรถือศีลอุโบสถตามกาล เพื่อพัฒนาตนให้ชีวิตและความสุขพึ่งพาวัตถุน้อยลง ลดการเบียดเบียน และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล

4. ไม่แสวงหาพาหิรทักขิไณย ไม่ไขว่คว้าเขตบุญขุนขลังผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ นอกหลักพระพุทธศาสนา

5. ขวนขวายในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ใส่ใจริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อารยชน (9)

หลักสูตรอารยชน (9)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



หมวดหนึ่ง

วางฐานชีวิตให้มั่น

ชาวพุทธ และมนุษย์ทุกคน จะต้องดำเนินชีวิตที่ดีงาม และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคง ตามหลัก วินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ดังนี้

กฎ 1 เว้นชั่ว 14 ประการ

ก. เว้นกรรมกิเลส (บาปกรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง) 4 คือ

1.ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต(เว้นปาณาติ บาต)

2.ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์ (เว้นอทินนา ทาน)

3.ไม่ประพฤติผิดทางเพศ (เว้นกาเมสุมิจฉา จาร)

4. ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง (เว้นมุสาวาท)

ข. เว้นอคติ (ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) 4 คือ

1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ (เว้นฉันทาคติ)

2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง (เว้นโทสาคติ)

3. ไม่ลำเอียงเพราะขลาด (เว้นภยาคติ)

4. ไม่ลำเอียงเพราะเขลา (เว้นโมหาคติ)

ค. เว้นอบายมุข (ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) 6 คือ

1. ไม่เสพติดสุรายาเมา

2. ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา

3. ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง

4. ไม่เหลิงไปหาการพนัน

5. ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว

6. ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน

กฎ 2 เตรียมทุนชีวิต 2 ด้าน

ก. เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบคนที่จะนำชีวิตไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้ คือ

1. รู้ทันมิตรเทียม หรือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร (มิตตปฏิรูป) 4 ประเภท

1) คนปอกลอก มีแต่ขนเอาของเพื่อนไป มีลักษณะ 4

(1) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

(2) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก

(3) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน

(4) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

2) คนดีแต่พูด มีลักษณะ 4

(1) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย

(2) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย

(3) สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้

(4) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

3) คนหัวประจบ มีลักษณะ 4

(1) จะทำชั่วก็เออออ

(2) จะทำดีก็เออออ

(3) ต่อหน้าสรรเสริญ

(4) ลับหลังนินทา

4) คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ 4

(1) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา

(2) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน

(3) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น

(4) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

2. รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) 4 ประเภท

1) มิตรอุปการะ มีลักษณะ 4

(1) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน

(2) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน

(3) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้

(4) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

2) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ 4

(1) บอกความลับแก่เพื่อน

(2) รักษาความลับของเพื่อน

(3) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง

(4) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

3) มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ 4

(1) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้

(2) แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี

(3) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง

(4) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

4) มิตรมีใจรัก มีลักษณะ 4

(1) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)

(2) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)

(3) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้

(4) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ข. จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร

ขั้นที่ 2 เมื่อทรัพย์เก็บก่อขึ้นดังจอมปลวก พึงวางแผนใช้จ่าย คือ

1 ส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง ทำความดี

2 ส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ

1 ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น

กฎ 3 รักษาความสัมพันธ์ 6 ทิศ

ก.ทำทุกทิศให้เกษมสันต์ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง 6 คือ

ทิศที่ 1 ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า ดังนี้

1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

2. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน

3. ดำรงวงศ์สกุล

4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท

5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว

2. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี

3. ให้ศึกษาศิลปวิทยา

4. เป็นธุระเมื่อถึงคราวจะมีคู่ครองที่สมควร

5. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

ทิศที่ 2 ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องขวา ดังนี้

1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ

2. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น

3. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา

4. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ

5. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ

อาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

4. ส่งเสริมยกย่องความดีงาม ความสามารถ ให้ปรากฏ

5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

ทิศที่ 3 ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง ดังนี้

1. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา

2. ไม่ดูหมิ่น

3. ไม่นอกใจ

4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน

5. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย

2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี

3. ไม่นอกใจ

4. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

5. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

ทิศที่ 4 ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้าย ดังนี้

1. เผื่อแผ่แบ่งปัน

2. พูดจามีน้ำใจ

3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย

5. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ตามหลักปฏิบัติดังนี้

1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน

2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน

3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้

4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก

5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศที่ 5 ในฐานะที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้ และคนงาน ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องล่าง ดังนี้

1. จัดงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ

2. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่

3. จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น

4. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้

5. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร

อารยชน (8) khaosod

หลักสูตรอารยชน (8)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



สรุป เป็นอันว่า คนทั่วไป ที่เรียกว่าคฤหัสถ์ มีหลักความประพฤติพื้นฐาน เป็นหลักประกันของชีวิต ได้แก่การปฏิบัติตามหลักในสิงคาลกสูตร ที่เรียกว่าคิหิวินัย คือ วินัยของคฤหัสถ์ ได้แก่ เว้นความชั่ว 14 ประการ แล้วเตรียมชีวิตด้วยการคบหาคนและจัดสรรทรัพย์ให้ดี แล้วก็ไหว้ทิศ 6 พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ 4

เมื่อวางฐานดีอย่างนี้แล้ว ก็ดำเนินชีวิตให้เข้าถึงจุดหมาย ทั้งในขั้นประโยชน์ที่ตามองเห็น ประโยชน์ที่เลยตามองเห็น และประโยชน์สูงสุด ลุถึงสันติสุข และอิสรภาพของชีวิต

เพื่อความสะดวกในการทบทวนและใช้เป็นแนวปฏิบัติ จะสรุปหลักทั้งหมดไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง คือ

1. วางฐานชีวิตไว้ ให้มั่นคงแน่นหนา ด้วยวินัยของคฤหัสถ์ กล่าวคือ

ก. ทำชีวิตให้สะอาด โดยหลีกเว้นความชั่วเสียหาย 14 ประการ

1. เว้นกรรมกิเลส คือ ความประพฤติมัวหมอง 4 อย่าง

2. เว้นอคติ คือ ความลำเอียงประพฤติคลาดจากธรรม 4 อย่าง

3. เว้นอบายมุข คือ ช่องทางแห่งความเสื่อมทรัพย์อับชีวิต 6 อย่าง

ข. เตรียมทุนชีวิตให้พร้อม โดยสร้างและวางแผนทุนสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม 2 ด้าน คือ

1. เลือกหาคบคน โดยหลีกเว้นมิตรเทียม 4 จำพวก และคบหามิตรแท้ 4 ประเภท

2. จัดสรรทรัพย์ วางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจนเป็นที่มั่นใจ

ค. สร้างสรรค์สังคมให้สวัสดี ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล

1. ทิศ 6 ทำหน้าที่ถูกต้องสมบูรณ์ ต่อบุคคลรอบด้าน

2. สังคหวัตถุ 4 ยึดเหนี่ยวใจคน และประสานสามัคคีของหมู่ชน ให้สังคมมั่นคงมีเอกภาพ

2. นำชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย เป็นบัณฑิต และดำเนินชีวิตให้บรรลุ "อัตถะ" ทั้ง 3

1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ทันตาเห็น โดยมีสุขภาพดี ครอบครัวดี พึ่งตัวได้ในทางเศรษฐกิจ และเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

2. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เลยตาเห็น โดยมีความอิ่มใจ ภูมิใจ สุขใจ มั่นใจ ในคุณธรรมความดี ความมีชีวิตที่สะอาดสุจริต มีคุณค่า เป็นประโยชน์

3. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด โดยมีปัญญารู้แจ้งเห็นความจริงของโลกและชีวิต วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย มีจิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นอิสระ สุขเกษม ถึงสันติ

ตามหลักที่พูดมานี้แสดงว่า แม้จะเป็นชาวบ้าน คือ คฤหัสถ์ ก็มีชีวิตที่ดีงาม เจริญก้าวหน้า จนกระทั่งเลิศประเสริฐได้

จะเห็นว่า ในพุทธกาล คฤหัสถ์ก็เป็นอริยบุคคลกันมากมาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้เป็นพระแล้วลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังเป็นพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะเป็นอุบาสก ยังมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนาอยู่ ทุกคนจึงต้องมาช่วยกัน

ที่ว่า "ช่วยกัน" นั้น อาจจะมองในแง่การบำรุงพระพุทธศาสนา อันนั้นก็ถูก แต่ที่จริง การรับผิดชอบ ก็คือการปฏิบัติตัวเองตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเผยแผ่ความดีออกไป ก็เป็นการทำหน้าที่ของอุบาสกที่ดี เมื่อทำได้อย่างนี้ ตนเองก็จะมีชีวิตที่ดีงาม พร้อมกับช่วยเหลือสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุข มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

ภาคผนวก

เพื่อความสะดวกในการศึกษา ทบทวน และตรวจสอบการปฏิบัติ จึงนำหลักธรรมที่เป็นมาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ หรือหลัก สูตรอารยชน ที่ได้แสดงไว้ข้างต้น มาประ มวลไว้ ให้เห็นระบบทั้งหมด ดังต่อไปนี้

วินัยชาวพุทธ - หลักสูตรอารยชน

พระสงฆ์มีวินัยของพระภิกษุ ที่จะต้องประพฤติให้เป็นผู้มีศีล ชาวพุทธและมนุษย์ทั่วไป ก็มีวินัยของคฤหัสถ์ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน

อารยชน (7) khaosod

หลักสูตรอารยชน (7)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



แต่พอถึงประโยชน์สูงสุดคือ ปรมัตถ์ แล้ว จะมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีจิตใจบริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นอิสระ ไร้ทุกข์

ถึงจะประสบโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายร้ายฝ่ายดี คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขหรือทุกข์ ก็รู้ทันตามเป็นจริง จิตใจไม่หวั่นไหว เรื่องชั่วนั้นพ้นไปนานแล้ว แล้วยังไม่ทุกข์เพราะความดีด้วย เลยพ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถเอาประโยชน์และใช้ประโยชน์ ทั้งสิ่งที่น่าชอบใจ และสิ่งไม่น่าชอบใจนั้นด้วย กับทั้งเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นท่ามกลางกระแสที่ปั่นป่วนผันแปรในโลก

นี้เรียกว่ามาถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด หลุดพ้นอยู่นอกเหนือสิ่งผูกรัด กิเลสและความทุกข์ทาบไม่ถึง ปลอดโปร่งโล่งเบา ผ่องใสเบิกบานได้ตลอดเวลา

ทั้งสามขั้นนี้เรียกว่า อัตถะ หรือจุดหมายของชีวิต 3 ระดับ ที่เราควรจะเข้าไปขึ้นให้ถึง

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะต้องให้ได้อย่างน้อยขั้นที่หนึ่ง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ที่ตามองเห็น ให้มีทรัพย์สินเงินทอง อย่างน้อยพอพึ่งตัวเองได้ สามารถสังคมกับคนอื่นได้ มีชีวิตครอบครัวก็อยู่กันดี รักษาสุขภาพไว้

แล้วใช้ทิฏฐธัมมิกัตถะนั้นเป็นฐาน พยายามเข้าถึงสัมปรายิ-กัตถะ คือประ โยชน์ลึกซึ้งเลยต่อไปที่ตามองไม่เห็น ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม พัฒนาชีวิตของตน พัฒนาจิตใจ ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์

จนกระทั่งเข้าถึงขั้นที่สามคือ ปรมัตถะ ซึ่งทำให้จิตใจเป็นอิสระด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต ก็จบสมบูรณ์

สำหรับข้อที่ 3 นี้ บางทีท่านพูดให้คนทั่วไปฟังง่ายๆ โดยไม่ออกชื่อเลย เพราะคนทั่วไปจะเน้นข้อ 1 คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ส่วนข้อ 2 และ 3 ก็รวมเข้าด้วยกันเป็นข้อเดียว คือรวมข้อ 3 เข้าในข้อ 2 เอาปรมัตถะรวมเข้าไว้ในสัมปรายิกัตถะ

