ฤกษ์งามยามดี
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
ความเชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดีของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตายาย ในการจะดำเนินการงานสิ่งใด จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้งไป
คำ ว่า "ฤกษ์" แปลว่า การมองดู การตรวจการพิจารณาดูคราวที่เหมาะ เวลาที่เหมาะ จังหวะที่เหมาะแก่การประกอบการงานที่เป็นมงคลนั้นๆ หมายความว่า ก่อนที่คนเราจะประกอบการงานที่เป็นมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรจะต้องพินิจพิจารณาเลือกหากำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคล โดยไม่รีบด่วนจนเกินไป
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2546 ให้คำนิยามไว้ว่า "การกำหนดวัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี ของแต่ละปีเป็นธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ หมายถึง การกำหนดว่า วันไหน ช่วงเวลาใดเป็นเวลาที่ดีและร้ายสำหรับกระทำการมงคลต่างๆ "
ระเบียบปฏิบัติการหาฤกษ์งามยามดี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.ฤกษ์ งามยามดีทางคดีโลก สังคมมนุษย์ส่วนมากนิยมปฏิบัติสืบกันมาว่าวัน เวลาใดประกอบด้วย ส่วนดี คือ เป็นเดช เป็นศรี เป็นมูละ เป็นอุตสาหะ เป็นมนตรี เป็นราชาฤกษ์ เป็นเทวีฤกษ์ เป็นมหัทธโนฤกษ์ เป็นต้น ส่วนดีเหล่านี้มีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ส่วนเสีย คือ เป็นอุบาทว์เป็นโลกาวินาศ เป็นกาลกรรณี เป็นอริ เป็นมรณะ เป็นวินาศ เป็นต้น เหล่านี้ ให้มีน้อยที่สุด เท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ พร้อมทั้งท่านอาจารย์ผู้ให้ฤกษ์นั้น ก็เป็นผู้ทรงวิทยาคุณทางโหราศาสตร์ มีชื่อเสียงปรากฏเป็นที่ยอมรับนับถือของมหาชนทั่วไปในท้องถิ่นนั้น
วันเวลาฤกษ์เช่นนี้ สังคมมนุษย์เรานิยมยอมรับนับถือ เชื่อได้ด้วยความแน่ใจว่า เป็นฤกษ์งามยามดี สำหรับประกอบพิธีมงคลนั้นๆ
2.ฤกษ์ งามยามดีทางคดีธรรม ในทางคดีธรรม คือ ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนพุทธบริษัทเรื่องฤกษ์งามยามดี ตามความเป็นจริงไว้ในสุปุพพัณหสูตร โดยมีใจความว่า
คนเราประพฤติกาย สุจริต (คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ประพฤติวจีสุจริต (คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูด เพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สารประโยชน์) ประพฤติมโนสุจริต (คือไม่โลภอยากได้ของเขาในทางทุจริต ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เป็นมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบ)
กล่าวคือ กระทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาค่ำคืน หรือ เวลาใดก็ตาม เวลานั้นเชื่อว่า "เป็นฤกษ์งามยามดี" สำหรับผู้ทำความดีนั้น
ดังนั้น ควรพิจารณาการดูฤกษ์ให้เหมาะสม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น