เทศกาลเข้าพรรษา
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ธรรมเนียม ปฏิบัติ ของพระภิกษุสามเณร การอธิษฐานใจอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง โดยไม่ไปพักที่อื่นตลอด 3 เดือนในฤดูฝน ตามที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เรียกว่า การเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษากำหนดเวลาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ใกล้เข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นิยมให้บุตรหลานของตน เข้ามาบรรพชาอุปสมบท ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดเวลา 3 เดือน เพื่อตอบแทนคุณของบิดามารดา และเปิดโอกาสให้บุตรหลานของตนได้ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นประเพณีที่สืบ ทอดกันมาถึงปัจจุบัน
มูลเหตุ การเข้าพรรษา ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุถูกตำหนิ ติเตียนจากชาวบ้าน ถึงฤดูฝนแล้ว ไม่ยอมหยุดพัก เที่ยวจาริกสั่งสอนธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาจนเสียหาย ไม่เหมือนกับนักบวชในศาสนาอื่น ที่หยุดพักตลอดฤดูฝน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่ง โดยไม่ไปพักที่อื่น ตลอด 3 เดือน หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่น ควรกลับมาในวันนั้น เว้นแต่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่จำเป็น ต้องกลับมาภายใน 7 วัน
กิจจำเป็นนั้น คือ
1. ไปเพื่อรักษาพยาบาล สหธรรมิก หรือมารดาบิดาที่เจ็บไข้
2. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่ต้องการจะสึก
3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เป็นต้นว่า วิหารชำรุดในเวลานั้น ไปเพื่อหาอุปกรณ์มาปฏิสังขรณ์
4. ทายกต้องการจะทำบุญ ไปเพื่อรักษาศรัทธาของเขา สามารถทำได้
อีก ทั้งเป็นโอกาสดี พระภิกษุสามเณรจะได้สะสมความดี โดยเฉพาะความตั้งใจอยู่ประจำวัด ตลอด 3 เดือน เมื่อสามารถทำได้ตามที่อธิษฐานใจไว้ เรียกว่าได้บำเพ็ญอธิษฐานบารมี พร้อมกันนี้ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจ เช่น ทำวัตรสวดมนต์ ปฏิบัติกิจวัตรหน้าที่ของพระภิกษุสามเณร มิให้ขาดตกบกพร่อง เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ นับว่าเป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ น่าเคารพกราบไหว้บูชา ช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนาน เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก
พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เช่นเดียวกัน ควรพร้อมใจกันสร้างความดี อบรมบ่มนิสัย ให้ละความชั่ว ประพฤติแต่ความดี ประกอบตนไว้ในทางที่ถูกต้อง
ในเทศกาลเข้าพรรษา การบำเพ็ญบุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การบริจาคทาน รักษาศีล การเจริญภาวนา หลีกเลี่ยงจากอบายมุข ที่เป็นเหตุให้ชีวิตตกต่ำ เช่น งดเว้นสิ่งเสพติดให้โทษ การเที่ยวกลางคืน และเล่นการพนัน เป็นต้น
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น