คนที่บรรลุประโยชน์เหล่านี้ ถือเป็นคนแบบอย่างได้ เป็นคนมีชีวิตที่ดี ซึ่งเรียกว่าเป็น "บัณฑิต" ดังมีคาถาว่า

ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก

อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

แปลว่า ประโยชน์ในปัจจุบันที่ตามองเห็น อย่างหนึ่ง ประโยชน์ที่ลึกซึ้งเลยตาเห็นออกไป อีกอย่างหนึ่ง เพราะบรรลุประโยชน์ทั้งสองนี้ จึงเรียกว่าเป็นบัณฑิต

คนเราที่จะเป็นบัณฑิต ก็เพราะเข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ว่ามานั้น เมื่อว่าตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ถือว่า แม้จะเรียนจบอะไรต่ออะไร ถ้าไม่บรรลุประ โยชน์ที่ว่านี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นบัณฑิต

แต่ใครจะเรียนวิชาอะไร หรือไม่เรียนก็ตาม ถ้าสามารถดำเนินชีวิตได้จนถึงจุดหมายนี้ ก็เป็นผู้มีการศึกษา ท่านถือว่าเป็นบัณฑิต ซึ่งแปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ผู้ที่บวชเรียนแล้ว คนโบราณเรียกว่า ทิด ซึ่งสันนิษฐานกันไปมาก็ได้ความว่า ที่ถูกควรจะเขียนเป็น "ฑิต" เพราะเป็นคำย่อหรือคำกร่อนของคำว่า บัณฑิต

ในภาษาไทย ตัว ฑ มณโฑนี่ เรานิยมอ่านเป็น ท แต่ในภาษาบาลีอ่านออกเสียงเป็น ด เด็ก เช่น ปณฺฑิโต พอแผลงมาเป็นไทยแล้วอ่านแบบบาลีก็เป็นบัณฑิต (บัน-ดิด) แต่พอตัดเป็นตัวเดียวเหลือแต่ "ฑิต" เราก็อ่านแบบไทยแท้ เป็น ทิด ไป เพราะฉะนั้น ทิด ก็คือฑิต และก็คือบัณฑิต

คนที่บวชเรียนแล้ว ลาสิกขามาเรียกว่า ฑิต ก็คือเป็นบัณฑิต เมื่อเป็นบัณฑิตก็ต้องดำเนินชีวิตให้เข้าถึงจุดหมาย 3 ประการ หรือที่ย่อเป็น 2 ประการอย่างที่พูดมาแล้ว จึงจะสมชื่อว่าเป็นบัณฑิต เป็นแบบอย่างในการดำเนินแนวทางของชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บวชเรียน ถึงจะไม่ได้บวชกาย ก็บวชใจได้ แม้จะเป็นคฤหัสถ์ก็เล่าเรียนพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมได้ เมื่อเป็นชาวพุทธแล้วก็ควรทำตัวให้เป็นบัณฑิต ดำเนินชีวิตให้ถึงจุดหมายขั้นต่างๆ ที่ได้พูดมานี้เหมือนกันทุกคน

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้จักหน้าที่ khaosod

รู้จักหน้าที่

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ตาม ปกติทุกคนบนโลกนี้ ต่างเตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อทำหน้าที่ ธรรมชาติจึงได้สรรค์สร้างร่างกายให้มีอวัยวะมาอย่างพร้อมเพรียง มี ตา หู จมูก ลิ้น ใจ มีมือ เท้า มีสมอง เป็นต้น

หน้าที่มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.หน้าที่เพื่อตน และ 2.หน้าที่เพื่อคนอื่น ด้วยเหตุทุกคนที่เกิดมาแล้ว จะดำรงชีพให้ยั่งยืนเป็นสุขอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะทำหน้าที่ของตนอย่างเดียว จะต้องเกี่ยวข้องด้วยหน้าที่เพื่อผู้อื่น ที่คอยเข้ามาช่วยค้ำจุนอุดหนุนเอาไว้ด้วย จึงจะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขอย่างแท้จริง

หน้าที่อันต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือผู้อื่น ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ใหญ่ เล็กมาก น้อย แต่สำหรับผู้มุ่งหวังความเจริญแล้ว การงานที่ใหญ่จะกลายเป็นเล็ก การงานที่มากจะกลายเป็นน้อย เพราะเหตุว่าการมุ่งหวังความเจริญ เป็นคุณธรรมที่จะให้เกิดความเพลิด เพลิน สนุกสนาน ร่าเริง มีกำลังใจในการทำงาน หลายฝ่ายจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกัน เช่น สร้างถนนเพื่อความสะดวกในการคมนาคม สร้างบ่อน้ำเพื่อดื่มกินและใช้สอยอย่างอื่น การสร้างสิ่งเหล่านี้ แม้จะมีเจตนาว่าทำเพื่อผู้อื่นก็จริง แต่ตนก็มีหุ้นส่วนในการที่จะได้รับประโยชน์ร่วมอยู่ด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ผู้มุ่งหวังความเจริญดังกล่าว ต้องประกอบด้วยคุณ สมบัติ คือ ความไม่เกียจคร้าน และการพิจารณาหาทางที่จะทำให้หน้าที่สำเร็จลุล่วงอีกด้วย เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมให้กิจการที่ต้องการ สำเร็จเป็นที่พึ่งได้จริงๆ คุณสมบัติเช่นนี้ ถ้ามีเพียงความต้องการ แต่ไม่มีความขยันหมั่นเพียรในการทำ เรื่องที่ต้องการก็จะกลายเป็นความละเมอเพ้อฝัน ไม่มีทางสำเร็จได้ ต้องอาศัยความขยันไม่เกียจคร้านช่วยค้ำจุน จึงจะมีทางสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย

แนวทางในการทำหน้าที่ มีหลักใหญ่ๆ ที่ควรพิจารณาอยู่ 3 เรื่อง คือ

1. ทำหน้าที่โดยรู้ทางเสียหาย

2. ทำหน้าที่โดยรู้ทางได้

3. ทำหน้าที่โดยรู้ทั้งทางเสียหายและทางได้

ผู้ทำหน้าที่โดยยึดหลัก 3 เรื่องนี้เป็นแนวทาง จัดได้ว่าเป็นผู้สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ มีแต่ทางได้ไม่มีทางเสียหาย หรือหากจะเสียหายก็น้อยกว่า เพราะเป็นการเสียหายเพื่อให้ได้มาทดแทน ผู้ที่จะทรงคุณสมบัติในการทำหน้าที่ อันได้แก่ ความไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการพิจารณาช่องทางที่จำให้กิจสำเร็จลุล่วง ความสามารถที่จะทำได้ไว้กับตัว นับว่าตั้งตนไว้ได้ เป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างดี

ข้อดีแห่งการทำได้เช่นนี้ เป็นเหตุให้ได้การเคารพนับถือ เป็นที่รักของคนอื่น และได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการแนะนำด้วยน้ำใจอันงามจากคนอื่น มิตรภาพที่ดีระหว่างกัน ย่อมจะเกิดขึ้นได้อย่างแนบแน่นสนิทสนม โดยปราศจากความระแวงใจต่อกัน

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาตนเอง khaosod

การพัฒนาตนเอง

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

ทุก วันนี้ไปที่ไหนเราก็จะได้ยินคำว่า พัฒนา อยู่เสมอ สาเหตุก็คงเป็นเพราะทุกคนต่างตื่นตัวในเรื่องการพัฒนากิจการต่างๆ ในระหว่างที่กำลังพัฒนาก็อาจจะมีความสำเร็จหรือความล้มเหลวคละกันไป ที่พัฒนาได้สำเร็จดีเกินคาดก็มี ที่ทำไปแล้วผลที่ได้ไม่เท่าที่เสียก็มี ผู้ที่ทำงานไม่สำเร็จก็โทษผู้อื่น หรือโทษโน่นโทษนี่ก็มี

ในทางพระ พุทธศาสนา คำว่าพัฒนานี้มาจากคำว่า วัฑฒนะ แปลว่า ความเจริญ หมายถึง การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเจริญขึ้น เช่น การพัฒนาตนเอง ก็คือ ทำให้ตนเองดีขึ้น ดังนั้น เราควรพัฒนาให้เจริญใน 7 ประการนี้ คือ 1.พัฒนาอายุ 2.พัฒนาทรัพย์ 3.พัฒนาสิริมิ่งขวัญ 4.พัฒนายศ 5.พัฒนากำลัง 6.พัฒนาผิวพรรณ 7.พัฒนาความสุข

ประการที่ 1 พัฒนาอายุ หมายถึง การพัฒนาด้านสุขภาพอนามัย ทุกคนต้องการมีชีวิตมีอายุยืนยาวด้วยกันทั้งนั้น สังเกตได้เวลาที่ใครๆ อวยพรให้อายุยืน ก็จะชื่นใจ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าใครทักว่าจะมีอายุสั้น ก็ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ นี้ก็แสดงได้ว่าคนเรานั้นรักชีวิต วิธีที่จะทำให้ชีวิตยืนยาวเราก็ต้องรู้จักพัฒนา นั้นก็คือให้ละเว้นอบายมุข เพราะอบายมุขเป็นเครื่องผลาญชีวิตผลาญอายุ ผู้ที่ต้องการพัฒนาอายุจึงควรหลีกเลี่ยงอบายมุขเสีย

ประการที่ 2 พัฒนาทรัพย์ หมายถึง การเพิ่มพูนรายได้ ปรับปรุงรายจ่าย รู้จักใช้สอย ในทางพระพุทธศาสนาท่านให้ใช้หลักหัวใจเศรษฐี คือ ต้องขยันทำมาหากิน หามาได้แล้วต้องรู้จักเก็บ ต้องเลือกคบคนดีเป็นมิตร ใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะตามกำลัง อย่างนี้เรียกว่า การพัฒนาทรัพย์

ประการ ที่ 3 พัฒนาสิริมิ่งขวัญ หมายถึง การพัฒนาด้วยการรักษาศีล 5 ให้ได้ทุกข้อ เพราะศีล 5 นี่เองจะทรงระดับความเป็นมนุษย์ของเราไว้ได้ครบ

ประการ ที่ 4 พัฒนายศ หมายถึง การพัฒนาความดี อันเป็นโลกธรรมที่ทุกคนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ อิสริยยศ และบริวารยศ การพัฒนายศทั้งสามสามารถทำได้ด้วยความเป็นคนมีเหตุผลและผลงาน คือ ต้องเป็นคนที่รู้จักยอมอย่างมีเหตุผล เป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นใหญ่อย่างมีประโยชน์ ส่วนการพัฒนาบริวารยศ ทำได้ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ

ประการที่ 5 พัฒนากำลัง หมายถึง การเพิ่มพูนสมรรถภาพทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางปัญญา ให้ทรงประสิทธิภาพในการทำงาน ถ้ากำลังกายอ่อนแอไปก็ต้องฝึก ถ้ากำลังใจอ่อนก็ต้องปรับปรุง ถ้ากำลังปัญญาด้อยก็ต้องไปหาวิธีเพิ่มเติมความรู้ เพราะทั้งสามกำลังนี้ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ประการที่ 6 พัฒนาผิวพรรณ หมายถึง การรักษาความสะอาด แต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ เป็นต้น

ประการที่ 7 พัฒนาความสุข หมายถึง การพัฒนาที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้จัดไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

ดังนั้น ถ้าต้องการความเจริญจะต้องเป็นนักพัฒนาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอๆ ถ้าเกลียดการพัฒนาก็จะทำให้ตนเองเป็นผู้ไม่มีความเจริญ



