วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สุขเพราะประพฤติธรรม khaosod

สุขเพราะประพฤติธรรม


คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


"ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา และใจ เทวดาและปวงชน ย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสุคติโลกสวรรค์"

คำ ว่า ธรรม หมายถึง สภาพที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ แยกเป็นสภาพที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ 5 และสภาพที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ พระนิพพาน

หลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปประพฤติ เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญในชีวิต คือ หลักธรรม 10 ประการ อันได้แก่

1.ทาน คือ การสละทรัพย์สิ่งของ เพื่อแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อสังคมส่วนรวมตลอดถึงประเทศชาติ

2.ศีล คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย การควบคุมพฤติกรรมของตนให้เป็นปกติ และการรักษาความสุจริตแห่งตนให้บริสุทธิ์

3.ปริ จจาคะ คือ การบริจาค การเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม การบำเพ็ญกิจด้วยความเสียสละและการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้เกิดขึ้น

4.อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ความจริงใจต่อกัน มีจิตใจที่ซื่อสัตย์สุจริต ช่วยเหลือกันด้วยความจริงใจและซื่อตรง ไม่มีมายาหลอกลวง

5.มัท ทวะ คือ ความอ่อนโยน ความมีอัธยาศัยและพฤติกรรม ที่สุภาพ นุ่มนวล น่ารัก ไม่มีทิฐิมานะ ถือตัว ความเป็นผู้มีกิริยามารยาทอ่อนโยนอยู่เสมอ

6.ตบะ คือ การเผากิเลส ตัดอกุศล บำเพ็ญเพียร เพื่อแผดเผากิเลสตัณหา ไม่ให้เข้ามาย่ำยีจิตใจ ตลอดถึงการตั้งใจบำเพ็ญเพียร เพื่อทำภารกิจของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

7.อักโกธะ คือ ความไม่โกรธเคือง มีเมตตาธรรมเป็นเครื่อง กั้น ไม่ลุอำนาจแก่โทสะ จนเป็นเหตุให้ปราศจากสติและปัญญา มีความยั้งคิดในการกระทำต่างๆ

8.อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน มีความกรุณาเป็นเครื่องกำจัด ไม่บีบคั้นกดขี่กันและกัน หรือใช้แรงงานเกินควร โดยไม่มีความกรุณาปรานีต่อกัน

9.ขันติ คือ ความอดทน กล่าวคือ อดทนต่อกิจทั้งปวงที่จะต้องทำด้วยความยากลำบาก อดทนต่อความเป็นไปของโลกธรรม ที่หมุนเวียนไปตามโลกอยู่ตลอดเวลา คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์

10.อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดจากธรรม ความไม่ยินดี ยินร้าย กล่าวคือการดำรงตนให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรม ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนา หรืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

หลักธรรม 10 ประการดังกล่าวมานี้ เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติเป็นประจำ ย่อมนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้แก่ผู้นั้นตลอดกาลนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น