บุญ10ประการ (จบ)
คอลัมน์ ศาลาวัด
"บุญกิริยาวัตถุ 10" หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ คราวที่แล้ว กล่าวไป 5 ข้อมาดูอีก 5 ข้อที่เหลือกัน --6.การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียวหรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าวจะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้างและปราศจากอคติ พร้อมเปิดใจรับผู้อื่น
7.การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น การไม่คิดในแง่ร้ายจะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอเพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม
8.การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรมจะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ซึ่งการฟังธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรมในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น
9.การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือ การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมาและปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย
10.การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับ ปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ หรือจะพูดง่ายๆ ว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์และให้ผลได้ไม่เต็มที่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น