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com

อานิสงส์มหาชาติ khaosod

อานิสงส์มหาชาติ

คอลัมน์ ศาลาวัด

การ เทศน์มหาชาติ คือการร่ายยาวหรือการเล่าเรื่องมหาเวชสันดรชาดก ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธองค์ในอดีตชาติ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวชสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็น เรื่องที่เหมาะสมจะเชิดชูขึ้นเป็นหลักเป็นประธานในการเสริมสร้างอัธยาศัยของ คนในชาติ จัดให้มีขึ้นตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งบางคนเชื่อว่าคัมภีร์มหาชาตินั้นเป็นพุทธวัจนะซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาค เจ้าได้ตรัสประทานเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์ พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ หากผู้ใดได้สดับย่อมเกิดสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเป็นกุศลบุญราศีสืบไป

ดัง นั้น การเทศน์มหาชาติ คือ มหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลประโยชน์สูงอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็น สำคัญ เป็นเทศกาลที่คงความหมายอย่างแท้จริง

ชาวพุทธนิยมฟังเทศน์ มหาชาติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทุกคนต่างมีความเชื่อว่าเป็นพุทธวจนะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ ตรัสประทานแก่พระภิกษุและพุทธบริษัท การได้ฟังพุทธวจนะย่อมเกิดอานิสงส์และกุศลราศีแก่ตน นอกจากนี้ ยังเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องศาสนอันตรธาน คือความเสื่อมของพระศาสนาด้วยเหตุ 5 ประการ ที่เรียกว่า ปัญจอันตรธาน ได้แก่

1.ประยัติอันตรธานคือความสูญสิ้นผู้ศึกษาเล่าเรียน

2.ปฏิบัติอันตรธานคือความสูญสิ้นของการปฏิบัติธรรม

3.ปฏิเวธอันตรธานคือความสูญสิ้นการตรัสรู้อริยมรรคอริยผล

4.สังฆอันตรธานคือความสูญสิ้นพระภิกษุสงฆ์

5.ธาตุอันตรธานคือความสูญสิ้นของพระสารีริกธาตุของพระพุทธ เจ้า

ดัง นั้น การเทศน์มหาชาติ จึงเป็นการสนับสนุนให้มีการศึกษาปริยัติสัทธรรมและเป็นการสืบทอดพระศาสนาอีก ด้วย เชื่อกันว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกครบ 13 กัณฑ์ 1,000 พระคาถา จบภายในหนึ่งวันและบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนแต่ละอย่างให้ครบพัน เป็นสิริมงคล แม้น้ำที่ตั้งไว้ในมณฑลพิธีก็ถือกันว่าเป็นน้ำมนต์ อาจจะบำบัดเสนียดจัญไรได้ และจะได้ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ 5 ประการ คือ

1.จะได้เกิดมาในยุคศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคต

2.เมื่อดับขันธ์จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร

3.จะไม่เกิดในอบาย (ไม่ตกนรก) เมื่อตายไปแล้ว

4.จะเป็นผู้มั่งมีลาภยศ สรรเสริญ ไมตรี และมีความสุข

5.เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา จะได้รับมรรคผล นิพพานเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และถึงความพ้นทุกข์

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (6) khaosod

หลักสูตรอารยชน (6)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.อ.๙)



นําพาชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย

เมื่อเตรียมพื้นฐานหรือวางฐานชีวิตเรียบร้อยดีอย่างนี้แล้วก็มาดูหลักต่อจากนั้น เพื่อดำเนินชีวิตให้ก้าวหน้า จะได้ประสบความสำเร็จที่สูงขึ้นไปจากพื้นฐานนั้น จนบรรลุจุดหมาย

คนเราเกิดมาก็มุ่งหาสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อัตถะ" ซึ่งแปลอีกอย่างหนึ่งว่า จุดมุ่งหมาย

เราควรจะมีจุดหมายของชีวิต ที่ถูกต้อง ดีจริง เป็นประโยชน์จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแบ่งไว้เป็น 3 ระดับ หรือแบบย่อเป็น 2 ระดับ เรียกว่า "อัตถะ" แปลว่าจุดหมาย หรือประโยชน์

คนเราเกิดมาแล้วไม่ควรมีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอย แล้วก็ตายไปเปล่าๆ แต่ควรอยู่อย่างมีจุดหมาย ที่เป็นอัตถะ คือเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ท่านพิสูจน์แล้ว และบอกไว้ให้นี้

จุดหมายของชีวิต 3 ระดับนั้นคือ

1.ประโยชน์ต่อหน้า เรียกว่า "ทิฏฐ ธัมมิกัตถะ" ทิฏฐธรรม แปลว่า สิ่งที่ตา มองเห็น หรือทันเห็น จึงแปลกันว่าประ โยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ทันตา ได้แก่ประโยชน์ระดับที่ตามองเห็น ได้แก่ การมีทรัพย์สินเงินทอง ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีมิตรสหายบริวาร ชีวิตครอบครัวที่ดี การมีร่างกายแข็งแรงไร้โรค เป็นต้น

2.ประโยชน์เลยตาเห็น คือ ประโยชน์ ในขั้นที่ลึกลงไป แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า ภาษาบาลีเรียกว่า "สัมปรายิ กัตถะ" เบื้องหน้า ก็คือ ลึกล้ำเลยไป ตาไม่เห็น

ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายขั้นตาไม่เห็น คือเรื่องนามธรรม เกี่ยวกับคุณธรรมความดี ที่เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ ให้มีความสุขความซึ้งใจอย่างประณีตที่ตามองไม่เห็น เช่น ความสุขใจ อิ่มใจ ภูมิใจ มั่นใจ ความรู้สึกในคุณค่าและความหมายของชีวิต ที่เกิดจาก

-ศรัทธา มีหลักใจ ที่ยึดเหนี่ยวนำทาง ให้ไม่อ้างว้าง ให้มั่นใจในความดีและกรรมดี

-การดำรงอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ตั้งอยู่ในความสุจริต

-ความมีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้เสียสละบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจน

-การสละละกิเลสในจิตใจออกไปได้ ให้ใจโล่งใจโปร่งผ่องใส และ

-มีปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง

ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ขั้นที่ยิ่งล้ำลึกซึ้ง เลยจากที่ตามองเห็น

ในขั้นแรก ประโยชน์ที่ตามองเห็น โดยมากเป็นประโยชน์ที่เราเอาเข้ามาให้ตัวเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตในโลก แต่พอถึงประโยชน์ขั้นที่สองนี้ ทรัพย์สินเงินทองหรือประโยชน์ซึ่งตามองเห็นที่เข้ามาเมื่อกี้นั้นกลับออกไป คือออกไปทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นหรือวงสังคม และเป็นเรื่องของการทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญความดีที่ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ

ในขั้นแรกได้ความสุขทางด้านร่างกาย แต่ในขั้นนี้ได้ความสุขทางจิตใจ ในขั้นแรกมีความสุขจากการได้จากการเอา แต่ในขั้นนี้มีความสุขจากการให้ จากการที่ใจมีคุณธรรม เป็นการพัฒนาชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จึงเรียกว่าสัมปรายิกัตถะ

3.ประโยชน์สูงสุด คือ การมีปัญญารู้เท่าทันโลกและชีวิต จนกระทั่งจิตใจเป็นอิสระ ไร้ทุกข์ เรียกว่า "ปรมัตถะ"

คนที่บรรลุสัมปรายิกัตถะนั้น อยู่ในขั้นของความดี แต่พึงทราบว่า คนดีก็ยังมีความทุกข์ คนชั่วก็มีทุกข์แบบคนชั่ว คนดีก็มีทุกข์แบบคนดี

คนดีทำความดีก็มักอยากให้เขาชมบ้าง บางคนทำดีแล้วเห็นว่าไม่ได้ผลที่ต้องการ ก็บอกว่าแหม...ทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที อย่างนี้แสดงว่ายังมีความหวังผลอยู่ พอไม่สมหวังก็เศร้า เพราะฉะนั้นถึงแม้เป็นคนทำความดีก็ยังมีทุกข์ได้อยู่

แต่ยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ ทุกชีวิต ทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว ก็ล้วนอยู่ในโลก และอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือความจริงของธรรมดาที่ว่า สิ่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง มีความผันผวนปรวนแปรไป ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรไปอย่างนี้ มีการได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ต่อมาก็พลัดพรากจากของรัก เป็นต้น คือพบสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ก็ประสบสุขและทุกข์ เรียกว่า ฟู-ฟุบ ยุบ-พอง ไปตามสถานการณ์ คนดีจึงยังมีปัญหาได้

อารยชน (5) khaosod

หลักสูตรอารยชน (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโตฺ ป.ธ.๙)



ส่วนทางฝ่ายลูกจ้าง และคนงาน ก็ต้องตั้งใจทำงานให้ได้ผลดี มีน้ำใจรักสมัครสมาน

6. ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อท่านให้ถูกต้อง ให้ท่านสามารถดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม

ส่วนทางฝ่ายพระสงฆ์ก็มี หน้าที่ปฏิบัติ ต่อชาวบ้านให้ถูกต้อง โดยเฉพาะต้องให้ธรรม และชักจูงให้เขาตั้งอยู่ในธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึง 6 ข้อ

เป็นอันว่าครบ 6 ทิศ การไหว้ทิศ ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่อยู่ในฐานะต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องในสังคมให้ถูกต้อง

เมื่อ เราปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลเหล่านั้นถูกต้องแล้ว ก็ทำให้ชีวิตปลอดโปร่ง เป็นอยู่และดำเนินไปด้วยดี ท่านเรียกว่ามีความสวัสดี สังคมก็เรียบร้อย ร่มเย็น มั่นคง

เมื่อเราไหว้ทิศได้ถูกต้องอย่างนี้ ก็เป็นมงคล นำความสุขความเจริญมาให้อย่างแน่ นอน เป็นการไหว้ทิศแบบอารยชน

ไม่ใช่ไปยืนไหว้ หรือนั่งกราบทิศตะวันออก ทิศเหนือ ฯลฯ เหมือนสิงคาลกมาณพ

2. สังคหวัตถุ 4 หลังจากตรัสเรื่องทิศ 6 แล้ว ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงปิดท้ายด้วย สังคหวัตถุ 4

ขอ อธิบายว่า บุคคลที่อยู่แวดล้อมเราทั้ง 6 ทิศนั้น เรามีหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่างกันไปแต่ละทิศ แต่ในที่สุดทุกคนก็เป็นสมาชิกของสังคมเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องมีสังคหวัตถุ 4 นี้ไว้สำหรับใช้กับทุกคนทั่วทั้งสังคม พระพุทธเจ้าจึงตรัสสังคหวัตถุ 4 ไว้คุมท้ายอีกทีหนึ่งว่า เราอยู่ในสังคมจะต้องใช้สังคหวัตถุ 4 นี้กับทุกคน

สังค หวัตถุ 4 นี้เป็นธรรมภาคปฏิบัติ จะเห็นว่า ในธรรมหมวดนี้ไม่พูดถึงเมตตากรุณาเลย เพราะอันนั้นเป็นคุณธรรมในใจ ในที่นี้เอาแต่เรื่องการปฏิบัติที่แสดงออกภายนอกจริงๆ

สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์ คือ หลักการยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ทำให้ตนเองก็เป็นที่รัก และชุมชนก็รวมกันอยู่ได้ ไม่แตกแยกกระจัด กระจาย ทำให้สังคมมีเอกภาพและมีความมั่นคง สังคหวัตถุ 4 คือ

1. ทาน
การให้ปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยเจือจาน แจกจ่าย ช่วยเหลือด้วยสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนวิชาความรู้ (ช่วยด้วยทุน สิ่งของ หรือความรู้)

