วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ไตรลักษณ์ khaosod

ไตรลักษณ์

คอลัมน์ ศาลาวัด


พระ ไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระพุทธศาสนา เรียกรวมว่า พุทธธรรม เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือคัมภีร์บรรจุพุทธพจน์ 3 หมวด คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก

ในพระไตรปิฎก หมวดสุตตันตปิฎก เล่ม 10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค รโหคตสูตร

มีใจความตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา 3 อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา (เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา 3 อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ (หมายความว่าเวทนาแต่ละชนิดล้วนเป็นทุกขลักษณะในไตรลักษณ์)

ทุกขลักษณะ หรือทุกข์ในไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) หมายถึง ลักษณะที่มีความไม่เที่ยง มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดานั่นเอง

ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ก็ล้วนมีลักษณะเช่นนี้ด้วย คือ เวทนาทุกชนิดล้วนเป็นทุกข์ (ทุกขลักษณะ)

คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ"

ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ 3 อย่าง หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่

1.อนิจจตา หรือ อนิจจัง (อนิจจลักษณะ) อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์

2.ทุกขตา หรือ ทุกขัง (ทุกขลักษณะ) อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์

3.อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง

ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น