วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชื่อพายุ khaosod

ชื่อพายุ

คอลัมน์ คอลัมน์ที่13


พายุ หมุนเขตร้อน "นกเตน" ที่พัดถล่มตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ และหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พายุ นี้ ตั้งชื่อโดยประเทศลาว หมายถึง "นกกระเต็น" เป็นพายุที่เคยขึ้นฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 55 ราย

คำว่า "พายุหมุนเขตร้อน" เป็นคำทั่วๆ ไปที่ใช้เรียก "พายุหมุน" หรือ "พายุไซโคลน" ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตร

นับตั้งแต่ พ.ศ.2493 นักพยากรณ์อากาศของสหรัฐอเมริกา จะตั้งชื่อพายุตามลำดับตัวอักษร และเริ่มตั้งเป็นชื่อผู้หญิงในปี พ.ศ.2496 แต่ภายหลังมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มสิทธิสตรี จึงหันมาใช้ชื่อผู้ชายด้วยเมื่อปี พ.ศ.2522

กระทั่ง พ.ศ.2543 ประเทศสมาชิกคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนใหม่ โดยส่งชื่อพายุในภาษาของตัวเองมาประเทศละ 10 ชื่อ มีทั้งชื่อสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งคำที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก และอาหาร

ทั้ง นี้มีกฎอยู่ว่า เมื่อพายุมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมากกว่า 63 ก.ม.ต่อช.ม. พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ แต่หากพายุลูกใดมีความรุนแรงเป็นพิเศษ ก็ให้ปลดชื่อพายุลูกนั้นออกไป แล้วตั้งชื่อใหม่แทน

สำหรับชื่อที่ประเทศสมาชิกคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นตั้งไว้มีทั้งหมด 140 ชื่อ แบ่งเป็น 5 ชุด ชุดละ 28 ชื่อ ไล่เรียงตามลำดับประเทศ

สำหรับชื่อ "พายุนกเตน" จัดอยู่ในชุดที่ 5 ซึ่งในชุดเดียว กันนี้ ประกอบด้วยชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ

"สาลิกา" ตั้งโดยกัมพูชา หมายถึง นกชนิดหนึ่ง ชอบร้องเพลง "ไหหม่า" ตั้งโดยจีน หมายถึง ม้าน้ำ "มิอะริ" ตั้งโดยเกาหลีเหนือ หมายถึง เสียงสะท้อน "หมาง้อน" ตั้งโดยฮ่องกง เป็นชื่อยอดเขา แปลว่า อานม้า "โทะคาเงะ" ตั้งโดยญี่ปุ่น หมายถึง สัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งจก ตุ๊กแก "นกเตน" ตั้งโดยลาว หมายถึง นกกระเต็น

"หมุ่ยฟ้า" ตั้งโดยมาเก๊า หมายถึง ดอกบ๊วย "เมอร์บุก" ตั้งโดยมาเลเซีย หมายถึง นกชนิดหนึ่ง "นันมา ดอล" ตั้งโดยไมโครนีเซีย หมายถึง โบราณสถานชื่อดังบนเกาะโปนเป "ตาลัส" ตั้งโดยฟิลิปปินส์ หมายถึง ความแหลม ความคม "โนรู" ตั้งโดยเกาหลีใต้ หมายถึง กวาง "กุหลาบ" ตั้งโดยไทย หมายถึง ดอกกุหลาบ

"โรคี" ตั้งโดยสหรัฐอเมริกา หมายถึง ชื่อผู้ชายในภาษาชามอร์โร "เซินกา" ตั้งโดยเวียดนาม หมายถึง นกชนิดหนึ่ง ชอบร้องเพลง เป็นต้น

ข้อ ตกลงคือ พายุลูกถัดไปจะมีชื่อตามลำดับที่ตั้งไว้ เช่น พายุลูกปัจจุบันคือ นกเตน ลูกต่อไปก็จะชื่อ หมุ่ยฟ้า เมอร์บุก นันมาดอล ฯลฯ ไปตามลำดับ หากชื่อในชุดที่ 1 หมดก็ให้เริ่มที่ชื่อแรกในชุดที่ 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนหมดชื่อสุดท้ายในชุดที่ 5 จึงนำชื่อพายุในชุดที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 หมุนกลับมาใช้ซ้ำอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น