-ให้ด้วยเมตตา แสดงน้ำใจไมตรี สร้างเสริมมิตรภาพ

-ให้ด้วยกรุณา ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ความเดือดร้อน

-ให้ด้วยมุทิตา ส่งเสริมผู้ทำความดี คนที่เจริญก้าวหน้า

2. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน ใช้คำสุภาพ ให้เกียรติกัน พูดด้วยความหวังดีมีน้ำใจ บอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ (ช่วยด้วยถ้อยคำ)

-พูดด้วยเมตตา ทักทายปราศรัยแสดงน้ำ ใจไมตรีพาทีสุภาพ

-พูดด้วยกรุณา เห็นใจ ปลอบใจ แนะนำ ให้คำปรึกษา บอกทางแก้ปัญหา

-พูดด้วยมุทิตา พูดให้กำลังใจ แสดงความส่งเสริมสนับสนุน

3. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา สละเรี่ยวแรงกำลังกาย กำลังความสามารถ ช่วยเหลือผู้อื่น และบำเพ็ญประโยชน์ (ช่วยด้วยกำลังงาน)

-ช่วยด้วยเมตตา แบ่งเบาภาระ ร่วมมือ แสดงน้ำใจไมตรี

-ช่วยด้วยกรุณา นำพาผู้อ่อนแอหรือตกอยู่ในอันตรายให้หลุดรอดพ้นภัย

-ช่วยด้วยมุทิตา ให้กำลังสนับสนุนร่วมมือแก่ผู้ทำความดีและเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

4. สมานัตตตา เอาตัวเข้าเสมอสมาน ร่วมหมู่ ร่วมมือ ร่วมจุดหมาย ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมสุขร่วมทุกข์ ปฏิบัติต่อกันโดยเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลาย ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้เหมาะกับแต่ ละสถานการณ์ (ช่วยด้วยการร่วมสร้างสรรค์ และแก้ปัญหา)

เป็นอันว่าครบถ้วนแล้ว ทั้งหมดนี้พระ พุทธเจ้าตรัสไว้เป็นแบบแผน ท่านเรียกว่า "วินัยของคฤหัสถ์"(วินัยชาวบ้าน)

คำว่า วินัยของคฤหัสถ์ นี้ เป็นคำที่พระอรรถกถาจารย์มาเรียกอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นคำที่เหมาะดี เป็นชุด เป็นลำดับ

ชาวพุทธ และมนุษย์ทุกคน ควรจะยึด ถือข้อปฏิบัติในสิงคาลกสูตรนี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

เมื่อ ได้หลักนี้เป็นพื้นฐานที่ดีแล้ว ก็บำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่นต่อไปได้สะดวก เพราะสร้างฐานไว้ดีแล้ว ชีวิตของเราจะมีความมั่นคง ทั้งในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง และในด้านการอยู่ร่วมสังคม เรียบร้อยสบายใจ

ต่อจากนี้ก็บำเพ็ญคุณความดีตามหลักธรรมข้ออื่นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะปฏิบัติก้าวหน้าไปอย่างไรก็ได้ เพราะวางฐานไว้เรียบ ร้อยดีแล้ว

ทั้งหมดนี้คือหลักหรือแบบแผนชีวิตของคฤหัสถ์

แม้แต่พระ เมื่อลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องขอให้นำเอาหลักนี้ไปเป็นเครื่องเตือนใจตนและทบทวน เพื่อจะได้ดำเนินตามพระพุทธประสงค์

และช่วยแนะนำผู้อื่นต่อไป

อารยชน (4) khaosod

หลักสูตรอารยชน (4)

พระพรหมมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ถ้า รู้จักเลือกคบคน รู้จักปรึกษา รู้จักเข้าหา ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย และคนทุกระดับ เข้าได้หมด ก็จะทำให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จมาก

บาง คนดีกับคนที่ต่ำกว่าตน บางคนดีได้เฉพาะกับคนระดับเดียวกับตน บางคนดีกับคนเหนือตน บางคนเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี แต่เข้ากับเด็กไม่ได้ หรือบางคนเข้ากับเด็กได้ แต่กับผู้ใหญ่มักขัดแย้ง บางคนเข้ากับผู้น้อยได้ดี แต่เข้ากับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันไม่ได้ ก็เกิดปัญหา

ถ้า เราเข้าคนได้ทุกระดับ เมื่ออยู่ในวงงาน ผู้ใหญ่ก็รักนับถือเคารพกัน ผู้น้อยก็รัก เพื่อนก็ไปด้วยกันได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นไปด้วยดี แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องเข้ากับธรรมด้วย

เอาละ นี่ก็เป็นเรื่องของมิตรซึ่งจะต้องรู้จักแยก รู้จักคบ


2.วาง แผนจัดสรรทรัพย์ ต่อจากนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการเตรียมตัวขั้นสำคัญ คือการจัดสรรการใช้จ่ายเงินทอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของผู้ครองเรือน เพราะเงินเป็นหลักประกันของชีวิตสำหรับคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญอยู่เสมอ ต่างจากพระสงฆ์ที่ชีวิตพึ่งวัตถุน้อยและญาติโยมเลี้ยง

เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จะต้องมีความมั่นใจโดยมีหลักการจัดสรรทรัพย์ จะจัดสรรอย่างไร ก็ให้เหมาะกับยุคสมัยท้องถิ่นนั้น แต่ต้องวางแผนให้มั่นใจ

สำหรับในพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักใหญ่ๆ ให้เหมาะกับยุคสมัยนั้นว่า ให้จัดแบ่งทรัพย์เป็น 4 ส่วน

1 ส่วน ใช้เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงคนในความรับผิดชอบ เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง ตลอดจนทำอะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีงาม เป็นบุญกุศล ทำประโยชน์ ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม

อีก 2 ส่วน ใช้ทำกิจการงาน เช่น เป็นนักธุรกิจก็ลงทุนในการอาชีพ เรื่องทุนทำการงาน ทำกิจการ ท่านให้ความสำคัญมาก ให้ถึง 2 ส่วน และอีก 1 ส่วน คือส่วนที่สี่ เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตในยามจำเป็น เช่น เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีเงินเตรียมไว้

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เหมาะกับคนสมัยนั้นว่า จัดสรรทรัพย์เป็น 4 ส่วน หนึ่งส่วนใช้ อีกสองส่วนทำกิจการ อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ เราก็เอาหลักการนี้มาประยุกต์ คือจัดเรื่องทรัพย์ให้ดี เตรียมวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ให้เป็นที่สบายใจว่าชีวิตของเราจะมีความมั่นคง คนที่จัดสรรเงินได้ดี ตัวเองก็มีความมั่นใจ และชีวิตก็มีความมั่นคง

ตอนนี้ถือว่าเตรียมพร้อมแล้ว คราวนี้ก็ไหว้ทิศได้

ขั้นที่ 3 ไหว้ทิศทั้ง 6

1.ไหว้ ทิศ 6 ไหว้ทิศคืออย่างไร? การที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็คือ อยู่ในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อนมนุษย์ ที่อยู่รอบตัว มนุษย์ที่อยู่รอบตัวเรานี้ย่อมจะมีความสัมพันธ์กับเราในฐานะต่างๆ กัน

เปรียบ คนทั้งหลายที่อยู่ในฐานะต่างๆ ก็เหมือนกับเป็นทิศน้อยใหญ่ ที่อยู่ล้อมรอบ ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงจะมีชีวิตอยู่ด้วยดีมีความสุขความเจริญ

การไหว้ทิศ ก็คือการปฏิบัติโดยถูกต้องต่อบุคคลเหล่านั้น

คน ที่บัญญัติเรื่องทิศนั้น เขาบัญญัติโดยเอาทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เขาจึงหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ก่อน พระอาทิตย์ขึ้นทางไหน ก็หันหน้าไปทางนั้น พอเห็นพระอาทิตย์แล้วก็เริ่มกำหนดทิศ ก็เลยถือว่า ทิศเบื้องหน้าเป็นทิศตะวันออก

เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีจึงเรียกทิศตะวันออกว่า ปุรัตถิมทิศ คือทิศบูรพา แปลว่า ทิศข้างหน้า ก็คือทิศตะวันออก

1.ทิศ เบื้องหน้า เป็นทิศที่มาก่อน บุคคลที่มาก่อนเราก็คือ พ่อแม่ ท่านเกิดก่อนเรา และเป็นผู้นำเรา เริ่มตั้งแต่ให้ชีวิตและเลี้ยงดูเรา เพราะฉะนั้น ทิศแรกจึงได้แก่ พ่อแม่

ไหว้ทิศเบื้องหน้า ก็คือปฏิบัติหน้าที่ต่อพ่อแม่ เคารพบำรุงพ่อแม่ให้ถูกต้อง เช่น ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว ก็เลี้ยงท่านตอบ ช่วยเหลือทำกิจธุระการงานของท่าน ดำรงรักษาวงศ์ตระกูล ประพฤติให้สมควรแก่ความเป็นทายาท และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน นี้ว่าไปตามหลักที่เรียนมาแล้ว และถ้าตัวเองไปเป็นพ่อแม่ ก็ปฏิบัติต่อลูกตามหลักที่ท่านจัดไว้คู่กัน

2.ทิศเบื้องขวา พอหันหน้าไปทางตะวันออก ข้างขวามือก็เป็นทิศใต้ ท่านเรียกว่าทิศเบื้องขวา คือทักษิณทิศ

ทักษิณ หรือขวานี้ คติโบราณถือเป็นเรื่องของการแสดงความเคารพ อะไรไว้ทางขวาก็หมาย ความว่าเราเคารพ ทิศเบื้องขวาก็เลยยกให้อาจารย์ จัดครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวาคือทิศใต้ ก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อครูอาจารย์ให้ถูกต้อง

3.ทิศเบื้องหลัง หมายถึงคนที่มาทีหลัง ซึ่งตอนแรกเมื่อเราเกิดมายังไม่มี ก็คือ บุตร ภรรยา หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็ได้แก่สามีกับลูก ตอนเราเกิดยังไม่มี มามีทีหลัง เพราะฉะนั้นจึงเป็นทิศเบื้องหลัง ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามี ภรรยา และบุตร ให้ถูกต้อง

4.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหายและผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นผู้ยืนอยู่เคียงข้าง ช่วยประคับประคองสนับสนุน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อกันให้ถูกต้อง

5.ทิศ เบื้องล่าง ได้แก่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนคนงาน ลูกจ้าง และคนรับใช้ ต้องเอาใจใส่ ดูแลสุขทุกข์ ให้เขาอยู่ดี อบอุ่น และคุ้มครองให้เขาได้รับความเป็นธรรม

อารยชน (3) khaosod

หลักสูตรอารยชน (3)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



นอก จากเสื่อมทรัพย์สินเงินทองแล้ว ก็เสื่อมอย่างอื่นด้วย จิตใจก็ไม่อยู่กับหน้าที่การงาน ถ้าอยู่ในวัยเรียน ก็เสียการศึกษา ซ้ำร้ายสุขภาพก็เสื่อมโทรมด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เว้นอบายมุขที่เป็นทางแห่งความเสื่อมทั้ง 6 อย่าง คือ

1.เป็นนักเลงสุรา เป็นนักดื่ม หมกมุ่นกับสุรายาเมา และสิ่งเสพติดต่างๆ

2.เป็นนักเที่ยว เที่ยวไม่เป็นเวลา เที่ยว เสเพลเรื่อยเปื่อย สมัยก่อนเรียกว่า นักเที่ยวกลางคืน

3.เป็น นักหมกมุ่นการบันเทิง สมัยก่อนเรียกว่าดูการละเล่น หมายความว่า หมกมุ่นเอาแต่เรื่องสนุกสนานบันเทิง วนเวียนอยู่กับสถานและรายการบันเทิง จะหาแต่ความสนุกอย่างเดียว มัวเมา ทิ้งการเรียน ไม่เอาการเอางาน ไม่มีเวลาหาเงินหาทอง และผลาญเงินทองที่มีอยู่

