ปากพล่อย พลอยล่มจม LOOSE LIPS SINK SHIPS
โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช
คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง มติชน 24 ก.ค.2554
ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ นักการเมืองบางคนเก็บปากเก็บคำอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ในขณะที่บางคนก็พูดจาเปิดเผยเรื่องราวในพรรคอย่างไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน
ประเภทหลังทำให้คนพรรคเดียวกันไม่ค่อยพอใจ วิจารณ์ตรงๆ ว่ามีอะไรควรพูดกันในพรรค
ไม่น่าจะให้ "คนนอก" ได้รับรู้
"คนนอก" ที่ว่าคือประชาชน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะให้รับรู้ไส้ในของพรรค เพราะอาจจะหมดศรัทธาหรือจะทำให้การสร้างภาพยากเย็นขึ้นเปล่าๆ ปลี้ๆ
ว่ากันตรงๆ คือ หากปากพล่อย จะพลอยทำให้พรรคล่มจม
ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสำนวนของเหล่านาวีสหรัฐในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง...
Loose lips sink ships
สำนวนง่ายๆ นี้แปลง่ายๆ เหมือนกันว่า "ปากพล่อย (ทำให้) เรือจม"
เคยเล่าให้ฟังตรงนี้ว่า ในยามสงครามนั้น บ้านเมืองไหนก็ต้องขอร้องประชาชนให้สงวนปากสงวนคำกันทั้งนั้น เพราะอาจจะมีสปาย-สายลับ หรือที่คนไทยรุ่นคุณปู่คุณทวดเรียกว่า "แนวที่ห้า" บ้าง "จารบุรุษ" บ้าง พยายามทำจารกรรม หากความลับต่างๆ ไปให้ฝ่ายศัตรู
ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคไซเบอร์ ความลับกระจายได้เชื่องช้าเต็มที สปีดเร็วระดับพี่หอยทาก แค่ปากต่อปาก ไม่ใช่สองสามคลิกก็รู้กันทั้งโลกเหมือนที่เป็นอยู่
หลายคนอาจเคยผ่านตา รูปโปสเตอร์ที่พิมพ์โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีข้อความเตือนใจว่า "ระวัง...กำแพงมีหู ประตูมีช่อง จารบุรุษกำลังฟังอยู่ตลอดเวลา อย่าพูดความลับของทางราชการ"
ช่วงเดียวกัน สหรัฐเพิ่งโดนญี่ปุ่นส่งเครื่องบินไปถล่มอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเคยพยายามถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่ใช่ธุระของตน ก็เจ็บแค้นจนตัดสินใจกระโจนเข้าร่วมสงคราม และเดินหน้าสร้างอาวุธเต็มกำลัง
พร้อมๆ กัน รัฐบาลก็เตือนประชาชนว่าต้องไม่พูด-ไม่บอกต่อ ไม่เล่าสิ่งที่ตัวเห็นหรือได้ยินให้ใครฟัง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานโรงงานผลิตอาวุธ หรือทำงานในค่ายทหาร ต้องปิดปากให้สนิท ไม่ปากโป้งว่าทำอะไร ที่ไหน ผลิตอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่รู้ว่าใครรอบๆ ตัวเป็นสปายให้นาซีเยอรมันบ้าง
ขนาดบริษัทขายหมากฝรั่งยังโหนกระแสกับเขาด้วย เพราะโฆษณาว่า Don′t talk, chum. Chew gum. อย่าพูดเลย, เกลอ เคี้ยวหมากฝรั่งเหอะ
สำนวน Loose lips sink ships ที่มาจากเหตุการณ์อ่าวเพิร์ล เป็นแรงบันดาลใจให้ Duke Ellington อัครบุรุษแห่งโลกแจ๊ซใช้เป็นชื่อเพลง A Slip of the Lip (Can Sink a Ship)
การใช้เพลงเป็นเครื่องเตือนใจนี้ ดียิ่งกว่าติดโปสเตอร์เสียด้วยซ้ำ
เพลง A Slip of the Lip จึงกลายเป็นเพลงโดนใจนักฟังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไปในทันที
เสียงชู้วววว...เบาๆ ในตอนขึ้นต้นของเพลง ฟังเหมือนใครคนหนึ่งกำลังบอกให้เงียบไว้ เบาไว้ เสียงชู้วววว...ของฝรั่งมีความหมายแบบเดียวกันกับที่คนไทยเราทำเสียง "จุ๊ๆๆๆ" เตือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กำลังจะพูดอะไรที่ไม่สมควร
เนื้อเพลงตอนต้นบอกว่า
Don′t talk too much / Don′t know too much / Don′t be too hip / "Cause a slip of the lip can sink a ship.
อย่าพูดมากไป อย่า (ทำ) รู้มากไป อย่าซ่ามากไป ปากพล่อยจะพลอยให้เรือ (ชาติล่ม) จม
เนื้อเพลงยังบอกด้วยว่า "Walls have ears / Night has eyes / So let′s be wise? กำแพงมีหู ราตรีมีตา เราต้องสุขุมรอบคอบ...
เดาเอาว่าเราคงได้สำนวน "กำแพงมีหู" มาจากฝรั่ง แต่เติม "ประตูมีช่อง" ให้คล้องจองน่าฟังแบบไทยๆ บางครั้งก็ใช้ว่า "กำแพงมีหู ประตูมีตา" ส่วน "หน้าต่างมีหู ประตูมีตา" ก็มีคนใช้บ้างเหมือนกัน
ใน YouTube มี "ครูทูบ" http://www.krutubechannel.com/?page=video_view&vid_id=1684 ที่น่ารัก เล่าเรื่องราวของสำนวนนี้ให้ฟัง ใครสนใจก็เปิดเข้าไปดูได้
แต่คนปากโป้งหรือเก็บความลับไม่เป็น ไม่ใช่ประชาชนเสมอไป ช่วงรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ 2549 มีนายทหารใหญ่ๆ ออกมาพูดจาในเรื่องที่ไม่ควรพูดไม่น้อย
ยังจำได้ว่า มีพลเอกรายหนึ่งพลั้งปากเรื่องยุทธศาสตร์การแก้วิกฤตภาคใต้ออกมาจนหมด แล้วออกมายอมรับภายหลังว่า เรื่องที่พูดไปไม่ควรนำมาเปิดเผยผ่านสื่อ เพราะไม่ถูกต้อง แถมยังเจื้อยแจ้วต่อไปด้วยว่า ตัวเองเป็นคน "พูดตรงๆ" หลอกนักข่าวไม่เป็น เมื่อโดนซักก็หลุดปากพูดจนได้
แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องพูดตรงหรือพูดโกหก ไม่ใช่เรื่องว่าจะ "พูดอย่างไร" แต่เป็นเรื่องว่า "ต้องไม่พูด"
ทำนองเดียวกับที่พลเอก โอมาร์ แบรดลีย์ หนึ่งในผู้บัญชาการทหารอเมริกัน เคยให้ข้อคิดพวกทหารไว้ว่า
"It′s NOT HOW to say it - it′s HOW NOT to say it ! "
ตรองดูดีๆ ข้อคิดของคนพูดน้อยอย่างนายพล แบรดลีย์ ไม่ได้มีประโยชน์แก่ทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วย
แปลกแท้ๆ พูดน่ะง่าย ไม่พูดกลับยาก
ยิ่งเป็นนักการเมือง หากไม่พูด จะมีคนยกป้าย "ดีแต่ไม่พูด" ใส่ไหมนี่ ฮึ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น