วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร khaosod#1

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร(1)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ความ หมายของกรรม กรรม เป็นกระบวนการปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ แต่คำว่ากรรมนั้น เมื่อจะพูดให้คนทั่วไปที่เป็นชาวบ้านเข้าใจ ก็ต้องพยายามพูดให้มองเห็นเป็นรูปธรรม และเมื่อไม่มีการศึกษาต่อไปให้ชัดเจนบางทีความหมายก็เขวหรือเพี้ยนไปจนกลาย เป็นมองว่า กรรมเหมือนกับเป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นของที่อยู่นอกตัวลอยมา

แต่ อันที่จริงแล้ว กรรม ก็คือการกระทำ แต่คำว่าการกระทำในที่นี้มีความหมายในทางวิชาการ ไม่ใช่แค่เป็นคำศัพท์สามัญคำหนึ่งเท่านั้น เริ่มด้วยความหมายง่ายๆ ในระดับที่กว้างที่สุด กรรม หรือการกระทำนั้น หมายถึง การงานอาชีพ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "คนจะเป็นชาวนาก็เพราะกรรม คนจะเป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม"

แล้ว ก็มีคำขยายความว่า ใครทำนา ไถนา หว่านข้าว เพาะปลูกข้าว คนนั้นก็เป็นชาวนา ใครปกครองบ้านเมือง คนนั้นก็เป็นกษัตริย์ ใครเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน คนนั้นก็เป็นปุโรหิต ใครลักขโมยของผู้อื่นก็เป็นโจร ที่ว่าเป็นโจรเพราะกรรม หรือเป็นอะไรๆ เพราะกรรม มีความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสแท้ๆ อย่างนี้ นี่คือกรรมตามความหมายของคำศัพท์ในระดับที่ง่ายๆ กว้างๆ มองเห็นในสังคมทั่วๆ ไป

ส่วน กรรม ในความหมายที่ละเอียดลึกลงไปก็คือ พฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลที่เรียกว่าอาชีพการงานนั้นด้วย และเมื่อเจาะลงไปให้ถึงตัวจริงก็จะเห็นว่าพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ มาจากเจตจำนง ความคิดนึก ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถ้าพฤติกรรมเป็นไปโดยไม่มีเจตจำนง ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้น ในทางหลักวิชาแท้ๆ จึงถือว่า กรรม หมายถึง เจตจำนง หรือเจตนา ซึ่งเป็นทั้งที่มาและเป็นแกนของพฤติกรรมทุกอย่าง แต่ทว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคลจะปรากฏออกมาที่อาชีพการงาน

ดังนั้นโดยสรุป กรรมในความหมายง่ายๆ ก็คือ การงานอาชีพ แต่อันที่จริงแล้ว กรรม จะต้องครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมการกระทำทั้งหมด และไม่ใช่เฉพาะที่แสดงออกมาทางกายเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางวาจา และการคิดนึก การคิดปรุงแต่งในใจด้วย ซึ่งเป็นไปด้วยเจตจำนง หรือเจตนา นี้เป็นความหมายของกรรมที่พร้อมสมบูรณ์ในทางพุทธศาสนา

ประเภทของกรรม จากความหมายของคำว่า กรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว ในพุทธศาสนาจึงแบ่งกรรมออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.กายกรรม ได้แก่การกระทำทางกาย ดังเช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ร่างกายทำกิจกรรมต่างๆ 2.วจีกรรม ได้แก่การกระทำทางวาจา ดังเช่น การพูด การสื่อสาร การเขียนหนังสือ 3.มโนกรรม ได้แก่ การกระทำทางใจ ดังเช่น ความคิด ความเชื่อ ความเห็น การยึดถือ มโนกรรม นี้ในพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมโนกรรมหรือการกระทำทางใจนี้หมายถึง กระบวนการคิดทั้งหมด ตั้งแต่ความคิดนึก การคิดปรุงแต่ง รวมทั้งความเชื่อถือ ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม แนวความคิด ทฤษฎี ลัทธิ อุดมการณ์ทั้งหลาย

ซึ่งทางพระใช้คำ รวมคำเดียวว่า "ทิฐิ" เช่น สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ เป็นต้น มโนกรรม คือ ทิฐินี้เป็นตัวกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคม ตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด ดังเช่นแนวความคิดที่มุ่งจะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวบันดาลอยู่เบื้องหลังพัฒนาการของอารยธรรมตะวันตกที่เป็นมาจนถึง ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น