4.เป็นนักเลงการ พนัน ซึ่งผลาญทรัพย์อย่างยิ่ง อย่างที่โบราณว่าไฟไหม้ยังดีกว่าเล่นการพนัน เพราะไฟไหม้นั้น ถึงบ้านจะหมด ที่ดินก็ยังอยู่ แต่ถ้าเล่นการพนัน แม้แต่ที่ดินก็หมดด้วย ไม่มีอะไรเหลือ

5.คบคนชั่วเป็นมิตร เช่น คบนักเลงสุรา นักดื่ม นักการพนัน นักเที่ยวเสเพล คบคนอย่างไร ก็พาไปเป็นอย่างนั้น ทำให้เราพลอยเสียไปด้วย

6.เกียจคร้านการงาน คือไม่เอาใจใส่การงาน เอาแต่จะนอนสบาย พอมีงานหรือเรื่องที่จะต้องทำยากหน่อย ก็อ้างโน่นอ้างนี่หลบหลีกไปเรื่อย

นี่ คืออบายมุข 6 นับต่อจากกรรมกิเลส 4 และอคติ 4 รวมแล้วเป็น 14 ข้อ เป็นสิ่งสกปรกเสียหายหรือเปรอะเปื้อนที่ควรละเลิกหลีกเว้น เพื่อชำระล้างชีวิตให้บริสุทธิ์ สะอาด โปร่งโล่ง เบาสบาย

การที่มาณพ ไปอาบน้ำชำระร่างกาย เขาก็ได้ความสะอาดแค่ข้างนอก แต่ถ้าเราชำระความชั่ว 14 อย่างนี้แล้ว ก็จะทำชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อชีวิตสะอาดดี ก็พร้อมที่จะอยู่ร่วมสังคมและดำเนินชีวิตอยู่ในโลกโดยสวัสดี

ขั้นที่ 2 เตรียมตัวไหว้ทิศ

การ จะไหว้ทิศนั้น แม้จะขึ้นจากน้ำชำระล้างร่างกายเสร็จมาแล้ว ก็ยังมีขั้นตระเตรียมอีก เช่น มาจัดแจงบริเวณและที่ยืน เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วยังมีอีก 2 ขั้น คือ

1.เลือกคบคน ในตอนเว้นอบายมุข ได้บอกแล้วว่า ไม่ให้คบคนชั่วเป็นมิตร ทีนี้ก็มาเตรียมตัวเลือกคนที่จะคบ โดยรู้จักแยกว่ามิตรดีและมิตรชั่ว เป็นอย่างไร มิตรมีกี่ประเภท ดูลักษณะคนที่ควรคบ

การคบคนนี่ท่านถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หลักกัลยาณมิตร สอนว่า ในการอยู่ร่วมสังคมนี้ การรู้จักเลือกคนที่เกี่ยวข้องคบหาเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักแยกว่า ใครเป็นมิตรแท้ ใครเป็นมิตรเทียม

เรื่อง มิตรแท้ 4 ประเภท มิตรเทียม 4 ประเภทนี่เรียนกันยาว เมื่อพูดเอาแค่หลักการก็คือ ให้รู้จักแยกได้ว่า คนอย่างไรเป็นมิตรแท้ คนอย่างไรเป็นมิตรเทียม แล้วก็คบแต่มิตรแท้ 1

ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ ให้เกี่ยวข้องกับคนชั่วเลยนะ เดี๋ยวจะพูดว่า ถ้าอย่างนั้นคนไม่ดีเราก็ละทิ้งเลยสิ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ไม่ให้คบคนชั่ว เว้นแต่จะช่วยเหลือเขา

แต่ถ้าเราจะช่วยเขา เราต้องพร้อมก่อน ต้องเห็นชัดว่าเราอยู่ในภาวะที่เข้มแข็งพอ และมีปัญญา ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ไม่ดี จะทำให้เกิดความเสื่อมหรือเสียหายอย่างไร และอยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ หรือมีทางเข้าไปเกื้อกูลชักนำดึงเขาขึ้นมา

แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายอ่อนแอกว่า เราเองอาจจะแย่ อาจจะกลายเป็นฝ่ายที่ถูกเขาชักจูงหรือดึงลงไป เพราะฉะนั้นจึงต้องประมาณกำลังของตน

เป็น อันว่า ไม่คบคนชั่ว เว้นแต่จะช่วยเหลือ แต่ตามปกติ ว่าโดยหลักการทั่วไปก็คือ คนชั่วคนไม่ดีเป็นพาล เราไม่เอา เราคบหาบัณฑิต ที่จะชักพาชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญ ตามหลักที่ท่านว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส - คบคนใด ก็เป็นเช่นคนนั้น

นอกจากคบกันธรรมดาแล้ว ก็รู้จักคบคนในวงการหรือกิจการงาน ในการงานนั้น ถ้าเรารู้จักเลือกคบหาคน ก็จะเป็นทางของความเจริญก้าวหน้า เช่น คนที่ประกอบธุรกิจการค้า ก็ต้อง รู้ว่าคนไหนมีความสำคัญอยู่ในวงการธุรกิจที่ตัวเกี่ยวข้อง คนไหนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ดี คนไหนจะชักพาให้เข้าถึงทางของความก้าวหน้าได้ เรารู้ว่าเราควรจะเข้าหาใคร ในเรื่องอะไร เรามีความต้องการอะไร มีธุระประเภทไหน ควรจะเข้าหาคนชนิดใด ตลอดกระทั่งหนังสือสื่อแหล่งความรู้แหล่งข้อมูล

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

อารยชน (ข่าวสด)

หลักสูตรอารยชน (2)

พระพรหมคุณาภร์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ที่นี้ก็มาดูกันว่า "อารยชน" ควรไหว้ทิศ คือ ปฏิบัติต่อชีวิตของตน ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสภาพแวด ล้อมที่อยู่รอบตัวเรานี้อย่างไร เพื่อให้ชีวิตดีงาม มีความสุขความก้าวหน้า และให้สังคมเจริญพัฒนาไปได้ด้วยดี มีความเข้มแข็งมั่นคง ดำรงในสันติสุขที่ยั่งยืน

ขั้นที่ 1 รักษาชีวิตให้สะอาด

ขั้นแรก ละเว้นความชั่วต่างๆ เหมือนทำความสะอาดชำระล้างร่างกายให้หมดจด เสร็จแล้วจึงมาไหว้ทิศ

สิ่งชั่วร้ายที่ต้องชำระล้างมี 14 ประการ คือ

1. กรรมกิเลส 4 คือการกระทำที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง เป็นการกระทำที่เสียหาย คือการดำเนินชีวิต หรือความประพฤติที่เบียดเบียนกัน 4 ประการ ได้แก่

1. ปาณาติบาต การทำร้าย เบียดเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่น

2. อทินนาทาน การลักทรัพย์ ละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น

3. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น

4. มุสาวาท การพูดเท็จ โกหก หลอกลวง ทำร้ายเขาด้วยวาจา

สี่อย่างนี้เป็นกรรมกิเลส คือความประพฤติเสียหาย ท่านให้ละเว้นเสีย ดูก็คล้ายๆ กับ 4 ข้อแรกในหลักศีล 5 แต่อาจจะสงสัยว่าข้อสุดท้าย คือ สุราฯ ไปไหน เดี๋ยวจะมีเอง

สี่ข้อนี้เป็นตัวกรรม แต่ข้อสุราฯ นั้น ไม่ใช่กรรม เวลาเราพูดถึงหลักศีล 5 เราเรียกว่า สิกขาบท สี่ข้อต้นนั้นเป็นกรรมบถด้วยและเป็นสิกขาบทด้วย แต่ข้อสุราฯ ไม่เป็นกรรมบถ เป็นเพียง สิกขาบท

กรรมบถเป็นตัวกรรม การไปทำร้ายชีวิตร่างกายเขา ไปลักทรัพย์เขานี้เป็นกรรมชั่ว แต่การดื่มสุรา ยังไม่ใช่เป็นกรรมในตัวเอง เพราะมันเป็นเรื่องของการดื่มเข้าไปแล้วทำให้ขาดสติ แล้วจะไปทำร้าย ไปทำอะไรไม่ดี จึงเป็นกรรมอีกทีหนึ่ง

แต่เว้นสุราเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกหัดว่าจะเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ที่จะก่อให้เกิดโทษอย่างอื่น จึงมาเป็นสิกขาบทด้วย เพราะว่าเอามาใช้ในการฝึก เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดดำเนินชีวิตที่ดี

ในที่นี้ พูดถึงเฉพาะกรรมก็เลยมีแค่ 4 ข้อ เรียกว่ากรรม-กิเลส เพราะเป็นกรรมที่เศร้าหมอง คือเป็นความประพฤติเสียหาย

กรรมนี้คลุมไปถึงอาชีพการงานด้วย อาชีพการงานเป็นหลักสำคัญของชีวิตของเรา ก็ไม่ให้มีเจ้าสี่ตัวนี้ คือให้ละเว้น ไม่ให้เป็นอาชีพการงานประเภทที่มีการทำร้ายเบียดเบียนชีวิตเขา ไม่เป็นอาชีพที่ล่วงล้ำละเมิดทรัพย์สินของคนอื่น ไม่ใช่อาชีพลักขโมย ไม่ใช่อาชีพที่จะทำความประพฤติผิดทางกาม และไม่ใช่อาชีพที่หลอกลวง ใช้วาจาโกหกผู้อื่น

กรรมกิเลส คือความประพฤติมัวหมองเสื่อมเสียแก่ชีวิตนี้ ทำให้เกิดเวรภัยในสังคม เป็นการสร้างเครื่องกีดกั้นขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและก่อกวนความสงบสุขในชีวิตของตนเอง

ผู้ที่ไม่ก่อกรรมกิเลสทั้ง 4 นี้ จะมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง เหมือนคนที่ร่างกายสะอาด รู้สึกโปร่งโล่งเบาและมั่นใจที่จะก้าวไปทำ อะไรๆ ด้วยความสบายใจ

2. อคติ 4 ได้แก่ ความลำเอียง หรือความประพฤติออกนอกทางของธรรม 4 อย่าง คือ

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ

2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา

4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

คฤหัสถ์ เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จะต้องรับผิดชอบกลุ่มคนหรือหมู่ชน เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นหัวหน้าชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะต้องรักษาความเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรม แก่คนในความดูแลของตน เพื่อให้กลุ่มคนหรือหมู่ชนนั้นอยู่กันโดยสามัคคี มีความสงบสุข พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เว้นความลำเอียง คือความประพฤติผิดธรรม หรือคลาดจากธรรม เพราะชอบ ชัง ขลาด เขลา แต่ให้ดำรงอยู่ในธรรม คือความถูกต้องดีงาม และความเที่ยงธรรม

3. อบายมุข 6 ได้แก่ ทางแห่งความเสื่อม โดยเฉพาะช่องทางสิ้นเปลืองหมดไปของทรัพย์สินเงินทอง

ในการทำมาหาเลี้ยงชีพของคฤหัสถ์นั้น เรื่องสำคัญก็คือ ต้องสามารถเก็บเงินเก็บทองได้ แต่ถ้ามีอบายมุขแล้วเงินก็หมด เก็บไม่ได้ เงินไม่อยู่

พูดตามสำนวนของท่านว่า เงินทองที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น เงินทองที่เกิดขึ้นแล้ว ก็หมดสิ้นไป


วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

เว็บน่าสน instant

http://hartlabs.net/instant_maps/
http://ytinstant.com/
http://cdn.michaelhart.me/mh/instant_images/
http://instantise.com/

มหาชาติ 13 กัณฑ์ (ข่าวสด)

มหาชาติ 13 กัณฑ์

คอลัมน์ ศาลาวัด
การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ มีทั้งหมด ทั้ง 13 กัณฑ์ คือ

1.กัณฑ์ ทศพร 19 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ สาธุการ ทศพร เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่นางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร โดยให้พร 10 ประการ

