วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การงานที่ไม่มีโทษ khaosod

การงานที่ไม่มีโทษ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com


วันนี้ เป็นวันพระ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันธัมมัสสวนะ คือวันฟังพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นกิจที่พุทธบริษัทควรประกอบให้เกิดมีในตน เพื่อความมีจิตใจที่บริสุทธิ์และเป็นการสร้างสมคุณความดีต่อไป

การ งานที่ไม่มีโทษ เป็นอาชีพที่คนทุกคนจะพึงทำ มีมากมายหลายประการ การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตและร่างกาย เบียดเบียนความสุขของผู้อื่น การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ น้อมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น รวมแล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1. การงานที่มีโทษ เช่น การฆ่า การทำร้ายผู้อื่น การยักยอก ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น การพยาบาทจองเวรผู้อื่น เป็นต้น การงานที่กล่าวมานี้ เป็นความชั่ว เป็นบาป

2. การงานที่ไม่มีโทษ เช่น การงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเมตตากรุณา ให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

การทำความดี เป็นการงานที่คนทุกคนควรทำ ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนการทำความชั่ว เป็นการงานที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

ผู้ทำการงานที่มีโทษ ย่อมได้รับโทษ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองได้

ประการที่ 2 ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมติเตียน

ประการที่ 3 ชื่อเสียงที่ไม่ดี ย่อมกระฉ่อนไป

ประการที่ 4 ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้ขาดสติ

ประการที่ 5 เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงนรก อันเป็นสถานที่หาความเจริญไม่ได้

ส่วนผู้ทำการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้

ประการที่ 2 ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมสรรเสริญ

ประการที่ 3 ชื่อเสียงอันดี ย่อมขจรขจายไป

ประการที่ 4 ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้มีสติ ความรู้ตัว

ประการที่ 5 เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์ อันเป็นที่ที่มีแต่ความเจริญ

เมื่อจะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรใคร่ครวญ พิจารณาการงานเช่นนั้นเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง

เมื่อ ได้ทราบถึงการงานที่มีโทษอันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการงานที่ไม่มีโทษ อันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้ว ควรหลีกเลี่ยง การงานอันเป็นโทษทุจริต ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ อันสุจริต ย่อมจะอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นตามความเหมาะสมแก่กาละ เทศะ และความสามารถของตนเอง นับว่าได้ดำเนินชีวิตโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น