2.กัณฑ์ หิมพานต์ 134 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ตวงพระธาตุ หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชา ชนชาวเมืองสีพีโกรธแค้น จึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต

3.กัณฑ์ทานกัณฑ์ 209 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ พญาโศก ทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกสัตสดกมหาทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนออกจากพระนคร

4.กัณฑ์วนปเวศน์ 57 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ พญาเดิน วนปเวศน์ เป็นกัณฑ์ที่เสด็จถึงเขาวงกต ได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตให้ พระเวสสันดร พระนางมัทรี ชาลีและกัณหา จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา

5.กัณฑ์ชูชก 79 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ เซ่นเหล้า ชูชก เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตดามาเป็นภรรยา และหมายจะได้โอรสและธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส

6.กัณฑ์จุลพน 75 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ คุกพาทย์ จุลพน เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงกลชูชก และชี้ทางอาศรมจุตดาบส ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตร อ้างว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัย จึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤาษี

7.กัณฑ์มหาพน 80 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ เชิดกล้อง มหาพน เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกล่ออจุตฤาษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดร

8.กัณฑ์กุมาร 101 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ โอดเชิดฉิ่ง กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก

9.กัณฑ์ มัทรี 90 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ทยอยโอด กัณฑ์มัทรี เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก

10.กัณฑ์สักกบรรพ 43 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กลม สักก บรรพ เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์จำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ

11.กัณฑ์มหาราช 69 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กราวนอก มหาราช เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมาร ก่อนเสด็จนิวัตถึงมหานครสีพี

12.กัณฑ์ฉกษัตริย์ 36 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ตระนอน ฉกษัตริย์ เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้ากัน ท้าวสักกะเทวราชได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์

13.กัณฑ์นคร กัณฑ์ 48 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กลองโยน นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัตพระนคร พระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา

พลังธรรมะ-พลังแห่งชีวิต (ข่าวสด)

พลังธรรมะ-พลังแห่งชีวิต

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
กํา ลังใจนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สำหรับชีวิตมนุษย์ ถ้ามนุษย์ขาดกำลังใจการประกอบกิจกรรมทำกิจสิ่งใดๆ ก็ให้สำเร็จสมความปรารถนาได้โดยยาก แต่ผู้ที่มีกำลังใจดี มีกำลังใจเข้มแข็ง เขาประกอบกรรมทำกิจสิ่งใดๆ ก็ให้สำเร็จในสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยดีในทุกสิ่งไป แต่กำลังใจที่จะเกิดขึ้นและเข้มแข็งได้นั้น ก็จำต้องอาศัยหลักธรรมประคับประคอง ส่งเสริมสนับสนุน หลักธรรมะอันเป็นพลังแห่งชีวิตมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. สทฺธาพลํ พลังแห่งศรัทธา ความปลงใจเชื่อมั่นในพระตถาคตเจ้า

๒. วิริยพลํ พลังแห่งความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น

๓. สติพลํ พลังแห่งความมีสติรอบคอบ ความไม่หลงลืม

๔. สมาธิพลํ พลังแห่งจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจนมีความมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหว

๕. ปญฺญาพลํ พลังแห่งปัญญา ที่จะช่วยประคับประคองศรัทธาให้ถูกต้อง ไม่งมงาย

ประการ ที่ ๑ พลังแห่งศรัทธา หมายถึงพลังแห่งชีวิตคือศรัทธา คือความปลงใจเชื่ออย่างหนักแน่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคตเจ้าว่าพระองค์เป็นผู้ ตรัสรู้ หรือค้นพบสัจธรรม อันสามารถนำหมู่สัตว์มีมนุษย์เป็นต้น ให้หลุดพ้นออกไปจากทุกข์ได้

ประการที่ ๒ พลังแห่งศรัทธา หมายถึงพลังแห่งความเพียร บากบั่น ความขยัน ความอดทน ความหนักแน่น เมื่อมีศรัทธาแล้วก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่องเป็นนิตย์ จนกว่ากิจที่ทำนั้นๆ จะสำเร็จลงได้ด้วยดี

ประการที่ ๓ พลังแห่งสติ หมายถึง ความระลึกได้ ความไม่หลงลืม หมายเอาความระลึกถึงกิจการที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิดได้อยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่ง คือผู้ไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาทคือผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ หากจะใช้สติให้เป็นกำลังแห่งชีวิตมากยิ่งขึ้น

ประการที่ ๔ พลังแห่งสมาธิ หมายถึง พลังแห่งจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจนมีความมั่นคง มีความหนักแน่น มีความไม่หวั่นไหว ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความโลเล เป็นสภาพจิตที่แน่วแน่ หนักแน่น มั่นคง แม้จะมีอารมณ์ภายนอกมายั่วยุ ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่โอนเอน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์นั้น จิตอย่างนี้เรียกว่าจิตมีพลัง เพราะไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกระแสกิเลส ผู้มีจิตเข้มแข็งมั่นคงเช่นนี้ ย่อมสามารถนำพาชีวิตของตนให้ได้พบสิ่งที่ต้องการปรารถนา

ประการที่ ๕ ปัญญาพลัง หมายถึง พลังที่จะช่วยประคับประคองศรัทธาให้ถูกต้อง ไม่เป็นศรัทธาที่งมงาย ช่วยประคับประคองวิริยะคือความเพียรให้อยู่ในระดับที่พอดี ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งปัญญา จึงเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตที่ประเสริฐสุด พลังแห่งปัญญาสามารถให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ในที่ทุกสถานในการทุกเมื่อ

พลังแห่งธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นพลังส่งเสริมชีวิต ให้ชีวิตมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดศรัทธาเพราะจะพาให้ชีวิตเคว้งคว้าง อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดวิริยะ เพราะจะพาให้ชีวิตล้มเหลว อย่าปล่อยให้ชีวิตขาดสติ เพราะจะทำให้ชีวิตเกิดความลุ่มหลงผิดพลาด และอย่าปล่อยให้ชีวิตขาดปัญญา เพราะจะพาให้ชีวิตล่มสลายได้ ท่านผู้ปฏิบัติธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้ จะสามารถช่วยผู้นั้นให้มีชีวิตอย่างมีพลังเข็มแข็งปลอดภัยอย่างแน่นอน



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

แก่นสาร (ข่าวสด)

แก่นสาร

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting


ในพระพุทธศาสนาตรัสถึงสาระแก่นสารที่เป็นประโยชน์ประเภทเนื้อแท้ แก่นแท้ มิใช่เปลือกหรือกระพี้ 2 ประเภท คือ

1. แก่นสารที่เป็นภายใน

2. แก่นสารที่เป็นภายนอก

แก่น สารภายใน หมายถึง การท่องเที่ยวไปเพื่อแสวงหากุศลภายใน เช่น การแสวงหาสถานที่อันสงบเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนาซึ่งเป็นการแสวงหาบุญกุศลจากภายในตัวของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีแก่นสารภายในอีกอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะถือว่าเป็นแก่นสารภายใน ที่แท้จริง นั่นคือ การหลุดพ้นทางใจด้วยปัญญา อย่างต่ำ ก็คือ การปล่อยวางทุกข์ได้ อย่างสูง ก็คือ การเว้นจากสรรพกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคปฏิปทา เพราะการปฏิบัติมรรคปฏิปทาเป็นทางสายกลางให้รู้และเข้าถึงอริยสัจธรรม คือ ทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ทั้งปวง ทั้งนี้เพราะมรรค เป็นองค์นำให้รู้จักทุกข์ นำให้ละสมุทัย นำให้แจ้งในการดับทุกข์และธรรมวิธีที่จะนำมาดับทุกข์

แก่นสารภายนอก หมายถึง การแสวงหาบุญกุศลโดยการท่องเที่ยวไปอย่างที่เรียกกันว่าธรรมจาริกหรือการหา บุญกุศลจากกิจกรรมภายนอก เช่น การถวายกฐิน ผ้าป่า ผูกพัทธสีมาหรือฝังลูกนิมิต เป็นต้น

การที่จะมองเห็นว่าอะไรเป็น สาระหรือไม่เป็นสาระก็ต้องอาศัยธรรมมาประคับประคองจิตให้อยู่ในครรลองของ ธรรม เพราะหากไร้ธรรมเสียแล้วก็อาจทำให้เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระไปก็ ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดธรรมช่วยนำทางนั่นเอง

บุคคลผู้ที่เห็นสิ่ง ที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ชื่อว่าเป็นผู้มีความดำริผิดท่องเที่ยวไป ผู้นั้นย่อมมีแต่จะประสบสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่ ชีวิต การไม่มีแก่นสารทั้งภายในภายนอก การไม่มีแก่นสารภายนอก คือ การไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เห็นชอบในทางให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา เป็นต้น ส่วนการไม่มีแก่นสารภายใน คือ เป็นผู้ไม่มีธรรมเป็นที่พึ่งแห่งใจ ไม่ละวางกิเลสบาปธรรม ทั้งปล่อยจิตให้ไหลไปสู่ทางชั่วด้วยอำนาจความโลภ ความโกรธ และความหลง ดำเนินชีวิตแบบแล้วแต่กิเลส ตัณหา จะนำพาไป เป็นผู้มีความเห็นผิดไปจากกุศล ขาดการทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้ที่ไม่อาจพบสัจธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ย่อมห่างเหินไกลออกไปจากพระพุทธศาสนาผู้ที่มีความดำริชอบย่อมสามารถประสบ แก่นสารและถือเอาแก่นสารของชีวิตไว้ได้ ส่วนผู้ที่มีความดำริผิดก็มีแต่จะประสบสิ่งที่หาแก่นสารอันใดมิได้เลย

เพราะ ฉะนั้น ผู้หวังความไพบูลย์แห่งตนพึงสังวรระวังและดำรงมั่นในศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นแก่นสารทางพระพุทธศาสนา อันมีผล คือ อำนวยความสงบร่มเย็นและเป็นสุขแก่ชีวิตของผู้ปฏิบัติในการทุกเมื่อ

ความเชื่อของคนไทย (ข่าวสด)

ความเชื่อของคนไทย

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
ความ เชื่อของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ ทั้งให้คุณประโยชน์และให้โทษ แล้วมนุษย์ไม่สามารถค้นหาสาเหตุมาอธิบายได้ ทำให้เกิดความหวาดกลัว

สำหรับบริบทของสังคมไทยในทุกภาคส่วน มีความเชื่อที่หลากหลาย อันเป็นที่มาของความเชื่อและพิธีกรรมตามประเพณี มีธรรมเนียมและรูปแบบการปฏิบัติที่แปลกแตกต่างกัน

ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มของความเชื่อ ดังนี้

1. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากคนไทยนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความเชื่อจึงมุ่งเน้นพระรัตนตรัยหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ

ก) ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ ผลกรรมนั้นจะตามสนอง ซึ่งมีความเชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ข) ความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดวัฏสงสาร ตามผลแห่งกรรมของตน เป็นความเชื่อตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ค) ความเชื่อเรื่องกฎแห่งธรรมชาติ

ง) ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์

2. ความเชื่อเกี่ยวกับวิทยาคม เป็นความเชื่อเรื่องสิ่งลึกลับที่เหนือธรรมชาติ ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แยกออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ

ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา เป็นจำพวกตัวอักษรหรืออักขระที่ผูกเป็นข้อความ ถือว่ามีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ เมื่อนำไปใช้ตามที่กำหนด เช่น นำไปบริกรรม เสกเป่าหรือสวด เชื่อว่าจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือเกิดความขลัง ปัจจุบันความเชื่อประเภทนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยเหตุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

ความเชื่อเรื่อง เครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เชื่อว่า สามารถป้องกันอันตราย ยิง แทง ฟันไม่เข้า ตัวอย่างเช่น เหล็กไหล เขี้ยวเสือ ฯลฯ

3. ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อประเภทนี้น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาแต่อดีต ส่วนมากจะพบเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง รูปเหมือนพระสงฆ์ที่เคารพเลื่อมใส เป็นพระเกจิอาจารย์ อาจกล่าวรวมไปถึงศาลปู่ตา ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อ ศาลเจ้าแม่ ความเชื่อประเภทนี้ยังคงมีปรากฏให้เห็นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

4. ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา สิ่งลึกลับที่มองไม่เห็นตัวตน ถือว่ามีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถให้คุณให้โทษก็ได้ สิ่งเหล่านี้ ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้แน่ชัดว่ามีจริงหรือไม่ บางครั้งในสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีเหตุอันน่าเชื่อถือ

5. ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยการพยากรณ์ โดยอาศัยดาราศาสตร์เป็นหลัก ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏแพร่หลายในทุกชนชั้นของสังคมไทย จนกระทั่งมีการเรียนการสอน สืบทอดอย่างเป็นทางการ และยึดถือเป็นอาชีพ

ความโลภ

"มหาตมะ คานธีพูดว่า ทรัพยากรในโลกเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงคนเดียว"

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

สลากภัต (ข่าวสด)

สลากภัต

คอลัมน์ ศาลาวัด
ประเพณี สลากภัต เป็นประเพณีทำบุญที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก เพราะมิใช่ประเพณีใหญ่โตแบบตรุษจีนหรือสารท มักจะทำตามบ้านที่นิยมเลื่อมใสหรือมีสิ่งของพอที่จะรวบรวมมาถวายพระหรือเข้า สลากภัตได้ก็จะมีพิธีนี้ขึ้น

ในทางภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า "ทานก๋วยสลาก" ภาคอีสานจะเรียกว่า "งานบุญข้าวสาก" ทางภาคใต้จะเป็นประเพณีบุญเดือนสิบ คำว่า "ก๋วย" แปลว่า ตะกร้า หรือ ชะลอม

สลากภัต หมายถึง อาหารที่ทายกถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสัยว่าเป็นอดิเรกลาภ ส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดฤดูกาล สุดแต่ศรัทธา

อานิสงส์หรือผลดีของการถวายสลากภัต ผู้ทำบุญสบายใจที่ได้นำพืชผลที่ตนลงแรงปลูกมาทำบุญ เป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา โดยถวายภัตตาหาร ผลไม้ เครื่องไทยธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้เป็นกำลังสืบพระพุทธศาสนา

อีกทั้ง เป็นการปลูกฝังคุณธรรม คือขจัดความเห็นแก่ตัว โดยเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาทำบุญ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับ ชุมชนอีกด้วย ในปัจจุบันการถวายสลากภัต จัดว่าเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยเพราะเป็นการถวายโดยไม่เจาะจง

สำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน 6 จนถึงเดือน 8 เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต ทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะกำหนดวันและหาเจ้าภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำใบปิดไปปิดไว้ หรือไปประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วม ผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้

ครั้นถึงวันกำหนดผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าวและเครื่อง ไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียม สบู่ แปรงสีฟัน ข้าวสาร น้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัด

จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนเบอร์หมายเลข ให้พระจับ ถ้าจับได้เบอร์ของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา

ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระที่นิมนต์มา

ข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัตก็คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับ เมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์

ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พร

เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว


หน้า 29

เหตุที่จะทำให้สมานฉันท์ (ข่าวสด)

เหตุที่จะทำให้สมานฉันท์

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
สังคมไทยของเราในปัจจุบันนี้ กำลังประสบปัญหานานาประการ ปัญหาเดิมๆ ก็ยังแก้ไม่หาย ปัญหาใหม่มากมายก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อย และความรุ่มร้อนของผู้คนในสังคม

สาเหตุสำคัญ ก็คือความขัดแย้งภายในใจ หรือความไม่พอใจในแนวคิดภาวะเช่นนี้เรียกว่า ไม่มีสมานฉันท์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม

ในทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์มี ๖ ประการ คือ

ประการที่ ๑ เมตตากายกรรม หมายถึง การแสดงออกต่อกันทางกายด้วยเมตตา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความหวังดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนชีวิต ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ และไม่ประพฤติผิดในคู่ครองของผู้อื่น ในทางตรงกันข้าม ก็พยายามแสดงออกในทางที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามวิกฤต และนับถือให้เกียรติต่อกันและกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ประการที่ ๒ เมตตาวจีกรรม หมายถึง การแสดงออกต่อกันทางวาจาด้วยความเมตตาหรือมีวาจาที่ประกอบไปด้วยความหวังดี ไม่พูดโกหกหลอกลวง ไม่พูดคำส่อเสียดเหยียดหยาม ไม่พูดคำหยาบและไม่พูดวาจาไร้สาระ พูดแต่ความจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี และคำที่มีสารประโยชน์

ประการที่ ๓ เมตตามโนกรรม หมายถึง การมีความรู้สึกนึกคิดที่ประกอบด้วย ความเมตตา หรือมีใจประกอบด้วยความเมตตานั่นเอง ใจที่ประกอบด้วยความเมตตาก็คือ ใจที่ไม่คิดอิจฉาริษยา ปรารถนาอยากได้ของเขา ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา และไม่หลงผิด เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว

ประการที่ ๔ สาธารณโภคี หมายถึง การแบ่งบันกันบริโภคอุปโภคปัจจัยใช้สอยต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กล่าวคือ เมื่อได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาโดยชอบธรรม ก็ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักจ่ายแจกแบ่งปันแก่กันและกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันและกัน ตระหนักอยู่เสมอๆ ว่า "น้ำบ่อน้ำคลอง ยังไม่เป็นรองน้ำใจ กระจกเงาที่ว่าใส ยังเป็นรองน้ำใจที่ว่างาม"

ประการที่ ๕ สีลสามัญญตา หมายถึง ความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล หรือ กฎกติกา กฎหมายที่ดีงามในหมู่คณะ กล่าวคือ สมาชิกในสังคมต้องตั้งมั่นอยู่ในกฎกติกาที่ดีงามทั้งในทางศาสนาคือศีล และทางสังคมคือกฎหมาย มีความเท่าเทียมกันในการแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ตามกรอบตามกติกาของสังคม รวมไปถึงการสร้างกฎกติกาที่เท่าเทียมกันให้เกิดมีและปฏิบัติตามอย่างจริงจัง

ประการที่ ๖ ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง ความเป็นผู้เสมอกันด้วยความคิดเห็น มีความเห็นที่ดีงามเสมอกัน ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของหลักความสมานฉันท์ เพราะหากมีความเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันทางความคิดเห็นไม่ยอมลงรอยกันเสียที ก็ยากที่จะมีพฤติกรรมที่เป็นไปเพื่อความสมานฉันท์ได้ ปรับความเห็นให้สอดคล้องกันในทางที่ดี เรียกว่า สมานจุดร่วมสงวนจุดต่าง ร่วมแนวทางที่สร้างสรรค์

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองของเราที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน แต่หากไม่ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม คือ ขาดการแสดงออกที่ดีด้วยทางกาย ทางวาจา ทางใจ และมีความเห็นที่เสมอกัน เป็นไปในทางเดียวกันแล้ว ก็ย่อมยากที่จะสร้างความสมานฉันท์หรือนำมาซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะได้ ทุกฝ่ายควรมาคิดกันว่า เราจะสร้างจิตสำนึกแห่งหลักธรรมนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร หากสามารถช่วยกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าสังคมแห่งความสมานฉันย่อมมีขึ้นและมั่นคงยั่งยืนอย่างแน่นอน

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรฯ / watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ภัยจากการทะเลาะวิวาท (ข่าวสด)

ภัยจากการทะเลาะวิวาทคอลัมน์ธรรมะวันหยุดพระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร/ watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430การพูดขัดแย้งกัน พูดไม่ตรงกัน โต้เถียงกัน ทะเลาะวิวาทกัน พูดไม่ถูกใจกัน ขัดผลประโยชน์กัน เป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางกัน เป็นเหตุทำร้ายร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน วงศ์ตระกูลเผ่าพันธุ์และประเทศชาติของกันและกัน ท่านกล่าวว่ามูลเหตุสำคัญๆ ของการทะเลาะวิวาท มี 3 ประการ คือ1.วิวาทกันเพราะทรัพย์สมบัติ ผลประโยชน์ 2.วิวาทกันเพราะเชื้อชาติ ผิวพรรณ วงศ์ตระกูล3.วิวาทกันเพราะลัทธิความเชื่อถือทางศาสนาและการเมืองประการที่ 1 วิวาทกันเพราะทรัพย์สมบัติ เพราะคนเราต่างก็มีความโลภปรารถนาเพื่อความสุขความสบายของตน ของครอบครัว ของหมู่ชน ของตนเอง มีความเห็นแก่ตน เห็นแก่ได้ด้วยกันเป็นส่วนมาก ถ้าการแสวงหาเพื่อให้ได้มาโดยทางธรรม โดยสัมมาชีพ ไม่แย่งชิงเบียดเบียนเอาของคนอื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม การวิวาทกัน การทะเลาะกันก็ไม่เกิดขึ้น แต่ตรงกันข้าม ความวิวาทบาดหมางกันก็เกิดขึ้น เป็นภัยเบียดเบียนกัน แท้ที่จริงวัตถุสมบัติต่างๆ นี้ก็เป็นของมีประจำโลก เป็นเสมือนของที่ยืมเขามาใช้ชั่วคราว ถ้าหากว่าเราจะไปเอามาโดยไม่ชอบธรรม บาปกรรมก็จะเกิดตามเราไป ก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนสิ้นกาลนาน หลายภพหลายชาติประการที่ 2 วิวาทกันเพราะเชื้อชาติ ผิวพรรณ วงศ์ตระกูล อันนี้เป็นภัยอันตรายก่อให้เกิดความไม่สงบสุข อาฆาตพยาบาทเบียดเบียนกันโดยถือว่าคนชาตินั้น คนผิวสีนั้น คนที่เกิดในวงศ์ตระกูลนั้น เคยทะเลาะกันมา เคยรบกันมา คนยุคต่อมาหรือคนรุ่นหลังบางทีก็เกิดไม่ทันเหตุการณ์เหล่านั้นก็ยังเอามาเป็นข้อพิพาทบาดหมางกัน วิวาทกันทำร้ายทำลายกันไม่มีความสงบสุข ไม่สามารถจะปรองดองสามัคคีกันได้ มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย คนต่างเชื้อชาติกันบางทีก็รบราฆ่าฟันกันมาเป็นหลายชั่วอายุคน หลายร้อยปี บ้านเมืองอยู่กันอย่างไม่สงบสุข บางทีก็ปรารภผิวพรรณ ชาติตระกูลที่แตกต่างกัน เกิดการดูถูกกัน ทำร้ายกันไม่รู้จักจบจักสิ้น ประการที่ 3 วิวาทกันเพราะลัทธิความเชื่อถือทางศาสนาและการเมือง การวิวาทกันด้วยเหตุนี้ ย่อมรุนแรง ยิ่งลึก เพราะเป็นเรื่องของทิฐิมานะ อาศัยอำนาจของอวิชชาความไม่รู้เข้าต่อสู้ประหัตประหารกัน ใครที่ไม่มีความเชื่อเหมือนตนก็กล่าววิวาทะกัน ไม่ได้พูดกันอย่างมีเหตุมีผล เอาความเชื่อเป็นที่ตั้ง เมื่อพวกชนหมู่อื่นไม่เชื่อเหมือนตนก็ถือเป็นศัตรู แม้จะไม่รู้จักกันก็ต้องเบียดเบียนรบรากันมาเป็นร้อยเป็นพันปี ขาดสันติภาพ สันติสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความวิวาทโดยความเป็นภัย เพราะย่อมก่อให้เกิดแต่ทุกข์โทษโดยประการต่างๆ สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นแก่ครอบครัว หมู่คณะ ชุมชน และประเทศชาติฉะนั้น การทะเลาะวิวาทเป็นภัยเป็นไปเพื่อความหายนะอย่างใหญ่หลวง เป็นการทำลายความสามัคคี ความสงบสุข หยุดการพัฒนา มีแต่ความหวาดระแวง การทำมาหากินก็ลำบาก เกิดความทุกข์ยาก ทำให้โลกไม่น่าอยู่ เต็มไปด้วยภัยอันตราย เป็นการก่อเวรให้แก่กันและกัน ยากที่จะสงบสุขลงได้เพราะกลายเป็นการจองเวรแก่กันและกันไป

อวิโรธนะ (ข่าวสด)

อวิโรธนะ-ความไม่ผิดคอลัมน์ศาลาวัด"ความไม่ผิด" หรือคำว่า "อวิโรธนะ" ธรรมะข้อนี้ ควรหมาย ความว่า รู้ผิดแล้วไม่ดื้อขืนทำ คือ ไม่ยอมทำผิดทั้งรู้ รู้ผิดในที่นี้หมายถึงผิดจากข้อที่ถูกที่ควรทุกอย่าง เช่นผิดจากความยุติธรรมด้วยอำนาจอคติ ผิดจากปกติ คือเมื่อประสบความเจริญหรือความเสื่อม ก็รักษาอาการกายวาจาไว้ให้คงที่ ไม่ให้ขึ้นลงเพราะยินดียินร้าย คนสามัญทั่วไปในชั้นต้นยังทำผิดอยู่เพราะไม่รู้ว่าผิด ถ้ายอมปล่อยไปเช่นนั้น ไม่ศึกษา ก็จักเป็นผู้ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี และไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องดีงามได้ ผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้า เมื่อทำผิดด้วยอำนาจรักชอบ อำนาจชัง อำนาจหลง อำนาจกลัว ผู้อยู่ในปกครองก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ ผู้อยู่ในปกครองเมื่อทำผิดเช่นนั้น ผู้อยู่ในปกครองด้วยกันตลอดถึงผู้ปกครองเองก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ แต่ถ้าผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้ามีใจกอปรด้วยธรรม มุ่งความถูก พยายามศึกษาพิจารณาให้รู้จักผิดและชอบแล้ว พยายามทำการงานให้ถูกต้องตามคลองธรรมไม่ให้ผิด และแนะนำพร่ำสอนผู้อยู่ในอำนาจปกครองให้ประพฤติเช่นนั้นด้วย ผู้อยู่ในปกครองก็พยายามทำให้ถูกต้องตามคลองธรรม ไม่ให้ผิด ต่างฝ่ายก็จักอยู่ด้วยความสงบสุข กล่าวโดยเฉพาะ ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากราชธรรมจรรยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ ยกย่องคนผู้มีคุณความชอบ ควรอุปถัมภ์ยกย่อง ทรงกำราบคนมีความผิด ควรบำราบในทางที่เป็นธรรม ไม่ทรงอุปถัมภ์ยกย่องและบำราบคนนั้นๆ ด้วยอำนาจอคติ พระอาการคงที่อยู่ ไม่แสดงให้ผิดจากปรกติเดิมจัดเป็นอวิโรธนะ ที่แปลว่า ความไม่ผิดอันเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าทศพิธราชธรรมข้อนี้ เป็นที่รวมของทุกๆ ข้อได้ด้วย เพราะธรรมะทุกข้อที่เป็นราชธรรมนั้น ล้วนเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดทั้งนั้น คือเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสมควร ถ้าได้ปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติในข้อนั้น แต่ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนั้นและทุกๆ ข้อได้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติได้ถูกต้องไม่ผิดตามหลักธรรมข้ออวิโรธนะ ซึ่งหมายถึงความเป็นผู้ประพฤติมิให้ผิดพลาดจากศีลธรรม กฎหมาย ระเบียบ วินัย ประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง ถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและประชาราษฎร์เป็นที่ตั้งสถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

พุทธวิธีแก้ทุกข์ (ข่าวสด)

คนไม่ดื้อเป็นใหญ่ได้/อย่าให้ชาติ ศาสนาพัง เพราะความหวังดี

พุทธวิธีแก้ทุกข์

ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต



คนไม่ดื้อเป็นใหญ่ได้

อตฺถทฺโธ ลภเต ยสํ

คนไม่ดื้อ เป็นใหญ่ได้


ท่านที่เลี้ยงแมว จะเห็นว่า แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ควรเอาอย่างอยู่อย่างหนึ่งคือ ความดื้อ ลองจับหลังให้มันโก่งขึ้น มันจะแอ่นลงหาพื้น ถ้ากดให้มันแอ่นลง มันจะโก่งขึ้น ดึงไปข้างหน้า มันจะพยายามถอยหลัง ดึงหางให้มันถอยมาข้างหลัง มันจะตะกายไปข้างหน้า

ช่างดื้ออะไรเช่นนั้น นี่คือสิ่งที่ไม่ควรเอาอย่าง

ความดื้อของคนมีอยู่สองชนิดคือ ดื้อด้าน กับ ดื้อดึง

คนดื้อด้านส่วนมากเป็นคนหัวอ่อน ไม่ชอบเถียง ไม่ชอบให้เหตุผลใครเขาจะว่าจะสอนอะไรอย่างไร ก็ยิ้มเสมอหรือนิ่งเงียบ แต่ไม่ทำตาม

คนดื้อดึง ชอบเถียง ชอบขัดคำสั่ง ชอบทำอะไรตรงข้ามกับที่เราอยากให้ทำ คนดื้อดึงนี้จะเกลียดคำสั่งที่สุด สั่งอะไรเขาเป็นไม่ได้ นอกจากไม่ทำตามแล้วยังจะ "ลองดี" อีกด้วย

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคน "ดื้อดึง" หรือ "ดื้อด้าน" ต่างก็ไม่ชอบคำสั่งสอน หรือโอวาททั้งนั้น

ป้ายห้ามเดินลัดสนาม ปักไว้ที่สนามหญ้าสาธารณสถานแห่งหนึ่งนานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจปฏิบัติตาม เพราะสังคมมีแต่คน "ดื้อ" เต็มบ้านเต็มเมือง

วันดีคืนดีป้าย "ห้ามเดินลัดสนาม" ก็หาย (เผลอๆ อาจมีป้ายใหม่ว่า "ลัดสนามได้" มาปักแทน)

คนดื้อด้านแกจะไม่สนใจป้ายห้ามเดินลัดสนาม ป้ายก็คือป้าย ฉันจะเดินเสียอย่าง มัวแต่เดินอ้อมมันช้า ลัดไปนี่แหละเร็วดี

คนดื้อดึง นอกจากจะไม่สนใจป้ายแล้ว ยังโกรธป้าย โกรธคนเอาป้ายมาปักอีกด้วย "มันเรื่องอะไรต้องมาห้าม แล้วคนมาปักป้ายเอง มันก็ต้องเดินลัดมาเหมือนกันจึงจะปักป้ายได้" ว่าแล้วแกก็ยกป้ายทิ้งไป หรือถ้าโกรธมากๆ ก็อาจหาป้าย "เดินลัดสนามได้" มาปักแทนเป็นการประชด

ความดื้อดึง เป็นอาการของจิตแล้วแสดงออกทางพฤติกรรม มีกันทุกคน มากน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง พ่อแม่ครูอาจารย์ควรรู้ว่าลูกหรือศิษย์ของตนเป็นคนดื้อชนิดไหน ดื้อด้าน หรือดื้อดึง แล้วจะได้แก้นิสัยหรือสอนเขาได้ถูกทาง

คนดื้อด้านนั้นเกลียดคำสอนมากกว่าคำสั่ง จะให้เขาทำอะไรให้สั่งเป็นข้อๆ เลย ป่วยการชักแม่น้ำทั้งห้า ส่วนคนดื้อดึง เกลียดคำสั่งมากกว่าคำสอน จะให้คนดื้อดึงทำตามให้แปลงคำสั่งเป็นคำสอน อธิบายให้เข้าใจเหตุผล คนดื้อดึงพร้อมจะทำตาม และคนไม่ดื้อด้าน มีทางก้าวไปเป็นใหญ่ได้ในภายหน้า

ลูกหรือลูกศิษย์ดื้อแก้ได้ขอแต่พยายามแก้ให้ถูกทาง ที่สำคัญพ่อแม่หรือครูอย่าดื้อเสียเอง!



อย่าให้ชาติ ศาสนาพัง เพราะความหวังดี

วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ

ชนา เอกงฺคทสฺสิโน

คนที่ยึดมั่น มองอะไรในแง่เดียว

ไม่แคล้วต้องทะเลาะกัน


มีผู้กล่าวว่า เวลาสุนัขอยู่ด้วยกันหลายตัว มันก็ดูสงบดี ต่างตัวต่างอยู่ในมุมของตน แต่พอมีใครโยนกระดูกให้มันเท่านั้น มันจะแยกเขี้ยวยิงฟัน ยื้อแย่งกระดูกชิ้นนั้นทันที ตัวที่ได้กระดูกไปก็จะส่งเสียงขู่ตัวอื่นไม่ให้เข้ามาใกล้ ตัวที่แย่งไม่ได้ก็จะร้องแฮ่ๆ เข้าใส่หมายจะยื้อยุดเอามาให้ได้

กระดูกชิ้นเดียวแท้ๆ ทำให้พวกมันซึ่งตามปกติก็ดูปรองดองกันดี ต้องมารุมกัดกันบาดเจ็บไปตามๆ กัน

ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ยกย่องตัวเองว่าผู้มีจิตใจสูงเล่า พฤติกรรมก็ไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก ที่ใดมีผลประโยชน์ ที่นั่นก็เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็อยากได้มาเพื่อตัวหรืออยากได้มากกว่าคนอื่น

ความขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว อยู่ในวงแคบ ไม่กระทบกระเทือนอะไรมากนัก ถ้ามีคนเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกันก็มีหน่วยงานหรือสถาบันช่วยระงับ ความขัดแย้งและให้ความยุติธรรมได้ เช่น ตำรวจ ศาลสถิตยุติธรรม

ส่วนความขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ประเทศชาติและพระศาสนา เป็นความขัดแย้งที่แผ่กว้าง และมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ จะว่าไปแล้วความขัดแย้งนี้ ล้วนเกิดจากความปรารถนาดีด้วยกันทั้งนั้น

ไม่มีใครอยากเห็นประเทศเราล้าหลัง ป่าเถื่อน ไร้ขื่อแป ไร้ระบอบการปกครองที่ดี ต่างก็อยากให้ประเทศชาติเจริญพัฒนา อยากให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพ อยากให้ศาสนาเจริญรุ่งเรืองให้ความสุขทางใจแก่ประชาชน อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพัฒนาก้าวหน้าสม กับเป็นอารยประเทศ ประเทศหนึ่งในโลก

ทั้งๆ ที่ทุกคนปรารถนาดีต่อชาติ ต่อพระศาสนา แต่ก็ยังขัดแย้งทะเลาะกัน บางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นฟาดฟัน ห้ำหั่นกัน ดังเช่น กรณีพระกับการอนุรักษ์ป่า และกรณีร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะต่างฝ่ายต่างมองคนละมุม ยึดมั่นในมุมมองของตนเท่านั้นว่าถูกต้อง ไม่ยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งเลยใช่ไหม? บรรยากาศการสมัครสมาน ร่วมมือกันประสานประโยชน์จึงไม่เกิดขึ้น

แม้จะหวังดี แต่ถ้าหวังดี "ด้วยความสามัคคี" ก็ทำลายชาติศาสนาได้เช่นกัน!